ในช่วงบ่ายวันเดียวกันผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบสาวท้องแก่ใกล้คลอดบ้านถูกน้ำท่วมทั้งหลัง ต้องมาอาศัยรอคลอดอยู่ในศาลาพักริมถนนสายไผ่ท่าโพ-วังสำโรง อ.โพธิ์ประทับช้าง ไปตรวจสอบพบนางยุพิน ชูตะมัน อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 114/1 หมู่ 3 ต.ไผ่ท่าโพ โดยนางยุพินเปิดเผยว่า ตนพร้อมสามีอพยพหนีน้ำท่วมบ้านมาอาศัยอยู่ในศาลาแห่งนี้มาเกือบ 1 เดือนแล้ว โดยไม่มีทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา ต้องใช้เทียนไขจุดตอนกลางคืนและใช้กะละมังรองน้ำฝนไว้กินไว้ใช้ การขับถ่ายก็ต้องเดินเข้าป่าอย่างเดียว ตอนนี้ลำบากมากเนื่องจากท้องแก่ 9 เดือนเต็ม ไม่รู้จะคลอดเมื่อไหร่ หากเจ็บท้องเวลากลางคืนยังไม่รู้จะทำอย่างไร มีรถ จยย. อยู่ 1 คันก็ถูกยึด เนื่องจากสามีไม่มีงานทำ ก็สุดแล้วแต่เวรกรรม
เหตุเพราะลำน้ำเป็นคอขวด
ภาคอีสานที่ จ.หนองบัวลำภู ถึงแม้ฝนจะหยุดตกมา 3 วันแล้ว แต่น้ำเหนือที่ไหลมาจาก จ.เลย ยังคงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน ไร่นาราษฎร และถนนหลายสาย ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการระบายน้ำเป็นไปได้ช้า ทำให้นาข้าวที่ต้นข้าวกำลังออกรวง จะได้รับความเสียหายกว่า 2 หมื่นไร่ ทั้งนี้ นพ.ศราวุธ สันตินันตรักษ์ นายก อบจ.หนองบัวลำภู พาคณะเข้าสำรวจพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม จากนั้นเปิดเผยว่า แม้ฝนจะหยุดตกมา 3 วันแล้ว แต่ กระแสน้ำที่หลากลงมาตามลำน้ำพะเนียงยังคงเอ่อล้น เนื่องจากยังขุดลอกลำน้ำไม่เสร็จ และมีบางจุดที่ชาวบ้านไม่ยอมให้ขุดทำให้กลายเป็นคอขวด เมื่อน้ำหลากลงมาจึงล้นออกไปท่วมไร่นาชาวบ้านกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่ ต.ฝั่งแดง อ.นากลาง ต.นาคำไฮ ต.หนองสวรรค์ ต.หนองหว้า ต.โพธิ์ชัย ต.ลำภู ต.หนองบัว ต.บ้านพร้าว ต.หัวนา ในเขต อ.เมืองหนองบัวลำภู รวมทั้งที่ อ.ศรี-บุญเรือง พื้นที่นาข้าวที่ถูกน้ำท่วมกว่า 20,000 ไร่ หากถูกน้ำท่วมต่ออีก 2-3 วัน ต้นข้าวที่ตั้งท้องเตรียมเก็บเกี่ยวก็จะต้องตายหมด
ปศุสัตว์ศรีสะเกษเร่งช่วยเหลือ
เช่นเดียวกับ จ.ศรีสะเกษ เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบด้านปศุสัตว์ 8 อำเภอ 26 ตำบล 69 หมู่บ้าน และ 1 เทศบาล มีโค กระบือ ได้รับผลกระทบ 9,233 ตัว เกษตรกร 3,227 ราย ส่วนสุกร เป็ด และฟาร์มไก่เนื้อ ไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ นายวิสุทธิ์ สารพัฒน์ ปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ ได้นำพืช อาหารสัตว์ หญ้าแห้งอัดฟ่อน พร้อมเวชภัณฑ์ ยาปฏิชีวนะ ยาถ่ายพยาธิ และอาหารแร่ธาตุ ไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ประสบภัย ที่โรงเรียนบ้านหนองกันจอหมู่ 6 ต.ธาตุ อ.วังหิน โดยเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยด้านปศุสัตว์ ขอความช่วยเหลือได้ที่ สนง.ปศุสัตว์อำเภอ หรือกิ่งอำเภอทุกแห่ง หรือแจ้งโดยตรงที่ สนง.ปศุสัตว์ จ.ศรีสะเกษ โทร. 0-4561-2928 จะให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป
จับตา 13 ต.ค.น้ำเพิ่มสูงสุด
ด้านนายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนี้ (วันที่ 12 ต.ค.) มีน้ำไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ 5,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากวันที่ 11 ต.ค. 155 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทางกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ ไปลงทุ่งทางฝั่งตะวันตก 619 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และทุ่งฝั่งตะวันออก 203 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 3,244 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ปริมาณน้ำที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ 3,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คาดว่าในวันที่ 13 ต.ค. จะมีปริมาณน้ำไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ 5,450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ 3,950 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
สผ.ขานรับหาแหล่งทำแก้มลิง
นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีที่กรมชลประทานเตรียมหาพื้นที่แก้มลิงเพื่อเป็นแหล่งพักน้ำประมาณ 1-2 ล้านไร่ เพื่อระบายจากทางภาคเหนือว่าในส่วนของ สผ.จะเร่งตรวจสอบพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีการขึ้นทะเบียนเอาไว้กว่า 100 แห่งทั่วประเทศว่า จุดไหนพอจะเป็นแหล่งพร่องน้ำท่วมในครั้งนี้ได้บ้าง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีบึงบอระเพ็ดเป็นแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ของเขตภาคเหนือตอนล่าง แต่คาดว่า ขณะนี้คงมีประมาณน้ำค่อนข้างมากแล้ว อย่างไรก็ตามยอมรับว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยมีพื้นที่รับน้ำซึ่งเป็นห้วย หนอง คลอง บึงขนาดเล็กๆอยู่มาก และในอดีตก็ใช้เป็นแหล่งรองรับน้ำท่วม แต่ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้ถูกบุกรุกนำไปใช้ประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ เช่น ถูกถมเป็นถนน เป็นหมู่บ้านจัดสรร เป็นโรงงาน มีการสร้างถนนตัดผ่านขวางทางน้ำทำให้พื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติหายไป
กระตุ้นท้องถิ่นรักษาแหล่งน้ำ
นายเฉลิมศักดิ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติทั้ง 100 กว่าแห่งที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ก็มีปัญหาการจัดการดูแลและมีปัญหาบุกรุกพัฒนาพื้นที่ เนื่องจากถือว่าอยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น กรณีการเตรียมก่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวในบึงบอระเพ็ด จะต้องถมพื้นที่บางส่วน และปัจจุบันก็มีการสร้างคันดินเอาไว้เพื่อป้องกันน้ำท่วมถนน จุดนี้ถือเป็นปัญหาในการดูแลทรัพยากรน้ำที่ทาง สผ.และทางกระทรวงทรัพยากรฯ ต้องเร่งทำความเข้าใจทั้งในระดับท้องถิ่นและตัวชาวบ้านให้เห็นคุณค่าและเข้าใจประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้และเก็บรักษาพื้นที่เอาไว้ รวมทั้งเร่งสำรวจพื้นที่แก้มลิงตามธรรมชาติเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ สผ.จะสำรวจความเสียหายทางด้านทรัพยากรธรรมชาติที่รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อเตรียมแนวทางฟื้นฟูเมื่อน้ำลดต่อไปด้วย
ทำแผนแม่บทแก้วิกฤติน้ำท่วม
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการวางระบบบริหารการจัดการน้ำในระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย ว่า ที่ประชุมได้สรุปถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำโดยกำหนดร่วมกันที่จะจัดทำแผนแม่บทจัดการน้ำในอนาคตเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ โดยมอบให้ สศช. ไปศึกษาถึงแนวทางดำเนินการ