เผยครูยังใช้วิธีรุนแรงลงโทษน.ร.

"การลงโทษด้วยวิธีรุนแรง"


วันที่ 17 พ.ย. ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) น.พ.สมบัติ ตาปัญญา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงผลวิจัยเรื่อง "ความรุนแรงในโรงเรียน"ว่า ทัศนคติของครูต่อการสร้างวินัยในนักเรียน กับครูใน 4 ภาค 1,300 คน พบว่า ครูร้อยละ 75.5 เชื่อว่าครูและพ่อแม่ควรยึดถือคำพังเพย "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" ร้อยละ 69.9 เห็นว่าหากไม่ตีเลยจะควบคุมพฤติกรรมเด็กไม่ได้ สรุปว่าครูร้อยละ 60 มีทัศนคติว่าการตีเด็กยังเป็นสิ่งที่ควรทำ วิธีการลงโทษที่พบบ่อยคือ ใช้ไม้เรียวตีก้น มือ และมีครูจำนวนน้อยยอมรับว่ายังลงโทษนักเรียนด้วยวิธีที่อาจเป็นอันตราย หรือทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

"แม้กระทรวงศึกษาธิการจะห้ามลงโทษนักเรียนด้วยวิธีรุนแรง แต่ในความเป็นจริงยังพบการลงโทษที่รุนแรงอยู่บ้าง เช่นใช้มือ ผ้า สิ่งของ อุดปาก-จมูก ใช้ของร้อนจี้ ลวก ใช้เท้า เตะ ถีบ ใช้ของไม่มีคม หรือกำปั้นทุบ ตีซ้ำหลายๆ ครั้ง ขู่ให้กลัวด้วยมีดหรือปืน ขังนักเรียนในห้องมืดๆ ให้กินยาบางอย่าง หรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ เอาพริกหรือสิ่งที่มีรสเผ็ด ขม ใส่ปากเด็ก ส่วนการลงโทษทางวาจา หรือทำร้ายจิตใจ พบบ่อยคือ ตะโกนดุด่า หรือเพิกเฉย ไม่พูดด้วย" นายสมบัติ กล่าว

"พฤติกรรมการลงโทษไม่พึงประสงค์"


นายสมบัติ กล่าวอีกว่า ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนอีกประการหนึ่งเกิดจากวิธีการสร้างวินัยของครูที่ใช้กับนักเรียน หรือการลงโทษเมื่อนักเรียนทำผิดระเบียบ หรือมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ โดยลงโทษด้วยความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย เช่น การตีด้วยมือหรือวัตถุ เช่น ไม้เรียว เข็มขัด ฯลฯ บังคับให้อยู่ในท่าที่ไม่สบายหรือเสียศักดิ์ศรี ตบหน้า ใช้เท้าเตะ ถีบ หยิก ดึงผม หรือให้ออกกำลังกายมากเกินควร เช่น วิดพื้น วิ่งรอบสนาม ใช้สิ่งของที่ร้อนนาบตามตัว เป็นต้น บางครั้งก็เป็นการลงโทษที่เป็นความรุนแรงต่อจิตใจหรือทำร้ายจิตใจ เช่น ดุด่า เยาะเย้ย ถากถาง ประจาน แยกให้โดดเดี่ยว หรือแกล้งทำเมินเฉยไม่สนใจเด็ก เป็นต้น

"กระทรวงศึกษาธิการควรเพิ่มกิจกรรมหรือมีวิธีรการสร้างวินัยเชิงบวกให้กับครู เพราะในอดีตครูมีไม้เรียวเป็นเครื่องมือ เมื่อถูกยึดไปแล้ว กระทรวงไม่ได้ให้เครื่องมือใหม่กับครู ไม่บอกว่าควรทำอย่างไร จึงทำให้ครูลำบากในการดูแลนักเรียน" นายสมบัติ กล่าว

"พฤติกรรมต่อเนื่องของเด็ก"


นายสมบัติ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจเพื่อประเมินสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนที่เกิดจากความรุนแรงระหว่างนักเรียนด้วยกัน โดยการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามจากครู จำนวน 1,300 คน และนักเรียนตั้งแต่ชั้นป.4 ถึงชั้นม.2 จำนวน 3,047 คน ในโรงเรียนจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิภาค พบว่าการรังแกกันของนักเรียนระดับประถมปลาย และมัธยมต้น มีอยู่ในระดับสูงทั่วทุกภาค โดยร้อยละ 40 เคยถูกรังแกเดือนละ 2-3 ครั้ง หรือบ่อยกว่านั้น ที่พบมากคือทำร้ายจิตใจด้วยวาจา ล้อเลียนร้อยละ 47.9 เหยียดหยามเชื้อชาติ ผิวพรรณร้อยละ 27.9 และพบการคุกคามทางเพศร้อยละ 10.7 และมีการแย่งเงินและของใช้ด้วย

"เมื่อโตขึ้นเด็กเหล่านี้จะมีพฤติกรรมต่อเนื่อง อาจไปกระทำสิ่งที่ลิดรอนสิทธิผู้อื่น และมีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมในอนาคตได้สูง ส่วนเด็กที่ถูกกระทำจะมีความวิตกกังวล เครียด เป็นโรคซึมเศร้า ส่งผลกระทบต่อการเรียน หรือในบางรายอาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย" นายสมบัติกล่าว


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์