เสรีพิศุทธ์ ไม่ติดใจถอนฟ้อง สนธิ-สโรชา
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวสโดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 พฤศจิกายน 2549 15:12 น.
เสรีพิศุทธิ์ ยอมส่งทนายถอนฟ้อง สนธิ-สโรชา ฐานหมิ่นประมาท กล่าวหาทำงานรับใช้ประชาธิปัตย์ ทนายระบุโจทก์ไม่ติดใจจะดำเนินคดีอีกต่อไป หลังศาลชั้นต้นสั่งยกฟ้องไปก่อนหน้านี้
วันนี้ (22 พ.ย.) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ สนามหลวง ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกในคดีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่ปรึกษาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ มอบอำนาจให้นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และบริษัท รวมสามครีเอชั่น จำกัด ผู้ผลิตรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา สืบเนื่องจากกรณีที่นายสนธิ และ น.ส.สโรชา ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรกล่าวหมิ่นประมาทโจทก์ในรายการ กล่าวหาว่าในอดีตได้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้พรรคประชาธิปัตย์ และการเมืองเพียงอย่างเดียว
ถอนฟ้อง เพราะไม่ติดใจเอาความ
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัด ปรากฏว่านายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอถอนฟ้องคดีต่อจำเลยทั้งสาม โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากโจทก์และจำเลยตกลงกันได้ และโจทก์ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีอีกต่อไป
ทั้งนี้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้คัดค้านจึงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีได้และให้นำคดีออกจากสารบบความ
สำหรับคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 14 พ.ค.47 ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.47 จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันกล่าวในรายการเมืองรายสัปดาห์ ที่ออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท พาดพิงหมิ่นประมาทโจทก์ทำนองว่าโจทก์มีความโดดเด่นในการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงยุคทองของพรรคประชาธิปัตย์ โดยโจทก์ทำงานรับใช้พรรคประชาธิปัตย์และทำงานด้านการเมืองเพียงอย่างเดียว เช่น การดำเนินคดีฟ้องนายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.พรรคความหวังใหม่
นอกจากนี้ โจทก์ยังทำให้กับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งทำให้โจทก์มีความเจริญในหน้าที่การงานในช่วงยุคทองของพรรคประชาธิปัตย์ โดยการกระทำของจำเลยทำให้ผู้ชมรายการเข้าใจผิดว่าโจทก์เป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่มีระเบียบวินัย ไม่ปฏิบัติงานตามหน้าที่ ซึ่งการกล่าวข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น โจทก์จึงนำคดีมายื่นฟ้องเพื่อให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย โดยครั้งแรกศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 พ.ย.47 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสามเนื่องจากคดีไม่มีมูล โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นตามวิสัยของนักวิชาการ ต่อมาโจทก์จึงได้ยื่นอุทธรณ์คดี และศาลอุทธรณ์กลับเห็นว่าคดีโจทก์ฟ้องมีมูล จึงพิพากษาให้ศาลชั้นต้นประทับรับฟ้องคดีไว้พิพากษา ก่อนโจทก์จะยอมถอนฟ้องคดีในที่สุด