ตชด.ใต้ถอนกำลัง ครูโดนขู่-ปิดรร.หนี

"โทรศัพท์ขู่ครูหากไปสอนเตรียมโลงได้เลย"


ตชด.ถอนกำลังออกจากฐานที่ตั้งแล้ว หลังชาวบ้านบันนังสตา ยะลา ฮือปิดล้อมไล่พ้นพื้นที่ ขณะที่โรงเรียนก็พลอยปิดไปด้วย บรรดาครูหวาดผวากันทั่ว โดนโทรศัพท์ลึกลับขู่หากไปสอนให้เตรียมโลงศพไว้ด้วย ด้านเลขาฯ สมช. ผอ.ข่าวกรองฯ รุดรายงานหารือนายกฯ มท.1ชี้อะไรยอมได้ก็ต้องยอม เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ ส่วนอัยการหอบสำนวนคดีตากใบ ยื่นศาลนราธิวาสแล้ว ยกฟ้อง 96 จำเลยและผู้ต้องหา เตรียมเรียกมารับทราบคำร้องถอนฟ้องในวันที่ 8 พ.ย.นี้

เมื่อเวลา 11.40 น. วันที่ 6 พ.ย. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายประกิจ ประจนปัจจนึก เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และพล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เดินทางเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือและรายงานถึงสถานการณ์ความรุนแรงในจ.ยะลา เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา กรณีชาวบ้าน ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ปิดล้อมฐานตชด. เรียกร้องให้ถอนกำลังออกไป เพราะเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับการตายของชาวบ้าน โดยใช้เวลาหารือนาน 1 ชั่วโมงครึ่ง

"งานสำคัญที่สุด"


ที่กระทรวงมหาดไทย นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการถอนกำลังตชด.ว่า เป็นเรื่องที่ผวจ.ยะลา จะต้องพิจารณาดูเหตุผล แต่หากอะไรที่เป็นความผิดก็คงยอมไม่ได้ ในกรณีนี้บางเรื่องมีเหตุผลตามสมควร เมื่อถามว่าแสดงว่าตชด.ในพื้นที่เป็นผู้ก่อเหตุตามที่ชาวบ้านประท้วงใช่หรือไม่ นายอารีย์ กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กำชับว่างานที่สำคัญที่สุด คือการสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ ไม่ใช่จะทำตามความเข้าใจของทหาร หรือของประชาชนที่เคลื่อนไหวกดดัน เราจะต้องแยกผู้ก่อการร้ายออกมา แต่เรื่องเรียกร้องของประชาชนก็เป็นอีกเรื่อง จึงต้องทำตามความพึงพอใจของประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่ชาวบ้านร้องเรียนมาหรือไม่ รมว.มหาดไทยหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวว่าพอแล้ว เมื่อถามต่อว่าหากถอนกำลังตชด.ออกจากพื้นที่ อาจจะเกิดการก่อเหตุความไม่สงบขึ้นมาได้อีก นายอารีย์ กล่าวว่า ทหารยังไม่ได้ถอนกำลังออกไป กฎอัยการศึกยังไม่เลิก พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ยังไม่ได้ยกเลิก อีกทั้งการถอนกำลังทหารไม่ได้หมายความว่าจะกลับเข้าไปไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของตัวบุคคล ไม่ใช่เรื่องของทหารทั้งหมด

"พยายามลดเงื่อนไข"


ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีกลุ่มชาวบ้านปิดล้อมฐานตชด.ว่า เป็นยุทธวิธีของฝ่ายตรงข้ามที่ใช้ได้ผล ฝ่ายทหารพยายามใช้สงครามจิตวิทยาเข้าไปต่อต้าน ส่วนที่ต้องโอนอ่อนผ่อนปรนทำตามที่ขอร้อง เพราะเป็นเรื่องไม่ต้องการเผชิญหน้า อะไรที่ยอมได้ก็ต้องยอม โดยขอให้ถอนกำลังตชด. ซึ่งปกติชาวบ้านไม่ค่อยชอบตำรวจ เราต้องพยายามลดเงื่อนไขลงมา และในอนาคตทหารพราน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่จะไปอยู่ คือลูกหลานของชาวบ้าน คิดว่าจะลดเงื่อนไขตรงนี้ได้ในอนาคต

พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส. กล่าวว่า การที่นายกฯ กล่าวคำขอโทษประชาชนไทยมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงถึงความเป็นผู้นำ รู้สึกภูมิใจที่ได้นายกฯ ที่มีความเข้าใจ และเข้าถึงประชาชน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านายกฯ กล่าวคำขอโทษแล้วทุกอย่างจะจบ คงไม่ง่ายอย่างนั้น แต่เป็นพื้นฐานที่ดีแสดงถึงความจริงใจ

"นำเสนอแนวทางแก้ไข"


ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงผลการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.) ว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. เน้นย้ำให้กำลังพลในภาคใต้มีความใกล้ชิด พบปะพูดคุยกับประชาชนให้มากขึ้น เพื่อจะทำให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากยิ่งขึ้น จะทำให้การทำงานของทุกหน่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวระหว่างบรรยายในหัวข้อ "การบริหารงานกระบวนการยุติธรรมกับปัญหาความมั่นคงของชาติ" โดยระบุในตอนหนึ่งว่า งานด้านกระบวนการยุติธรรมหลายส่วนยังเกิดปัญหาและข้อบกพร่อง จึงอยากนำเสนอแนวทางการแก้ไข 1.ต้องไม่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ โดยจับมาเป็นแพะ และไม่เหวี่ยงแหเวลาออกหมายจับ โดยเพียงคิดว่าไปจับรวมๆ กันมาแล้วคัดแยกทีหลัง การกระทำเช่นนี้จะเกิดปัญหา เช่น กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะที่ผ่านมากระทำในลักษณะนี้ และไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาตามมาถึง แม้ต่อมาจะปล่อยกลับบ้าน โดยบอกว่าไม่มีความผิดก็เกิดปัญหา ซึ่งผลการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐทำลายความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรม

"จนท.รัฐต้องไม่เป็นอาชญากรเสียเอง"


ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่เป็นอาชญากรเสียเอง เพราะการจับคนมาตั้งข้อหา หรือการอุ้มฆ่า เป็นการทำร้ายประชาชนมากที่สุด และบุคคลผู้นั้นจะกลายเป็นอาชญากร เป็นการทรยศต่อแผ่นดินและระบบยุติธรรม ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจำเลยต่อสังคมโลก และค่านิยมนี้มีการกระทำอยู่ในกระบวนการยุติธรรมจำนวนมาก การจับคนมาดำเนินคดีโดยแจ้งข้อกล่าวหามันทรมานมาก เพราะเวลาเป็นคดีความขึ้นมาความยุ่งยากมาก การดำเนินชีวิตก็เปลี่ยน ถ้าเจ้าหน้าที่คนใดอยากรับรู้ความรู้สึกอย่างแท้จริง คงต้องทดลองตกเป็นจำเลย หรือผู้ต้องหาเสียในคดีอาญา

ที่พรรคไทยรักไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีถอนฟ้องผู้ต้องหาคดีชุมนุมและก่อความไม่สงบหน้าสภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่าเป็นผลดีในการสมานฉันท์ระหว่างรัฐกับประชาชน แต่ยังมีคดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนซับซ้อนอยู่มาก หวังว่ารัฐบาลจะใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบ คำนึงถึงความสมานฉันท์ และรักษากฎหมายบ้านเมืองควบคู่กันไป

"การยกฟ้อง"


สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส นายโสภณ ทิพย์บำรุง อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการศาลสูง เขต 9 ช่วยราชการและปฏิบัติราชการในตำแหน่งรักษาราชการแทนอัยการจังหวัดนราธิวาส นำสำนวนคดีชุมนุมและก่อความไม่สงบหน้าสภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ยื่นต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ภายหลังที่นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด มีคำสั่งให้ยกฟ้องผู้ต้องหาและจำเลยทั้งหมด 96 คนในคดีดังกล่าว โดยในจำนวนนี้แยกเป็นฟ้องแล้ว 58 คน เสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย และอีก 40 คนอยู่ระหว่างเตรียมฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยกฟ้องครั้งนี้ ทางอัยการสูงสุดให้เหตุผลสรุปว่า การดำเนินคดีดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และอาจจะกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขให้กับประชาชน โดยนำการดำเนินคดีไปปลุกปั่นประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ร่วมก่อความไม่สงบในพื้นที่ได้ จึงเห็นควรยกฟ้อง และกระบวนการหลังจากนี้ จะเป็นขั้นตอนของศาลจังหวัดนราธิวาส โดยจะเรียกผู้ต้องหาทั้ง 56 คนมารับฟังสำนวนการยกฟ้องในวันที่ 15 พ.ย. คาดจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

"ชาวบ้านดีใจถอนฟ้อง"


ด้านนายพีระวัส ประวีณมัย ทนายความของผู้ต้องหาคดีตากใบ 56 คน กล่าวว่า หลังจากที่ศาลจังหวัดนราธิวาสรับคำร้องขอถอนฟ้องจากอัยการจังหวัดนราธิวาสแล้ว ศาลจังหวัดนราธิวาสแจ้งเรื่องมาว่า ส่งหมายเรียกจำเลยทั้ง 56 คน มาขึ้นศาลในวันที่ 8 พ.ย. เวลา 09.00 น. เพื่อให้จำเลยรับฟังคำร้องขอถอนฟ้อง และจะสอบถามจำเลยว่าจะคัดค้านคำร้องขอถอนฟ้องคดีของอัยการจังหวัดนราธิวาสหรือไม่ จึงแจ้งไปยังจำเลยทั้ง 56 คนแล้ว โดยทุกคนจะเดินทางมาศาลรับฟังคำร้องขอถอนฟ้อง คาดว่าจะไม่คัดค้านเนื่องจากเป็นประโยชน์ของจำเลย

ส่วนนางแยนะ สะแลแม ผู้ประสานงานจำเลย 56 คน กล่าวว่า ทุกคนดีใจกันมาก เพราะจะพ้นผิด ดีใจที่รัฐบาลชุดนี้ให้โอกาส และเห็นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทั้ง 56 คนส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ หากถูกดำเนินคดีจะทำให้ครอบครัวเดือดร้อน

"เจรจานานหลายชั่วโมง"


ส่วนความคืบหน้ากรณีกลุ่มชาวบ้านบาเจาะ หมู่ 2 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา จำนวนกว่า 300 คนปิดล้อมโรงเรียนบ้านบาเจาะ ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการของตชด.ที่ 3210 เพื่อเรียกร้องให้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ เนื่องจากเข้าใจว่านายอิสมาย สามะ พ่อของนายอับดุลเลาะ สามะ ผู้ต้องหาคดีก่อความไม่สงบ ที่ถูกจับกุมและได้รับการปล่อยตัว ถูกยิงเสียชีวิต เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ทางผวจ.ยะลาต้องรุดมาเจรจานานหลายชั่วโมง กว่าชาวบ้านจะยอมสลายตัว เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 6 พ.ย. ตชด.ที่ 3210 ซึ่งตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่โรงเรียนบ้านบาเจาะ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา ขนข้าวของเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่แล้ว กลับไปประจำอยู่ที่สภ.อ.บันนังสตา ตามที่ตกลงไว้กับชาวบ้าน โดยฐานตชด.ดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่รวม 44 นาย เดินทางมาช่วยราชการในพื้นที่ อ.บันนังสตา รับผิดชอบพื้นที่หมู่ 2 บ้านบาเจาะ ต.บาเจาะ ขณะเดียวกัน โรงเรียนบาเจาะ ซึ่งเป็นฐานของตชด. ก็ต้องปิดการเรียนการสอนไปด้วย

"จนท.ยินดีทำตามคำเรียกร้องชาวบ้าน"


พ.ต.อ.อนุรุธ อิ่มอาบ ผกก.สภ.อ.บันนังสตา กล่าวว่า นายการันต์ ศุภกิจวิเลขการ รองผวจ.ยะลา และพล.ต.ต.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผบก.ยะลา เข้ามากำกับดูแลเหตุการณ์ และพยายามคลี่คลายเหตุการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรง ทางเจ้าหน้าที่ยินดีที่จะทำตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน พยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน และมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจให้มากที่สุด ส่วนการเคลื่อนย้ายจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 6 พ.ย.นี้

ผกก.สภ.อ.บันนังสตากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทางผบก.ยะลา และผบ.ฉก.1 จะเข้าไปพูดคุยกับบรรดาผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และผู้นำท้องถิ่นอีกครั้ง เพื่อร่วมกันวางแผนการปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยจะใช้ท้องถิ่นเป็นหลักให้มากกว่านี้ เป็นแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการความสมานฉันท์ ส่วนกรณีที่ชาวบ้านเข้าใจว่าการเสียชีวิตของนายอิสมาย สามะ เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่นั้น ทางผู้บังคับบัญชาสั่งการชัดเจนว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องนำคนผิดมารับโทษให้ได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างชัดเจน

"เข้าช่วยเหลือโรงเรียนที่ถูกลอบวางเพลิง"


ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 12 ยะลา ผู้บริหารสถานศึกษาในอ.บันนังสตาร่วมประชุม เพื่อประเมินสถานการณ์และหามาตรการดูรักษาความปลอดภัย และช่วยเหลือโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุลอบวางเพลิงโรงเรียน 4 แห่ง ใน อ.บันนังสตา

นายนพพร มากคงแก้ว รองผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ยะลา เขต 2 กล่าวว่าแจ้งให้ผู้บริหารสถานศึกษารับทราบ ภายหลังมีมติให้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ ทางครูจึงไม่สบายใจ ต้องประสานงานกับทางอำเภอและหน่วยกำลังในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพราะครูมีความหวั่นไหวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่ปิดโรงเรียนคงทำหน้าที่ตามปกติ ส่วนที่หยุดเรียนในวันที่ 6 พ.ย.นี้ ทางเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือ อย่าเข้าไปโรงเรียน เพื่อความสะดวกในการทำงาน และเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา มีครู 3 คน และศึกษานิเทศก์ 1 คน รายงานว่ามีโทรศัพท์ลึกลับข่มขู่ หากครูเดินทางไปทำงานให้เตรียมโลงศพและขุดหลุมไว้ด้วย


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์