รูดปื้ดผีโผล่เวบขายใบละ2หมื่นนักก.ม.ชี้ถูกแฮ็กบัตรไม่ต้องจ่าย

"ขายบัตรเครดิตปลอมเกลื่อนเน็ต"


แฉแฮ็กเกอร์เปิดเวบไซต์ขายบัตรเครดิตปลอมเกลื่อนกว่า 100 เวบ ทั้งวีซ่า-มาสเตอร์ 70 แบบ ถูกๆ แค่ 2 หมื่นบาท นักกฎหมายแนะไม่ต้องจ่ายหากเจ้าของตกเป็นเหยื่อ ตร.รับ ก.ม.ไทยมีช่องโหว่ พกบัตรปลอมไม่ผิด

แม้จะมีการจับกุมแก๊งปลอมบัตรเครดิตผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง แต่เครือข่ายปลอมแปลงบัตรเครดิตยังขยายตัวสร้างความเสียหายแก่เจ้าของบัตรเครดิตทั่วโลก ล่าสุดพบแก๊งแบล็คแฮ็กเกอร์กลุ่มหนึ่งนำบัตรเครดิตปลอมกว่า 70 แบบ และพาสปอร์ตปลอม 40 ประเทศทั่วโลก มาประกาศขายผ่านเวบไซต์ นอกจากนี้ยังโฆษณาขายเครื่องรูดขโมยรหัสบัตรเครดิตประเภทต่างๆ ด้วย

"มีให้เลือกซื้อ ถึง 70 แบบ"


นายปริญญา หอมเอนก ผอ.สถาบันพัฒนาผู้เชี่ยวชาญระบบเครือข่ายและความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ (ACIS) เปิดเผยกับ "คม ชัด ลึก" ว่า ขณะนี้มีแก๊งแบล็คแฮ็กเกอร์จำนวนหนึ่งเปิดเวบไซต์ขายบัตรเครดิตปลอมของธนาคารทั่วโลก พร้อมขายรหัสที่สามารถนำไปรูดซื้อสินค้าและบริการจากทั่วโลกได้ ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง เช่น www.bxxxxxxx.com ขายบัตรเครดิตปลอมหลากหลายชนิด สร้างความเดือดร้อนแก่ธุรกิจบัตรเครดิตอย่างมาก โดยเฉพาะลูกค้าที่ไม่ระมัดระวังในการรูดบัตร หรือไม่ตรวจสอบรายละเอียดการใช้บัตรอย่างรอบคอบ ก็จะตกเป็นเหยื่อของเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติกลุ่มนี้

จากการตรวจสอบเวบไซต์ดังกล่าว พบว่ามีสินค้าผิดกฎหมายขายหลายชนิดด้วยกัน เช่น บัตรเครดิตปลอม บัตรเดบิตปลอม เครื่องรูดขโมยรหัสบัตรเครดิต พาสปอร์ตปลอม ตั๋วแลกเงินเดินทางปลอม และใบอนุญาตดำน้ำปลอม โดยเฉพาะบัตรเครดิตปลอมมีหลากหลายชนิดให้เลือกซื้อถึง 70 แบบด้วยกัน เช่น บัตรวีซ่าธรรมดา บัตรมาสเตอร์ธรรมดา บัตรวีซ่าทอง บัตรวีซ่าแพลทินัม บัตรวีซ่าธุรกิจ ฯลฯ โดยตั้งราคาขายตั้งแต่ใบละ 2 หมื่นบาทขึ้นไป หากเป็นบัตรเครดิตพิเศษแบบไม่จำกัดวงเงินจะขายถึงใบละแสนบาท

"ปลอมได้เหมือนมากๆ"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวบไซต์ยังมีภาพตัวอย่างบัตรเครดิตปลอม ซึ่งปลอมแปลงได้เหมือนของจริงมาก ใช้เทคนิคการลอกเลียนแบบและลายบัตรเครดิตแต่ละธนาคารอย่างละเอียด ส่วนเครื่องรูดขโมยรหัสบัตรเครดิตจะใช้วิธีดูดเอาสัญญาณทางโทรศัพท์ระหว่างที่ลูกค้าใช้บัตร ส่วนใหญ่จะแอบขโมยรหัสจากลูกค้าในยุโรปและอเมริกาที่มีวงเงินสูง

ทั้งนี้ การขโมยรหัสบัตรเครดิตจะนิยมใช้ 2 วิธี คือ 1.ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า "สกริมเมอร์" หรือเครื่องบันทึกข้อมูลแถบแม่เหล็กจากบัตรเครดิต ลักษณะการทำงานคล้ายเครื่องรูดการ์ดผ่านเข้าออกประตู หากลูกค้าใช้บัตรเครดิตสั่งซื้อสินค้าหรือบริการในสถานที่ซึ่งมีสมาชิกเครือข่ายแก๊งรูดบัตรแอบแฝงอยู่ บัตรเครดิตของลูกค้าจะถูกนำไปรูดในเครื่องสกริมเมอร์ เพื่อบันทึกข้อมูลไว้ก่อนนำไปดัดแปลงใส่ในบัตรเครดิตปลอมที่จัดทำเตรียมไว้ และวิธีที่ 2 คือ ใช้แฮ็กเกอร์แอบไปขโมยข้อมูลบัตรเครดิตที่ใช้ซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต หรือทำเวบไซต์ปลอมหลอกขายสินค้า แล้วให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิตผ่านเวบไซต์

"รับสั่งทำพาสปอร์ตปลอม"


ส่วนพาสปอร์ตปลอมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นของกลุ่มประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ อิตาลี ฮังการี เดนมาร์ก ฯลฯ โดยขายราคาเล่มละ 3-5 หมื่นบาท พร้อมทั้งประกาศรับทำพาสปอร์ตปลอมจาก 40 ประเทศทั่วโลก เพียงส่งอีเมล ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ส่วนสูง สีตา สีผม วันเดือนปีเกิด ก็สามารถสั่งทำพาสปอร์ตปลอมได้แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการทำใบขับขี่นานาชาติปลอมด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าจะขายเฉพาะรายย่อย ห้ามสั่งซื้อเป็นโหลหรือหลายสิบเล่มพร้อมกัน และผู้สั่งซื้อทั้งบัตรเครดิตปลอมและพาสปอร์ตปลอมต้องโอนเงินค่าสั่งซื้อทั้งหมดไปให้ก่อน จะไม่มีการคืนเงินหากเกิดปัญหาอะไรก็ตาม

"เกิดความเสียหายอย่างมาก"


ผศ.ดร.พินัย ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันการลักลอบใช้บัตรเครดิตผิดกฎหมาย สร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่หากมูลค่าความเสียหายเป็นเงินจำนวนไม่มาก ผู้ใช้บัตรเครดิตจะยอมจ่าย แม้จะไม่ได้เป็นผู้ใช้ก็ตาม เนื่องจากเกรงว่าธนาคารจะนำรายชื่อไปใส่ในแบล็คลิสต์ (บัญชีดำ) ทำให้เสียเครดิตในการทำธุรกิจกับสถาบันการเงินทั่วประเทศ

"ที่จริงแล้วหากเงินที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บัตรเครดิต โดยเจ้าของบัตรไม่ได้ใช้ซื้อสินค้าและบริการจริง สามารถแจ้งให้ธนาคารตรวจสอบข้อเท็จจริงและไม่จ่ายเงินส่วนนี้ได้ เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ที่ครอบคลุมถึงธุรกิจบัตรเครดิตด้วย โดยกำหนดให้ธนาคารหรือผู้ให้บริการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในส่วนที่บัตรเครดิตถูกนำไปใช้ผิดกฎหมาย หรือจากแก๊งรูดบัตรเครดิตนั่นเอง" ผศ.ดร.พินัย กล่าว

"แฮกฯทำเอกสารปลอมเพียบ"


ด้าน พ.ต.ท.ดำรงศักดิ์ สว่างงาม รอง ผกก.3 ป.กล่าวถึงแก๊งปลอมพาสปอร์ตข้ามชาติว่า เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วกองปราบปรามได้จับกุมแก๊งผลิตพาสปอร์ตและเอกสารปลอมรายใหญ่ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทลายโรงพิมพ์และยึดเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ได้ เชื่อว่าเป็นแก๊งเดียวกับที่จับได้เมื่อกลางปีที่ผ่านมา เนื่องจากสืบทราบมาว่า แม้ยึดเครื่องพิมพ์ไว้หลายปีแล้วก็จริง แต่พาสปอร์ตและเอกสารที่พิมพ์เสร็จแล้ว ยังหลงเหลืออยู่หลายพันเล่ม เมื่อผ่านไปสักระยะสมาชิกในแก๊งจึงนำออกมาขายในตลาดมืดอีกครั้ง กระทั่งสืบสวนจับกุมได้

ส่วนการนำพาสปอร์ตปลอมไปประกาศขายในเวบไซต์นั้น พ.ต.ท.ดำรงศักดิ์ ยอมรับว่า ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในส่วนนี้ แต่เท่าที่ตรวจพบ มีการใช้อินเทอร์เน็ตเข้าไปสืบหาข้อมูลเอกสารทางราชการจากเวบไซต์ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อนำมาเป็นตัวอย่างการทำเอกสารปลอม เช่น การดาวน์โหลดรูปแบบฟอร์มเอกสารขอวีซ่าจากสถานทูตต่างๆ ตราประทับองค์กร ลายเซ็นข้าราชการ ฯลฯ

"ทำได้ยาก กม. ยังไม่ครอบคลุม"


ทั้งนี้ รอง ผกก.3 ป.ยอมรับด้วยว่า การจับกุมแก๊งปลอมบัตรเครดิตหรือปลอมพาสปอร์ตทำได้ยาก เนื่องจากตามกฎหมายไทยแล้ว หากผู้ใดมีเอกสารปลอมไว้ในครอบครอง ยังไม่ถือว่าเป็นความผิด หากยังไม่ได้นำไปใช้ ดังนั้น การจับกุมต้องกระทำขณะใช้บัตรเครดิต หรือกำลังใช้พาสปอร์ตปลอมเดินทางเข้าออกประเทศ

"พวกนี้รู้ดีว่ากฎหมายมีช่องโหว่ พกพาสปอร์ตปลอมไม่ผิด ต้องจับขณะกำลังใช้ เหมือนบัตรเครดิต พวกโจรจะไม่พกเป็นสิบใบไว้ในตัว แต่จะพกบัตรเครดิตไม่ซ้ำกันสัก 4-5 ใบ และหนังสือเดินทางไม่กี่เล่ม พอตำรวจจับได้ก็อ้างว่าไม่รู้ว่าเป็นของปลอม พอขึ้นศาลก็จะรีบสารภาพ แล้วก็รอลงอาญา พวกนี้จะใช้เอกสารและบัตรปลอมเกือบทั้งหมด แต่จะไม่ค่อยอยู่ กทม.เหมือนเมื่อก่อน จะย้ายไปอยู่ตามเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา ฯลฯ หากอยากแก้ปัญหานี้จริง ต้องปรับปรุงกฎหมายให้รัดกุม และมีบทลงโทษที่หนักกว่าเดิม แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ละเมิดสิทธิผู้อื่นด้วย เพราะการยัดเยียดบัตรเครดิตปลอมให้ผู้บริสุทธิ์ก็ทำได้ง่ายเช่นกัน" พ.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กล่าว


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์