ถึงขั้วโลกใต้แล้วศึกษาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
นักวิจัยหญิงไทยคนแรกจากคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ เดินทางถึงทวีปแอนตาร์กติกขั้วโลกใต้เรียบร้อยแล้ว เผยร่วมคณะสำรวจของญี่ปุ่นเพื่อศึกษาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยต้องใช้ชีวิตท่ามกลางอุณหภูมิติดลบ 8-9 สัปดาห์
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ศ.ดร.สุพจน์ หาร หนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย
เปิดเผยว่า ตามที่ ผศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยา ศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมกับคณะสำรวจทวีป แอนตาร์กติกญี่ปุ่นที่ 51 (JARE-51; 51th Japanese Antarctic Research Expedi tion) ซึ่งนับเป็นนักวิจัยคนที่สองของไทยและเป็นนักวิจัยหญิงไทยคนแรกนั้น ขณะนี้คณะสำรวจได้เดินทางถึงสถานีวิจัยโชวะ (Syowa Station) ของญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้เริ่มต้นการทำงานวิจัยด้วยการเตรียมพื้นที่ศึกษาบนผืนน้ำแข็งที่ปก คลุมผิวหน้าน้ำทะเล (ทะเลน้ำแข็ง) ร่วมกับ ทีมนักวิจัยของญี่ปุ่น โดยทำการขุดเจาะผืนน้ำแข็งซึ่งมีความหนาประมาณ 2 เมตร ให้เป็นช่องที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร หลายหลุม เพื่อใช้ในการเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในทะเลขึ้นมา
ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวต่อไปว่า ระดับ ความลึกของน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวอยู่ที่ ประมาณ 50-60 เมตร
และมีการขุดหลุมขนาดใหญ่อีกหนึ่งหลุมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 150 เซนติเมตร เพื่อเก็บน้ำทะเลและน้ำแข็งมาตรวจวิเคราะห์ ภายใต้อุณหภูมิ ของน้ำทะเลบริเวณผิวน้ำอยู่ที่ประมาณ 0 องศาเซลเซียส ซึ่งจากข้อมูลปริมาณการตกของหิมะในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาพบว่า มีพายุหิมะมากกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีหิมะปกคลุมผืนน้ำแข็งหนากว่าปกติ จึงต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะขุดเจาะผืนน้ำแข็งได้สำเร็จ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มการสำรวจและเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในทะเลเพื่อศึกษาวิจัยต่อไป
“ในช่วงนี้อุณหภูมิเวลากลางวันที่สถานีโชวะ อยู่ที่ประมาณ ลบหนึ่ง (-1) ถึง ลบสอง (-2) องศาเซลเซียส แต่เนื่องจากมีกระแสลมที่ค่อนข้างแรง ทำให้มีความรู้สึกว่าหนาวกว่าปกติ ขณะที่อุณหภูมิในช่วงเวลากลางคืนอยู่ที่ประมาณ ลบห้า (-5) องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูร้อนของแอนตาร์กติกา ดวงอาทิตย์ จึงไม่มีการลับขอบฟ้า ซึ่งหมายถึงการมีแสงแดดตลอด 24 ชั่วโมง” ศ.ดร.สุพจน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ได้รับการคัดเลือกและสนับสนุนจากสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งชาติประเทศญี่ปุ่น หรือ (National Institute of Polar Research)
และได้รับการสนับสนุนทุนเครื่องมือวิจัยจาก บริษัท รอลีอัล ประเทศไทย นับเป็นนักวิจัยคนเดียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผ่านการคัดเลือกให้ร่วมสำรวจในครั้งนี้ โดยมีกำหนดปฏิบัติการ ณ สถานีวิจัยโชวะและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นเวลา 8-9 สัปดาห์ และจะกลับถึงเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ปลายเดือนมีนาคม 2553 ด้วยเรือสำรวจทวีปแอนตาร์กติกญี่ปุ่น ลำที่ 4 ซึ่งเป็นเรือตัดน้ำแข็ง (Ice breaker) ลำใหม่ ที่มีชื่อว่า M/V Shirase II โดยวัตถุประสงค์หลักของคณะสำรวจญี่ปุ่นในครั้งนี้ เพื่อศึกษาผลจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม และศึกษาประสิทธิภาพของเรือสำรวจลำใหม่ นอกจากนั้น ยังมีเป้าหมายในการสร้างฐานความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นและไทยในการศึกษาวิจัยในอนาคต.