ป่วนใต้บึม ´ฮัมวี´ ทหารดับ1เจ็บ5

"ลอบวางระเบิด รถฮัมวีพลิกคว่ำ"


เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 28 ก.ย. ร.ต.ท.กฤษณะ เข็มกลัดทอง ร้อยเวร สภ.อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส รับแจ้งมีเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดทหารได้รับบาดเจ็บหลายนายบนถนนสายดอเหะกาวะ บริเวณบ้านเปาะเจ๊ะเต็ง หมู่ 1 ต.กาวะ จึงรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ จากนั้นรุดไปที่เกิดเหตุพร้อมด้วย พ.ต.อ.ปราบพาล มีมงคล ผกก. ร.ต.อ. ปรีชา กิ่มเกลี้ยง ผบ.ร้อย ฉก.1 นปพ.ภ.จ.นราธิวาส ร.ต.มกรา เขียวประเสริฐ ผบ.มว.ร้อย ร.6014 ฉก.39 และ พ.ต.ท. สุกิจ ขำมาก สว.นปพ.ภ.จ.นราธิวาส หน่วยเก็บกู้ระเบิดชุด เหยี่ยวดง

ในที่เกิดเหตุพบรถยนต์ฮัมวีของทหารพลิกคว่ำหงายท้องล้อชี้ฟ้า สภาพพังยับเยิน ใกล้กันพบหลุมระเบิดขนาดใหญ่ เศษชิ้นส่วนระเบิดแสวงเครื่อง และสายไฟลากจากจุดเกิดเหตุเข้าไปในป่าข้างทางยาวประมาณ 100 เมตรเมื่อเจ้าหน้าที่ตามเข้าไปตรวจสอบพบปืน .38 ของคนร้ายตกอยู่ 1 กระบอก ระเบิดแสวงเครื่องพร้อมใช้งานอีก 1 ลูกจึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน ส่วนทหารที่บาดเจ็บถูกนำส่ง รพ. สุไหงปาดี ก่อนหน้าแล้วรวม 6 นาย ทั้งหมดสังกัดร้อย ร.6014 ฉก.39 ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่สถานีอนามัยบ้านเปาะ เจ๊ะเต็ง ประกอบด้วย 1. ส.อ.พุทธา โพธิจักร์ ถูกระเบิดขาซ้ายขาด แพทย์ส่งตัวต่อไปที่ รพ.สุไหงโก-ลก เสียชีวิตเวลาต่อมา 2. พลทหารบรรพต จักร์กุพันธ์ ถูกระเบิดแขนซ้ายหัก 3. จ.ส.อ.อัมพร สมหมาน ถูกระเบิดมีบาดแผลบริเวณคิ้วขวาและแขนขวา 4. ส.อ.เผ่าพงศ์ เวียงคำ 5. พลทหารสมพงศ์ พลเพ็ง และ 6. พลทหารอัมพร ทิพวรรณ โดย 3 คนหลังถูกสะเก็ดระเบิดบริเวณร่างกายหลายแห่ง

"ซ่อนระเบิดใต้ถนน 15 กก."


สอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ จ.ส.อ.อัมพร สมหมาน หัวหน้าชุดคุ้มครองครู นำกำลังทหารรวม 6 นายนั่งรถยนต์ฮัมวีออกลาดตระเวนตรวจเส้นทาง เพื่อเตรียมให้ความคุ้มครองข้าราชการครูที่เข้าไปสอนหนังสือในพื้นที่ โดยมี ส.อ.พุทธา โพธิจักร์ เป็นพลขับ ขณะรถวิ่งผ่านไปถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นที่เปลี่ยว คนร้ายซึ่งลอบวางระเบิดแสวงเครื่องหนักประมาณ 15 กก. ไว้ใต้พื้นถนน ได้กดชนวนระเบิดที่เชื่อมต่อเข้ากับแบตเตอรี่ เกิดระเบิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว แรงระเบิดทำให้รถพลิกคว่ำ เป็นเหตุให้ทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บ ระหว่างนั้นทหารอีกส่วนหนึ่งซึ่งประจำอยู่ที่ฐานปฏิบัติการสถานีอนามัยเปาะเจ๊ะเต็ง และฐานปฏิบัติการบ้านบาโงสนิง รับแจ้งเหตุนำกำลังไปสมทบ เกิดยิงปะทะกับคนร้ายนานราว 5 นาที กลุ่มคนร้ายจึงล่าถอยเข้าป่าไป ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ปลอดภัยพร้อมกันนี้กำลังทหารเร่งติดตามไล่ล่ากลุ่มคนร้ายเร่งด่วนแล้ว

เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน ร.ต.ท.วรศักดิ์ รอดสัมฤทธิ์ ร้อยเวร สภ.อ.สายบุรี จ.ปัตตานี นำกำลังไปตรวจที่เกิดเหตุยิงกันตายบนถนนสายปัตตานี-นราธิวาส หมู่ 3 ต.ตะบิ้ง พบรถกระบะยี่ห้อมาสด้า ทะเบียน บฉ 6585 ปัตตานี เป็นรถรับส่งนักเรียน จอดอยู่ตรงจุดยูเทิร์น ตรงเบาะนั่งคนขับพบร่างผู้เสียชีวิต ทราบชื่อนายอาณัต เพ่งเอียด อายุ 35 ปี บ้านเลขที่ 85 หมู่ 5 ต.แป้น อ.สายบุรี มีบาดแผลถูกยิงด้วยปืน 11 มม. เข้าลำตัว 2 นัด ค้นในตัวพบปืน .38 เหน็บอยู่ที่เอว ตรงพื้นถนนพบปลอกกระสุนปืน 11 มม. 5 ปลอก จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน สอบสวนทราบว่านายอาณัตมีตำแหน่งเป็นสมาชิก อบต.แป้น ก่อนเกิดเหตุขับรถคันดังกล่าวกลับจากส่งนักเรียนในตัวอำเภอแล้วมุ่งหน้ากลับบ้าน ถึงที่เกิดเหตุมีคนร้าย 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์ตามประกบยิงเสียชีวิต เบื้องต้นคาดว่าเป็นฝีมือของโจรใต้ต้องการสร้างสถานการณ์

"อาก้ายิงถล่ม"


ต่อมาช่วงเย็นวันเดียวกัน พ.ต.ท.นรัตน์ เทพเฉลิม รอง ผกก. (สส.) สภ.อ.มายอ จ.ปัตตานี นำกำลังไปสอบสวนเหตุยิงกันบนถนนสายบ้านลาเกาะ-บ้านยือราแป หมู่ 3 บ้านควนหยี ต.ปะโด พบรถกระบะ ยี่ห้อโตโยต้า ทะเบียน น-1419 ยะลา ตกอยู่ในคูน้ำข้างทาง กระจกด้านคนขับมีรอยกระสุนปืน 2 รู ส่วนผู้บาดเจ็บถูกนำส่งรพ.มายอ ก่อนหน้าแล้ว ทราบชื่อนายแฉล้ม แก้วมณี อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 119/1 หมู่ 3 ต.ปะโด ถูกยิงด้วยปืน 11 มม. เข้าลำตัว 1 นัด เสียชีวิตเวลาต่อมา สอบสวนทราบว่านายแฉล้มเป็นนักการภารโรงอยู่ สำนักงานเกษตรอำเภอมายอ ก่อนเกิดเหตุขณะขับรถยนต์จะกลับบ้านหลังเลิกงาน ถึงที่เกิดเหตุถูก 2 คนร้ายขี่รถจักรยานยนต์ตามประกบยิงเสียชีวิต ตำรวจเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มโจรใต้ที่ต้องการสร้างสถานการณ์

อีกรายขณะนายเจ๊ะมิง วาเลาะ อายุ 46 ปี บ้านเลขที่ 12/4 หมู่ 4 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา มีตำแหน่งเป็นสมาชิก อบต.อัยเยอร์เวง ขับรถจี๊ปคาริเบียน กลับจากทำละหมาดที่มัสยิดในหมู่บ้าน มุ่งหน้ากลับบ้าน โดยมี ด.ช.มะราซู วาเลาะ อายุ 6 ขวบ ลูกชายนั่งเบาะซ้ายคู่คนขับ ระหว่างรถวิ่งมาตามถนนเข้าหมู่บ้านห่าง จากมัสยิดเล็กน้อย ถูกกลุ่มโจรใต้ประมาณ 4 คน ดักซุ่มอยู่ในป่าข้างถนน ใช้ปืนอาก้ายิงถล่มเข้าใส่รถของนายเจ๊ะมิงหลายสิบนัด กระสุนถูกนายเจ๊ะมิงบริเวณแขนขวาได้รับบาดเจ็บ ส่วน ด.ช.มะราซูถูกกระสุนที่มือซ้ายบาดเจ็บ ก่อนที่คนร้ายจะหลบหนีไป ชาวบ้านประสบเหตุช่วยเหลือนำสองพ่อลูกส่ง รพ.เบตง อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้หน่วยข่าวในพื้นที่พบความเคลื่อนไหวของคนร้ายเตรียมแผนลอบสังหารผู้นำท้องถิ่น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นมุสลิม โดยใช้ช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นช่วงถือศีลอด และเจ้าหน้าที่จะต้องเดินทางไปละหมาดลงมือก่อเหตุ พร้อมกับแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ทราบมาโดยตลอด

"อยากให้แสดงตัวร่วมกันสร้างสันติสุข"


ที่ห้องประชุมกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสส.จชต.) ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.สสส.จชต.ได้เชิญผู้นำศาสนา ประธานชมรม กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุมกว่า 80 คน เพื่อหารือแนวทางการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน โดย พล.ท.องค์กรกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อชี้แจงถึงนโยบายของ ผบ.ทบ.ที่ต้องการขจัดบรรดาข้าราชการที่สร้างความเดือดร้อนให้ กับประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีข้าราชการบางคนไปสร้างอำนาจให้กับตัวเองแล้วไปสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ดังนั้นได้ขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนาก็ดี ผู้นำท้องถิ่นก็ดี เพื่อให้มา ช่วยกันร่วมมือกันสร้างความสันติสุขขึ้นในพื้นที่ พร้อมกันนี้จะได้รับฟังความคิดเห็นของผู้นำศาสนา และผู้นำท้องถิ่น นำไปเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป

นายนิมุ มะกะเจ อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลา กล่าวว่า ในการประชุมได้เสนอเกี่ยวกับการถือศีลอดของชาวมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวัง เช่น การเดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนาของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ในช่วงเวลากลางคืน ทางเจ้าหน้าที่ต้องเข้าใจว่าพี่น้องมุสลิมจะมีการรวมกลุ่มกันบ้างในช่วงนี้ สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาเห็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงของการปฏิรูปการปกครอง ก็อยากจะเปิดโอกาสให้กลุ่มก่อความไม่สงบ หรือผู้ที่หลงผิดออกมาแสดงตัว หรือรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อมาเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะต้องจัดกิจกรรมเพื่อให้กลุ่มข้าราชการกับประชาชนมีความเข้าใจที่ดีต่อกัน ไม่หวาดระแวงซึ่งกันและกัน

"ต้องสร้างความมั่นใจให้ ปชช."


ทางด้านนายสุจริต ปัจฉิมนันท์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการลอบทำร้ายทหารชุดคุ้มครองครูที่ จ.นราธิวาส เสียชีวิตและบาดเจ็บว่า ทาง กอ.สสส.จชต. เป็นผู้ดูแลควบคุมสถานการณ์อยู่แล้ว ดังนั้นต้องให้เวลาในการทำงาน เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว สิ่งจำเป็นที่สุดคือต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่ายังมีความปลอดภัยภายใต้การดูแลของหน่วยงานรัฐ ตนมีข้อเสนอว่าการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรต้องมีกำลังที่เป็นกึ่งพลเรือนกึ่งทหารเข้าไปดูแล ขณะนี้ทางกองทัพบกกำลังมีการจัดตั้งกองร้อยทหารพรานลงไปในพื้นที่ เพื่อเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ โดยจะกระจายกำลังลงไปตามจุดต่างๆ และอยู่ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ เชื่อมั่นว่าการปฏิบัติการดังกล่าวจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ให้ความร่วมมือในการแจ้งข่าวสารกับทางการได้อย่างทั่วถึง

พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวชี้แจงการสับเปลี่ยนกำลังปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2550 ว่า เนื่องจากกำลังพลของกองทัพบกที่ปฏิบัติงานในภารกิจสนับสนุนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2549 จะครบกำหนด จึงจำเป็นต้องมีการผลัดเปลี่ยนกำลังพล โดยเฉพาะกำลังพลในตำแหน่งพลทหารกองประจำการที่ต้องปลดประจำการในเดือน ต.ค. 2549 ซึ่งจะเคลื่อนย้ายในห้วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 2549 สำหรับหน่วยที่จะสับเปลี่ยนประกอบไปด้วย ร.31 พัน.2 รอ., ร.25 พัน.2, บก.ร.2 รอ., ร.2 พัน.3 รอ., ร.19 พัน.1, พัน.พท.102 ในส่วนของหน่วยรับการสับเปลี่ยน ได้แก่ ร.1 พัน.3 รอ., ร.29 พัน.1, ร.16 พัน.2, บก.ร.12 รอ., ร.21 พัน.2 รอ., ร.12 พัน.1 รอ., ร.8 พัน.2 จึงแจ้งให้ประชาชนรับทราบ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดโดยทั่วกัน

"ให้ พล.อ.วินัย จัดการแทน"


เย็นวันเดียวกัน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีคำสั่งที่ 19/2549 ข้อความดังนี้ เรื่อง แก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ออกตามความในพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยที่เป็นการทบทวนแก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงให้ยกเลิกความในข้อ 5 (1) และ (23) ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2548 เรื่องการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และคณะที่ปรึกษา ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2548 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (1) เลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประธานกรรมการ (23) เสนาธิการทหารบกกรรมการและเลขานุการร่วม สั่ง ณ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2549 พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข

จากคำสั่งดังกล่าวนี้ซึ่งจากเดิมมี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งควบคุมดูแลการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบ เปลี่ยนมาเป็น พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คปค. รับผิดชอบดูแลควบคุมการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแทน


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์