จำคุกเกริกเกียรติอีก20ปี-ยักยอกบีบีซี

"ศาลพิพากษาคดียักยอกทรัพย์"


เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ห้องพิจารณาคดี 810 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 10.00 น. ศาลมีคำพิพากษา ในคดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี ที่พนักงานอัยการการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อายุ 56 ปี อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคาร บีบีซี. ,นางพรจันทร์ จันทรขจร อายุ 51 ปี ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของนายเกริกเกียรติ อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทไดฟ์มาสเตอร์ จำกัด

และนางสุภาภรณ์ ทิพยศักดิ์ 46 ปี เลขานุการกรรมการบงล. ไทยฟูจิฯ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2517 ที่ระหว่างวันที่ 4 มิ.ย.33 6 มิ.ย.39 พวกจำเลยร่วมกันยักยอกเงินปันผลบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) ไทยฟูจิ จำกัด มูลค่า 205,006,250 บาท ซึ่งพนักงาน บีบีซี มีชื่อถือหุ้นแทนธนาคาร จำเลยให้การปฏิเสธ

"การพิเคราะห์ของศาล"


ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีคณะกรรมการควบคุมธนาคารบีบีซี พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการธนาคารบีบีซี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย บงล.ไทยฟูจิฯ เบิกความสอดคล้องกันว่า ธนาคารบีบีซี ได้ตั้งบริษัทในเครือ 4 บริษัทเพื่อถือหุ้นร่วมกับธนาคารญี่ปุ่นในการก่อตั้ง บงล.ไทยฟูจิฯ โดยตามข้อกำหนดของ ธปท.ห้ามธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นในบริษัทอื่นเกินร้อยละ 10

ดังนั้นในการถือหุ้นใน บงล.ไทยฟูจิ ธนาคารบีบีซี จึงให้พนักงานถือหุ้นแทน กรณีจึงถือได้ว่าหุ้นดังกล่าวเป็นของธนาคารบีบีซี ไม่ใช่ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าได้ใช้เงินส่วนตัวไปซื้อหุ้นดังกล่าวมา โดยในการนำสืบของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้จึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีหลักฐานมาหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้

"ไม่ทราบใครลงชื่อ"


ส่วนกรณีจำเลยที่ 1-3 ร่วมกันกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ ซึ่งเป็นเงินปันผลของพนักงานที่ถือหุ้นใน บงล.ไทยฟูจิหรือไม่นั้น โจทก์มีพนักงานบริษัทซึ่งถือหุ้น และพนักงานธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งจำเลยที่ 3 เปิดบัญชีอยู่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพิสูจน์ลายมือ ต่างเบิกความเชื่อมโยงกันว่า พนักงานจำนวน 38 คน ได้รับเช็คเงินปันผลจาก บงล.ไทยฟูจิ เมื่อปี 2538 แต่พนักงานไม่ได้รับเงินปันผลด้วยตัวเอง และลายมือชื่อที่สลักด้านหลังเช็คไม่ใช่ลายมือชื่อของพนักงาน โดยไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้ลงลายมือชื่อแทน

ขณะที่พนักงาน ธอส. เบิกความว่าจำเลยที่ 3 มาเปิดบัญชีไว้เมื่อปี 2538 โดยนำเช็ค 38 ฉบับที่ลงลายชื่อบุคคลเข้าบัญชีธนาคาร จำนวน 13.5 ล้านบาท โดยจำเลยที่ 3 ถอนเงินจำนวน 8 แสนบาทออกไป ส่วนที่เหลือ 12.7 ล้านบาท ได้ออกเป็นแคชเชียเช็คในนามของจำเลยที่ 2 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์ลายมือระบุว่าลายมือชื่อดังกล่าวไม่ใช่ของพนักงานผู้ถือหุ้นทั้ง 38 คน แต่การตรวจสอบไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยที่ 1-3 เป็นผู้ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็ค โดยประเด็นนี้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานอื่นใดมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และ 3 กระทำผิดฐานปลอมแปลงและใช้เอกสารสิทธิปลอม

"มีความผิดหลายกรรม"


โดยจำเลยที่ 3 ได้นำสืบต่อสู้ว่า การดำเนินการต่างๆ ได้ทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนัก

ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์รวม 5 กระทง ให้จำคุก 45 ปี ปรับ 211,160,166 บาท แต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรม ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เมื่อรวมกระทงลงโทษแล้วให้ลงโทษได้ไม่เกิน 20 ปี คงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 20 ปี และให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้

"คำสั่งพิพากษาศาล"


และศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 คดี รวม 50 ปี เป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 70 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนกระทำความผิดยักยอกทรัพย์รวม 2 กระทงให้จำคุกกระทงละ 6 ปี 8 เดือน รวมจำคุก 12 ปี 16 เดือน และให้ปรับเป็นเงิน 1,333,333.32 บาท และให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน ธนาคารบีบีซีจำนวน 93,036,333 บาท และให้จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันคืนเงินอีกจำนวน 84,720,000 บาท ให้กับบีบีซี ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้พิพากษาจำคุกนายเกริกเกียรติยักยอกทรัพย์บีบีซีแล้ว 3 คดี ๆ ละ 10 ปี รวม 30 ปี ปรับ 3,208,331,600 บาท และยกฟ้อง 1 คดีขณะที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 20 ปี นายเกริกเกียรติอีกคดีหนึ่ง และสั่งปรับ 119,185,600 บาท


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์