แกะรอย ´ต้มยำกุ้ง´ ถุงเงินป่วนใต้
โดย ผู้จัดการรายวัน 22 พฤศจิกายน 2549 22:32 น.
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แกะรอย "ต้มยำกุ้ง" ชมรมร้านอาหารของชาวชายแดนใต้ในมาเลเซีย เผยมีสมาชิกราว 50,000 คน ทุกคนต้องจ่าย 100 ริงกิต/เดือน แฉเบื้องหลังเกี่ยวโยงการอำนวยความสะดวกในการทำมาหากินในแดนเสือเหลือง-การเมืองที่จะเป็นฐานกำลังสำคัญในการเลือกตั้งทั้งในไทย-มาเลย์ เปิดสายสัมพันธ์แนบแน่นกับ "กลุ่มวาดะห์" ขณะที่กลุ่มชาวมุสลิมใน 5 จชต.ที่ขายต้มยำกุ้งเช็คข่าววุ่น ผวาถูกขึ้นบัญชีดำ หน่วยข่าวเผยกลุ่ม BRN เตรียมป่วน 3 จชต.ห้วงปลาย พ.ย.-ต้น ธ.ค.นี้โดยรับเงินกว่า 50 ล้านบาทจากเครือข่ายในมาเลย์
หลังจากที่ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่ามีร้านอาหารไทยชื่อ "ต้มยำกุ้ง"ในประเทศมาเลเชีย เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้ในการก่อความไม่สงบ ซึ่งไม่เพียงทำให้กลุ่มชาวมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เปิดร้านขายอาหาร "ต้มยำกุ้ง" อยู่ในมาเลเซียต่างต้องตกใจกลัว และมีการตรวจสอบข่าวที่เกิดขึ้นมายังญาติพี่น้องรวมถึงคนที่รู้จักกันครั้งใหญ่ในฝั่งไทย เพราะกลัวว่าจะถูกขึ้นบัญชีดำเท่านั้น แต่ยังส่งผลสะเทือนต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล และกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับเพื่อนบ้านชิดใกล้อย่างประเทศมาเลเซียด้วย
สำหรับ "ต้มยำกุ้ง" อาหารอันเป็นเอกลักษณ์ของไทยได้กลายเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของผู้คนทั่วโลกไปแล้ว อย่างเมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในยุคที่ฟองสบู่แตกช่วงปี 2540 อาหารไทยชนิดนี้ก็ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของผลกระทบที่ส่งผ่านจากไทยไปสู้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก และคนไทยที่ไปเปิดร้านอาหารในต่างประเทศก็มักจะหยิบยกอาหารไทยชนิดนี้เป็นเมนูหลัก หรือถึงขั้นนำไปตั้งเป็นชื่อร้านอาหารเลยก็มี
ในส่วนของต้มยำกุ้งที่ พล.อ.สุรยุทธ กล่าวถึงนั้น เป็นที่รับรู้กันว่า หมายถึงร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นของคนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ไปเปิดให้บริการทั้งขนาดเล็กและใหญ่อยู่ในพื้นที่แถบรัฐตอนเหนือ รวมถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซียด้วย
**พบต้มยำกุ้งพัวพันกลุ่มป่วนใต้
คนในชายแดนใต้ของไทยแห่ไปเปิดร้านขายอาหารในมาเลเซียมาเนิ่นนานแล้ว และเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วได้มีการรวมตัวกันตั้งเป็นชมรมขึ้นมา และมีข้อตกลงร่วมกันว่า สมาชิกต้องจ่ายเงินค่าบำรุงให้กับชมรมเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องการอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยจ่ายให้กับกลุ่มคนในมาเลเซีย เช่น กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้การค้าขายไม่ติดขัด รวมถึงให้สามารถทำงานเป็นลูกจ้างในมาเลเซียได้แบบไร้อุปสรรค
นอกจากนี้ คณะกรรมการในชมรมต้มยำกุ้งจะเป็นธุระในการทำให้คนไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นคนสองสัญชาติได้ด้วย ซึ่งสามารถเนรมิตบัตรประชาชนของประเทศมาเลเซีย ให้มาอยู่ในมือได้อย่างไม่ยากเย็น โดยคิดค่าใช้จ่ายต่างหากที่ไม่เกี่ยวกับค่าการเป็นสมาชิก หรือค่าบำรุงชนรมที่ทุกคนต้องจ่าย 100 ริงกิต/เดือน
สิ่งเหล่านี้เองที่ได้ชักนำให้ชมรมร้านอาหารไทย หรือชมรมต้มยำกุ้งในมาเลเซีย ได้ถูกชักนำให้เข้าไปมีส่วนพัวพันกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะขบวนการต่างๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งเป็นขบวนการที่จะมีหรือไม่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยหรือไม่ก็ตาม
ในการก่อตั้งครั้งแรกผู้ที่เป็นกรรมการชมรมส่วนใหญ่อยู่ในขบวนการพูโลเก่า หรือไม่ก็พูโลใหม่ รวมถึงขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ด้วย ซึ่งเป็น ขจก.ที่ยุติการก่อการร้ายไปแล้วในเวลานี้ และได้หลบหนีไปอยู่ในมาเลเซีย เพราะมีหมายจับของไทย ซึ่งมักจะหาเลี้ยงชีพกันด้วยการทำธุรกิจร้านอาหารไทย และปรากฏการณ์นี้ก็สืบเนื่องต่อมาจากเดี๋ยวนี้