ตั้ง13ข้อหา1นายจ้างทารุณเด็กลาว ปดส.ขยายผลจับนายหน้า2ประเทศ

"โดน 13 ข้อหา"


พม.ประสานมูลนิธิผู้หญิง ปดส. ช่วย 18 เด็กชาวลาวตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในโรงงานทำถุงมือย่านทุ่งครุ ถูกทำร้ายร่างกาย ใช้ทำงานวันละกว่า 16 ชม. ให้เงินเดือนละ 100-600 บาท เตรียมประสาน ส.ป.ป.ลาว ส่งกลับประเทศ หลังฟื้นฟูสภาพกาย-ใจที่บ้านเกร็ดตระการ ด้าน 4 นายจ้างถูกตั้ง 13 ข้อหา ยอมจ่ายค่าชดเชยแล้ว 1 ล้าน ปดส.เตรียมขยายผลสู่การจับกุมนายหน้าฝั่งไทยและฝั่งลาว

เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่บ้านเกร็ดตระการ จ.นนทบุรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธิผู้หญิง และกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี (ปดส.) ร่วมกันแถลงข่าวการช่วยเหลือหญิงและเด็กจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว) ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวน 18 คน จากโรงงานทำถุงมือ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กทม.

"ส่งเด็กเข้าบ้านปากเกร็ด"


นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัด พม. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา บ้านเกร็ดตระการ สังกัด พม. ร่วมกับมูลนิธิผู้หญิง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปดส. พร้อมหมายค้นจากศาลอาญาธนบุรี เดินทางไปยังโรงงานทำถุงมือ เป็นตึกแถว 5 ชั้น 2 คูหา อยู่ระหว่างซอยพุทธบูชา 44/1-44/3 เขตทุ่งครุ จากการเข้าตรวจค้นพบหญิงและเด็กลาวจำนวน 18 คน เป็นเด็กหญิง 15 คน ผู้หญิง 2 คน และผู้ชาย 1 คน กำลังผลิตถุงมือ

เจ้าหน้าที่ได้จับกุมนายจ้าง 4 คน ตั้งข้อหารวม 3 ข้อหา คือ 1.ร่วมกันให้ที่พักพิง ซ่อนเร้นคนต่างด้าว 2.ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือกักขัง เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ และ 3.ร่วมกันเป็นนายจ้างใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง ส่วนหญิงและเด็ก 17 คน ส่งเข้ารับการคุ้มครองที่บ้านเกร็ดตระการ ผู้ชาย 1 คน ส่งเข้ารับการคุ้มครองที่สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด

"เด็กถูกจับขณะตักน้ำกลางทุ่งนา ส่งเข้าไทย"


"ทั้ง 17 คนต้องอยู่รวมกันในห้องขนาด 2X3 เมตร 2 ห้อง ลักษณะงานที่ต้องทำเป็นงานแพ็คถุงมือและนำถุงมือใส่เครื่องจักรเพื่อเย็บ ต้องทำงานตั้งแต่เวลา 05.30-22.00 น.โดยไม่มีวันหยุด ถูกทำร้ายร่างกาย กักขังไม่ให้ออกนอกโรงงาน นายจ้างให้เบิกเงินได้ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง ครั้งละ 50-300 บาท" นายวัลลภ กล่าว

ปลัด พม. กล่าวว่า การช่วยเหลือในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากเมื่อประมาณปลายปี 2548 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนำส่งเด็กหญิงสัญชาติลาว 2 คน เข้ารับการคุ้มครองที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ บ้านเกร็ดตระการ จากการสัมภาษณ์ทราบว่า เด็กทั้งสองหนีจากโรงงานทำถุงมือ หลังจากถูกชายแปลกหน้าจับขึ้นรถตู้ขณะออกไปตักน้ำกลางทุ่งนา ในแขวงสะหวันเขต แล้วนำเข้าประเทศไทยทาง อ.เขมราฐ และส่งต่อให้นายหน้าฝั่งไทยนำส่งให้โรงงานทำถุงมือ และยังมีเพื่อนอยู่ที่โรงงาน แต่ทั้งสองจดจำสถานที่ตั้งโรงงานไม่ได้

"ประสานงานเข้าช่วยเหลือเด็ก"


นายวัลลภ กล่าวว่า ต่อมากลางเดือนกรกฎาคม 2549 มูลนิธิผู้หญิงได้คัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่า มีเด็กหญิงสัญชาติลาว 1 คน ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยมีลักษณะงานที่ทำคล้ายกับเด็กหญิง 2 คนแรก จึงส่งเด็กเข้าบ้านเกร็ดตระการ เมื่อทั้งสามคนได้พบกันก็ทราบว่าเคยอยู่โรงงานเดียวกัน และประสานมูลนิธิผู้หญิงนำเด็กไปชี้ที่เกิดเหตุ ก่อนที่จะนำเรื่องเข้าแจ้ง ปดส. เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเด็กในโรงงานออกมาได้ทั้งหมด

ปลัด พม. กล่าวอีกว่า ขณะนี้หญิงและเด็กทั้ง 17 คน ได้รับการคุ้มครองและฟื้นฟูสภาพจิตใจและร่างกายที่บ้านเกร็ดตระการ และเนื่องจากทั้ง 17 คนมีอายุการทำงานตั้งแต่ครึ่งเดือน-6 ปี จึงประสานกระทรวงแรงงานเรียกร้องค่าจ้างให้กับทั้ง 17 คน ซึ่งนายจ้างยอมจ่ายทั้งสิ้นรวม 1 ล้านบาท จ่ายให้ผู้ตกเป็นเหยื่อตามอายุการทำงาน โดยผู้ที่ได้รับค่าจ้างต่ำสุดจำนวน 3,000 บาท และสูงสุด 160,000 บาท นอกจากนี้ ได้ส่งข้อมูลให้กับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการของ ส.ป.ป.ลาว ติดตามสืบหาครอบครัวเพื่อส่งกลับประเทศต่อไป

"เตรียมขยายการจับกุมนายหน้าทั้งสองฝั่ง"


พ.ต.ท.ชาคร ศรีวัฒนประยูร สารวัตรงาน 1 กองกำกับการ 3 ปดส. กล่าวว่า ในวันเข้าตรวจค้นได้ตั้ง 3 ข้อหากับ 4 นายจ้าง ต่อมาได้แจ้งเพิ่มอีก 10 ข้อหา รวมเป็น 13 ข้อหา โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรอนัดสอบปากคำตาม ป.วิอาญา ทั้งนี้ โทษที่จำได้รับขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล แต่ในข้อหาร่วมกันให้ที่พักพิง ซ่อนเร้นคนต่างด้าว โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนข้อหาร่วมกันเป็นนายจ้างใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง โทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"ปดส.ไม่ได้ดำเนินงานจบเพียงแค่การให้ความช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อและดำเนินการตามกฎหมายกับนายจ้างเท่านั้น แต่จะขยายผลสู่การจับกุมนายหน้าฝั่งไทยและฝั่งลาวด้วย โดยจะทำงานประสานระหว่าง 2 ประเทศอย่างเป็นระบบครบวงจร" พ.ต.ท.ชาคร กล่าว

ด้าน นายสิงคำ แก้ววิไลวรรณ เลขานุการเอก สถานทูต ส.ป.ป.ลาว ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ได้รับการคุ้มครองและฟื้นฟูแล้ว ควรส่งกลับบ้านโดยเร็ว เพราะพ่อแม่จะเป็นห่วงว่าลูกเป็นอย่างไรบ้าง รอดพ้นจากอันตรายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่และกฎหมายของประเทศไทย และต้องมีการทำงานร่วมกันของทั้งสองประเทศต่อไป


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์