คลอดกม.ล้างขอทาน-ฟันแก๊งมาเฟีย

จำคุก15ปีปรับ2แสนส่งบำบัดคนพิการวิกลจริต


ครม.เห็นชอบออกกฎหมายเล่นงานแก๊งขอทาน กำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึง15 ปี ปรับกว่า 2 แสนบาท เผยรายละเอียดมุ่งเอาผิดกับมาเฟียที่ใช้เพื่อนมนุษย์หากิน และห้ามไม่ให้ขอทาน ถ้าพบเห็นให้เจ้าหน้าที่นำตัวส่งสถานสงเคราะห์โดยเร็ว แต่ไม่รวมถึงวณิพกที่เล่นดนตรีดีดสีแลกเงินที่คนให้โดยสมัครใจ นอกจากนี้ยังเอาผิดกับมาเฟียที่ใช้คนแก่ เด็ก คนพิการ หรือนำต่างด้าวมาขอทานด้วย

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 12 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.คนขอทาน ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอตามแผนพัฒนากฎหมายแห่งชาติประจำปี 2549 โดยทางกระทรวงเสนอว่า เนื่องจากพ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2484 เป็นกฎหมายที่ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เพราะขณะนี้การขอทานมีลักษณะของการหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย และบุคคลบางกลุ่มที่อาศัยความอ่อนด้อยด้านร่างกายและสติปัญหา ความสามารถ หรือสภาพจิตใจของบุคคลเหล่านี้ให้ขอทานหรือประโยชน์ในการขอทาน อันเป็นการแสดงหาผลประโยชน์ที่ไม่ชอบ รวมทั้งเป็นการจัดระเบียบของสังคม จึงเห็นสมควรปรับปรุงพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เพื่อเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ด้อยโอกาส สงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพึ่งตัวเองได้ รวมทั้งกำหนดคำนิยามศัพท์และแนวทางการปฏิบัติงาน ให้สามารถนำบทบัญญัติตามกฎหมายมาบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"วางแผนดำเนินการสงเคราะห์ขอทาน"


ร.อ.น.พ.ยงยุทธ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.คนขอทาน ในมาตรา 5 กำหนดความหมายของคนขอทานว่า "ไม่รวมถึงวณิพก ซึ่งขอทานหมายถึงการขอทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นการขอด้วยวาจา ข้อความ หรือการแสดงกิริยาอาการใดๆ หรือการใช้ภาชนะ วัตถุ ที่แสดงให้เข้าใจว่าประสงค์จะให้ผู้อื่นใส่ทรัพย์สินลงในภาชนะหรือวัตถุนั้น ทั้งนี้ โดยมิได้เป็นการตอบแทนด้วยการทำงานหรือด้วยทรัพย์สินใด และมิใช่การขอผ่านญาติมิตร ฉะนั้นการแสดงความสามารถในการแสดงหรือการละเล่นต่างๆ ถึงแม้มิได้เป็นข้อตกลงโดยตรง หรือโดยปริยายที่จะเรียกเก็บค่าชมการแสดง ไม่ถือว่าการแสดงหรือการละเล่นนั้นเป็นการขอทานตามบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.นี้" นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะมีคณะกรรมการสงเคราะห์คนขอทาน ประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะกำหนดนโยบายวางระเบียบหลักการในการดำเนินการสงเคราะห์คนขอทาน โดยมีอธิบดีกรมการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธานคณะกรรมการ ส่วนในมาตรา 10 จะมีคณะกรรมการประจำสถานสงเคราะห์ อย่างน้อย 1 คน จะต้องเป็นนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยาด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในมาตรา 12 ผู้ใดขอทานให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำบุคคลผู้นั้นส่งสถานสงเคราะห์ได้โดยไม่ชักช้า และถ้าผู้ถูกส่งตัวมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะ ด้วยการสมรสในขณะนี้ ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กต่อไป ในกรณีคนขอทานเป็นคนต่างด้าวให้นำตัวส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ในมาตรา 13 ให้สถานสงเคราะห์ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติสติปัญญา การศึกษา สุขภาพ สภาวะทางจิต ที่อยู่อาศัย ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน หากคนขอทานป่วยเป็นโรคติดต่ออันตราย ก็ให้ส่งไปรักษาพยาบาล ถ้าคนขอทานวิกลจริต สติฟั่นเฟือน ก็ให้เจ้าหน้าที่ส่งไปยังสถานพยาบาลของกรมสุขภาพจิต เมื่อทุเลาหรือหายจากโรคก็ให้ช่วยเหลือตามกรณี สำหรับคนขอทานที่เป็นคนชรา คนพิการ ทุพพลภาพ หรือป่วยด้วยโรคอื่น ที่ไม่ใช่โรคอันตราย ให้ช่วยเหลือตามควรแก่กรณีด้วย

"ครม.เห็นชอบ พรบ.คนขอทาน"


ร.อ.น.พ.ยงยุทธ กล่าวว่าในเรื่องดังกล่าวมีความคิดเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดโทษที่กำหนดเอาไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า ผู้ใช้ บังคับขู่เข็น จ้างวาน ขนส่ง หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีการอื่นใด ให้ผู้อื่นขอทานหรือใช้ผู้อื่นเพื่อประโยชน์ในการขอทานของตนเอง ต้องระวางโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท และหากเป็นการกระทำต่อบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี หรือผู้สูงอายุ ผู้เจ็บป่วย ผู้พิการ ทุพพลภาพ หญิงมีครรภ์ หรือกระทำตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือกระทำโดยนำผู้อื่นโดยนอกราชอาณาจักร ให้มาขอทานในราชอาณาจักร กระทำโดยเป็นผู้ปกครอง ดูแล คนขอทาน หรือกระทำโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.นี้ หรือกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแล หรือให้คำปรึกษาหรือกระทำโดยใช้กำลังบังคับต่อคนขอทาน กระทำต่อบุคคลในครอบครัวของคนขอทาน กระทำโดยเป็นนายหน้า หรือแสวงหาประโยชน์จากคนขอทาน ต้องระวางโทษคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือถ้าทำร้ายโดยเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเพื่อประโยชน์ในการขอทาน ต้องระวางโทษหนักขึ้น จำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปและปรับไม่เกิน 1.6 แสนบาท

วันเดียวกัน นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.คนขอทาน พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงเสนอให้ยกเลิกพ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2484 และให้เพิ่มการกำหนดโทษผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการขอทาน จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดโทษไว้ ในมาตรา 22 โดยระบุว่า ผู้ใดใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน ขนส่ง ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีการอื่น ให้ผู้อื่นขอทานหรือใช้ผู้อื่นเพื่อประโยชน์ในการขอทาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท และในวรรค 2 กำหนดว่าการกระทำดังกล่าว หากกระทำต่อบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ นำเข้าขอทานจากต่างประเทศ ผู้ปกครองสั่งให้บุตรหลานไปขอทาน หรือ ทำตัวเป็นนายหน้าหรือแสวงหาประโยชน์จากการขอทานของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท

"กม.จัดการแก๊งขอทาน"


นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า มาตรา 23 กำหนดไว้ว่าผู้ใดทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส เช่น การตัดแขน ขา ให้พิการเพื่อประโยชน์ในการขอทาน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และปรับไม่เกิน 160,000 บาท แต่หากการกระทำดังกล่าวกระทำต่อบุคคลตามมาตรา 22 วรรค 2 ต้องระวางโทษเพิ่มขึ้นกึ่งหนึ่ง หรือระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และปรับไม่เกิน 2.4 แสนบาท ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดด้วยว่าผู้ที่ช่วยเหลือให้ขอทานซึ่งอยู่ระหว่างถูกส่งตัวเข้าสถานสงเคราะห์ หรือเป็นผู้รับการสงเคราะห์หลบหนีออกจากสถานสงเคราะห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้ากระทำโดยใช้กำลังหรือใช้อาวุธ ต้องระวางโทษเพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"ครม.เห็นชอบในหลักการร่างพ.ร.บ.คนขอทาน พ.ศ. ... เพราะกฎหมายใหม่จะจัดการกับแก๊งขอทานซึ่งถือเป็นอาชญากรรมรุนแรง แต่เห็นว่าโทษที่กำหนดไว้ยังน้อยเกินไป จึงให้ไปพิจารณากำหนดโทษเพิ่มขึ้นอีกในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีตัวแทนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย ตามกฎหมายจะแต่งตั้งคณะกรรมการสงเคราะห์คนขอทาน ที่มีอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นประธาน และคณะกรรมการประจำสถานสงเคราะห์ ที่มีผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เป็นประธาน คอยว่ากล่าวตักเตือนผู้ที่ขอทานด้วยความจำเป็นในการดำรงชีพเป็นครั้งแรกก่อนปล่อยตัวไป" นายไพบูลย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปัจจุบันคนขอทานทั่วประเทศมีไม่ต่ำกว่า 10,000 คน และคนขอทานต่างด้าวประมาณ 1,000 คน โดยขอทานคนไทยในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ปี 2549 มีจำนวน 1,804 คน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์