ม.นอกระบบ ขายปริญญา!

"คัดค้านการแปรรูปการศึกษา"


ความคืบหน้ากรณีนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐทั่วประเทศ ออกมาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพราะวิตกกันว่าจะเกิดผลเสียมากว่าผลดี และนัดหมายมาชุมนุมแสดงพลังกันที่หน้ารัฐสภานั้น

ที่หน้ารัฐสภา เมื่อบ่ายวานนี้ (13 ธ.ค.) ตัวแทนนิสิตนักศึกษากว่า 200 คน จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย รามคำแหง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาชุมนุมและยื่นหนังสือคัดค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดยนายภัทรดนัย จงเกื้อ รองเลขาธิการองค์การนิสิตนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้อ่านแถลงการณ์คัดค้าน

และกล่าวว่า เครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษา จะล่ารายชื่อนิสิต นักศึกษา อาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไป เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปการศึกษา และในวันที่ 15 ธ.ค. เครือข่ายฯจะยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้มาปกป้องและรับรองสิทธิในการชุมนุมของเครือข่าย และหลังจากที่ทุกมหาวิทยาลัยสอบภาคกลางเสร็จ ประมาณ 20 ธ.ค. จะนัดชุมนุมใหญ่ เพื่อคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

"นศ.แฉ ถูกข่มขู่ให้เลิกชุมนุม"


ขณะที่นายเก่งกิจ กิติเรียงลาภ นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า ได้รับการข่มขู่จากผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยว่า หากยังมีการชุมนุมเรียกร้องในจุฬาฯ จะถูกตัดไฟและไม่ให้ใช้สถานที่ในการชุมนุม แม้จะมีการยื่นเรื่องขอใช้สถานที่อย่างถูกต้องแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ในการเดินทางมาชุมนุมยังถูกสกัดกั้นจากผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัย เรื่องการใช้รถเดินทางด้วย

เย็นวันเดียวกัน ที่ห้องประชุมมาลัยหุวะนันท์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เครือข่ายจุฬาฯเชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย จัดเสวนาเรื่อง สังคมไทยได้อะไรถ้ามหาวิทยาลัยพากันออกนอกระบบ (กันหมด) โดยนายเกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ที่เสนอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นฉบับเดียวกับที่เคยเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯฉบับนี้ จะต้องมีการแปรญัตติโดยกำหนดให้ชัดเจนว่า ในกรณีที่ข้าราชการได้รับการปรับขึ้นเงินเดือน พนักงานมหาวิทยาลัยก็ต้องขึ้นเงินเดือนด้วย ทั้งในบทเฉพาะกาลก็จะแปรญัตติเพิ่มด้วยว่าพนักงานมหาวิทยาลัยต้องได้รับบำเหน็จบำนาญไม่ต่างจากการเป็นข้าราชการ ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯไม่ได้บังคับให้ข้าราชการทุกคนต้องเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ยืนยันว่า การออกนอกระบบไม่ได้เป็นการ นำมหาวิทยาลัยไปประกอบธุรกิจ

"เกรง อนาคตเป็นแค่การขายปริญญา"


ด้านนายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตัวอย่างมหาวิทยาลัยนอกระบบในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย จะยกเลิกหลักสูตรปรัชญาทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีผู้เรียนน้อย ไม่คุ้มทุน แล้วหันไปเปิดสอนวิชาตีกอล์ฟให้กับผู้บริหารซีอีโอ เพื่อหารายได้ คาดว่าในอนาคตจุฬาฯคงเปิดสอนวิชาไร้สาระเพื่อหารายได้เข้ามา จนที่สุดก็คือการขายปริญญา ขอท้าผู้บริหารจุฬาฯ ให้จัดประชามติเกี่ยวกับการนำจุฬาฯออกนอกระบบอีกครั้งจะกล้าหรือไม่

น.ส.จิรณี ตันติรัตนวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กกอ เผยถึงตัวเลขเปรียบเทียบจำนวนสถานภาพและสัดส่วนบุคลากรสายวิชาการ และสายสนับสนุนที่เป็นข้าราชการและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา 20 แห่ง ว่า ขณะนี้มีบุคลากรมหาวิทยาลัยรวมทั้งสิ้น 58,086 คน แยกเป็นข้าราชการจำนวน 40,994 คน พนักงานจำนวน 17,092 คน ส่วนสัดส่วนข้าราชการต่อพนักงาน 2.4:1 จากตัวเลขที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่าจำนวนของพนักงานมหาวิทยาลัยนับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่จำนวนข้าราชการลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่จำกัดอัตรากำลังคนที่ข้าราชการเกษียณ ก็ให้ยุบอัตราทั้งหมด

ทำให้ไม่มีการบรรจุข้าราชการใหม่ เมื่อพนักงานเพิ่มขึ้น แต่มหาวิทยาลัยต่างๆยังไม่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือออกนอกระบบราชการก็จะมีผลกระทบต่อพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายใด ที่จะมารองรับสถานภาพของพนักงานเหล่านี้ ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยไม่มั่นคงในสถานภาพของตนเอง ดังนั้น มหาวิทยาลัยต่างๆน่าจะคิดตรงนี้ให้ดี และหันมาช่วยกันเตรียมความพร้อมว่า จะออกนอกระบบอย่างไรที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อตัวเองให้น้อยที่สุด และจะเตรียมตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงให้ดีที่สุด น่าจะดีกว่าที่จะมาคัดค้านการออกนอกระบบ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์