"หลายหน่วยงานช่วยกันระดมช่วย"
อุทกภัยในภาคกลางยังวิกฤติ หลายหน่วยงานระดมช่วยเหลือผู้ประสบภัยและหาทางป้องกัน รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะต้องเผชิญกับน้ำทะเลหนุนในสัปดาห์หน้า
ลงพื้นที่สำรวจความเห็น
เมื่อเช้าวันที่ 20 ต.ค. นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ รองปลัด กทม. ประชุม ผอ.เขต และตัวแทนประชาชนที่ ประสบปัญหาน้ำท่วม หลังจากนั้น นายอนันต์เปิดเผยว่าระหว่างวันที่ 21-24 ต.ค. เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่น้ำท่วม เช่น ลาดกระบัง หนองจอก และริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสอบถามความคิดเห็นประชาชนรวบรวมข้อมูลก่อนจัดประชุมเชิงปฏิบัติการนำข้อสรุปเสนอผู้ว่าฯ กทม. รวมทั้งส่งข้อมูลให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้ชาวบ้านอาศัยบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ แต่ต้องไม่เป็น อุปสรรคต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ในส่วนผู้บุกรุกก็จะต้องย้ายออกไป ซึ่งต้องดูเป็นกรณี
คนกรุงเครียดน้ำท่วมขัง
รองปลัด กทม.กล่าวต่อไปว่า การฟื้นฟูสภาพที่อยู่ และชุมชนหลังน้ำลด อยู่ระหว่างเตรียมการ สำหรับถนนที่เสียหายจะประสานให้สำนักการโยธาซ่อมแซม ส่วนถนนด้านตะวันออกที่ระดับต่ำ เช่น ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ถนนคุ้มเกล้า ต้องยกระดับ ขณะเดียวกัน มอบหมายให้ สำนักพัฒนาสังคมเข้าไปสำรวจความเดือดร้อนทุกครอบครัว พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเครียดมาก และจะ มอบทุนประกอบอาชีพ คาดว่างบประมาณฟื้นฟูประมาณ 320 ล้านบาท
ด้านนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมกับ พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดนำถุงยังชีพไปมอบให้ผู้ประสบอุทกภัยที่ จ.สิงห์บุรี อ่าง-ทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี โดย ผวจ.สิงห์บุรีขอรับการสนับสนุนรถสุขาเคลื่อนที่และเต็นท์ที่พักชั่วคราวของกรุงเทพมหานคร
ผันน้ำเข้าทุ่งเพิ่ม
นายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเปิดเผยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างใกล้เคียงกับปี 2538 สำหรับการบริหารจัดการน้ำช่วงวันที่ 23-26 ต.ค. ซึ่งน้ำทะเลหนุนจะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นอีกนั้น กรมชลประทานจะผันน้ำเข้าพื้นที่ 1.4 ล้านไร่ ปริมาณน้ำ 520 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนพระรามหก คาดว่าสามารถรักษาระดับน้ำไว้ไม่เกินระดับป้องกันของกรุงเทพมหานคร คือ 2.50 เมตร ส่วนช่วงวันที่ 7-10 พ.ย. ที่น้ำจะสูงสุดอีกครั้ง ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงอาจต้องผันน้ำเข้าทุ่งเพิ่มเติม สำหรับแนวทางการบรรเทาอุทกภัยเตรียมเสนอปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเขตทางน้ำ แหล่งน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ การดำเนินการ เอาคืนพื้นที่ทางน้ำที่ถูกบุกรุกโดยภาคราชการ เอกชน และชุมชน การพัฒนาพื้นที่รับน้ำนอง กำหนดพื้นที่แก้มลิงให้ชัดเจนโดยมีกฎหมายรองรับ การออกกฎหมายชดเชยความเสียหายจากการให้เป็นพื้นที่แก้มลิง การใช้ ที่นาเป็นพื้นที่ชะลอน้ำ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม