คุมแผ่นดินไหว กทม.ปริมณฑล
"ไหว 5.1 ริกเตอร์ชาวเชียงใหม่แตกตื่น"
จากเหตุปรากฏการณ์ธรรมชาติ แผ่นดินไหว เมื่อเวลา 00.02 น. วันที่ 13 ธ.ค. มีศูนย์กลางอยู่ใน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บริเวณละติจูด 18.9 องศาเหนือ ลองจิจูด 98.9 องศาตะวันออก วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.1 ริกเตอร์ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ อ.แม่ริม อ.สันทราย อ.หางดง อ.สารภี และ อ.เมืองเชียงใหม่ รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ และหลังจากนั้นได้เกิดอาฟเตอร์ช็อก ตามมาอีกหลายครั้ง
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนในหลายอำเภอของ จ.เชียงใหม่ รู้สึกได้ถึงแรงสั่น สะเทือน อาคารบ้านเรือนที่สร้างด้วยไม้มีเสียงดัง และสั่นไหวคล้ายจะพังลงมา ชาวบ้านต่างแตกตื่นตกใจวิ่งหนีลงจากบ้าน ขณะเดียวกัน อาคารที่เป็นตึก โดยเฉพาะโรงแรมในตัวเมือง มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่มาเที่ยวชมงานพืชสวนโลกพักอยู่จำนวนมาก รู้สึกได้ว่าตึกโรงแรมสั่น พากันหนีออกจากห้องพักโรงแรมลงมารวมตัวกันอยู่ด้านล่าง หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งแรก ยังมีอาการสั่นสะเทือนตามมาอีกหลายครั้ง แต่ความรุนแรงน้อยกว่าครั้งแรก เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงกลับเข้าห้องพักตามเดิม
"หอพัก นศ.ร้าว"
ขณะเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวใน อ.แม่ริม ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 15 กิโลเมตร อาคารหอพักนักศึกษาชาย อาคาร 2 และอาคาร 4 บริเวณชั้น 5 มีรอยร้าวหลายแห่ง และเพดานหลุดลงมา นักศึกษาที่อยู่ในหอพักตกใจพากันวิ่งหนีออกจากอาคารเป็นที่อลหม่าน แต่ไม่มี ผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ต่อมาในตอนเช้าหลังเกิดเหตุ นายจำเนียร ยศราช รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ได้ให้สถาปนิกตรวจดูรอยร้าวในอาคารที่มีอยู่หลายแห่งแล้ว พบว่าไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้าง หลังจากซ่อมแซมก็สามารถใช้งานต่อได้โดยไม่ต้องรื้อถอน อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ค่อนข้างมาก ขณะนั่งประชุมอยู่ในห้องประชุมของมหาวิทยาลัย เมื่อตอนเช้าวันที่ 13 ธ.ค. ยังมีแรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้แต่ไม่รุนแรง
นายวิชัย ศรีขวัญ ผวจ.เชียงใหม่ เผยว่า ขณะเกิดเหตุอยู่ในจวนเชิงสะพานนวรัฐ กำลังเตรียมตัวเข้านอน รู้สึกว่า จวนซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น เกิดสั่นไหวอย่างรุนแรง จาก นั้นมีแรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้อีก 4 ครั้งต่อเนื่องกัน จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจความเสียหาย ในเบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานความเสียหาย ส่วนนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจอาคารสูงในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ กว่า 50 แห่ง ยังไม่พบความเสียหาย ส่วนโบราณสถานต่างๆอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
"อาฟเตอร์ช็อก 13 ครั้ง"
ขณะที่นายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ จ.เชียงใหม่ มีความรุนแรงระดับ 5.1 ริกเตอร์ โดยจุดดังกล่าวอยู่ระหว่าง อ.แม่ริมกับ อ.สันทราย ส่งผลให้อาคารหอพักมหาวิทยาลัยแม่โจ้เกิดรอยร้าว และรู้สึกถึงการสั่นสะเทือนทั่วเมืองเชียงใหม่ ต่อมาได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกอีก 13 ครั้ง ขนาดความรุนแรงไม่เกิน 3 ริกเตอร์ ทำให้ประชาชนตกใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเคยเกิดแผ่นดินไหวเล็กน้อยบริเวณ อ.ดอยสะเก็ด กับ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ แต่เทียบกันแล้ว ครั้งนี้รุนแรงกว่ามาก
ด้านนายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับนายทศพร นุชอนงค์ ผอ.กองธรณีสิ่งแวดล้อม แถลงว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเป็นแผ่นดินไหวขนาดกลาง ระดับความรุนแรง 5.1 ริกเตอร์ และยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่องถึง 13 ครั้ง มีระดับความรุนแรง 2-3 ริกเตอร์ ส่งผลกระทบถึงผู้ที่อยู่ในอาคารสูงของ อ.แม่จัน จ.เชียงราย อ.แม่ริม อ.สันทราย อ.เชียงดาว อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ และอีกหลายอำเภอใน จ.ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ยังไม่มีรายงานความเสียหายและผู้เสียชีวิต ส่วนอาคารหอพักมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นรอยร้าว เดิมเมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนจึงกะเทาะลงมา สิ่งที่น่าแปลกใจและน่าจับตามองคือ การเกิดอาฟเตอร์ช็อกเกิน 10 ครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติเพราะเกิดขึ้นถี่มาก เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เกิดการขยับตัวของรอยเลื่อนแม่ทาใน จ.เชียงใหม่ เป็นรอยเลื่อนเดิมที่ยังมีพลังอยู่ ในอดีตเคยขยับตัวมาหลายครั้ง มีความแรงระดับตั้งแต่ 2-4 ริกเตอร์ และเคยรุนแรงสุดถึง 5.2 ริกเตอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2538 มีศูนย์กลางอยู่ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ การเกิดแผ่นดินไหวระดับ 5.1 ริกเตอร์ เมื่อคืนวันที่ 13 ธ.ค. น่าจะเกิดจากการสะสมพลังงานของเปลือกโลกมานาน และมีการปลดปล่อยออกมา
"ภาคเหนือเสี่ยงแผ่นดินไหว"
แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา จนกระทั่งครั้งล่าสุดนี้ ผมไม่ขอสรุปว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเล บริเวณหมู่เกาะ นิโคบาร์และทำให้เกิดสึนามิ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2547 เพราะถ้าวัดจากจุดศูนย์กลางมาถึงภาคเหนือ อยู่ห่างถึง 2,000-3,000 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม พื้นที่ภาคเหนือมีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว เนื่องจากมีกลุ่มรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่ถึง 7 ใน 13 กลุ่มรอยเลื่อนทั่วประเทศ แต่ภัยจากแผ่นดินไหวยังไม่น่ากลัวเท่ากับความตกใจของประชาชน เพราะคนส่วนใหญ่เสียชีวิตจากความแตกตื่นตกใจ นายอภิชัยกล่าว
เมื่อถามว่า สถิติแผ่นดินไหวที่ผ่านมาสามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง นายอภิชัยกล่าวว่า ได้ วิเคราะห์ข้อมูลในเชิงความรุนแรงการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน ส่งให้กรมโยธาธิการและกรมชลประทานที่ต้องใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนการก่อสร้างอาคาร และสร้างเขื่อนที่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ มีการออกประกาศกฎกระทรวงบังคับให้พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน แพร่ และกาญจนบุรี ต้องก่อสร้างอาคารที่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ นอกจากนี้ ล่าสุดทางกรมโยธาธิการยังขอเพิ่มอีก 5 จังหวัดในภาคกลางคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล 4 จังหวัด ที่ต้องมีการออกแบบก่อสร้างรองรับแผ่นดินไหวด้วย เนื่องจากอยู่ในชั้นดินอ่อนที่มีความเสี่ยงสูง ขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา
"รัศมีการทำลายกว่า 10 กม."
นายเป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ได้ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นแผ่นดินไหวขนาดกลางที่เกิดใกล้กับเขตเมือง และระดับความรุนแรงดังกล่าวจะเป็นอันตรายกับอาคารบ้านเรือน มีรัศมีการทำลายประมาณ 10 กม. ทั้งนี้ ต้องดูว่าตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวจริงอยู่ระดับไหน ถ้าตื้นมากวัดจากผิวดินลงไป 5-6 กม. ถือว่าอันตราย แต่ถ้าลึกระดับ 30-40 กม. ก็ไม่น่าห่วงมากนัก สำหรับภาคเหนือมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว ขนาดกลางระดับ 4-5 ริกเตอร์ โดยไม่จำเป็นต้องเกิดตรงรอยเลื่อน เนื่องจากใต้พื้นดินมีรอยแยกที่มีจุดอ่อนทางธรณีวิทยากระจายเต็มไปหมด และจะเกิดสะเปะสะปะ แต่ถ้าเป็นระดับ 6-7 ริกเตอร์ จะเกิดตรงรอยเลื่อน เคยมีการขุดค้นทางธรณีวิทยา พบว่าบางตำแหน่งเกิดแผ่นดินไหวระดับ 6 ปลายๆเกือบ 7 ริกเตอร์ ซึ่งแผ่นดินไหวขนาดนี้ถือว่าอันตรายมาก
ส่วนปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นบริเวณไหล่ ทวีปในทะเลอันดามัน ที่นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยการเปลี่ยนแปลงและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาระบุในครั้งแรกว่าสำรวจพบโคลนภูเขาไฟในทะเล 4 ลูก ห่างจากฝั่งภูเก็ตเพียง 200 เมตร มีฐานกว้าง 1 กม. สูง 100 เมตร ก่อนที่จะแถลงอีกครั้งว่า น่าจะเป็นภูเขาโคลนใต้ทะเลเกิดจากการสะสมของตะกอนที่ไหลมาจากแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำอิระวดีของพม่า ไม่ใช่โคลนจากภูเขาไฟ ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของนายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ที่เห็นว่าน่าจะเป็นเนินตะกอนธรรมดา
"ลักษณะเดียวกับบ่อน้ำร้อน"
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นายอภิชัยและนายอานนท์ ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าว โดยนายอภิชัยกล่าวว่า จากการสำรวจไหล่ทวีปในทะเลอันดามัน ในระดับความลึก 300-1,400 เมตร พบเนินเขาใต้ทะเล 4 ลูก อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน มีความสูง 25-701 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 120-700 เมตร พบการสะสมของตะกอนโคลนบริเวณร่องระหว่างภูเขาและที่ราบใกล้เขา มีความหนาประมาณ 12 เมตร จากการตัดขวางร่องลึกและที่ราบเชิงเขา ไม่พบหลักฐานการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกหรือการปะทุของเปลือกโลก ตะกอนที่พบเป็นตะกอนทรายปนโคลนสีเขียว มีซากของเปลือกสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งแตกต่างจะตะกอนของภูเขาโคลน หรือ Mud Volcano จึงสันนิษฐานว่าเป็นเนินเขาเหนือเนินดินใต้ทะเล แต่จำเป็นต้องสำรวจเพื่อเก็บตัวอย่างตะกอนและวัดอุณหภูมิน้ำเพื่อพิสูจน์เพิ่มเติมต่อไป
ด้านอานนท์กล่าวว่า เนื่องจากเกิดความสับสนในเรื่องของการแปลความหมายของคำว่า Mud Volcano ในสื่อหลายฉบับ จนทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นภูเขาไฟใต้น้ำหรือภูเขาโคลนใต้ทะเล จากการสืบค้นคำแปลจากราชบัณฑิตยสถาน Mud Volcano แปลเป็น ภาษาไทยว่าเนินพุโคลน เป็นโคลนรูปกรวยที่เกิดจากการสะสมของโคลนและหินโดยการนำพาของแก๊สภูเขาไฟหรือแก๊สปิโตรเลียมที่ผุดขึ้นจากภายใต้โลก และคำนี้ยังหมายถึงกรวยโคลนที่ไม่มีกำเนิดจากภูเขาไฟด้วย ขณะเดียวกัน ศัพท์คำนี้ถือเป็นศัพท์ทางวิชาการสากลที่ไม่ได้ หมายความถึงภูเขาไฟ แต่เป็นลักษณะทางธรณีวิทยา ทำนองเดียวกับบ่อน้ำร้อน หรือน้ำพุร้อนที่มีน้ำซึมลงไป ตามรอยแยกของหินหรือความพรุนของตะกอน เมื่อกระทบกับความร้อนที่อยู่ระดับเปลือกโลกก็จะเดือดและพุกลับมาที่ผิวพื้น ดังนั้น Mud Volcano ก็ไม่ใช่โคลนภูเขาไฟ ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Volcanic Mud เป็นโคลนเหลวที่เกิดขณะมีการปะทุของภูเขาไฟ การค้นพบครั้งนี้จึงใช้คำว่าเนินโคลนผุดไปก่อน โดยทีมนักวิชาการวางแผนจะลงไปสำรวจบริเวณดังกล่าวอีกครั้งในช่วงเดือน เม.ย. 2550 หรืออาจปรับเวลาให้เร็วขึ้นเป็นเดือน ม.ค.หรือ ก.พ. 2550 เนื่องจากยังมีข้อมูลที่สับสนและต้องการเก็บรายละเอียดมาวิเคราะห์อีกครั้ง