สลดเครียดนํ้าท่วมชาวนาซดพิษฆ่าตัว ´พิษณุโลก´ ตายอีก3

"เครียดจัดฆ่าตัวตาย"


ผลของอุทกภัยทางภาคเหนือตอนล่างส่งผลให้ ประชาชนเครียดจัดถึงขั้นฆ่าตัวตายแล้ว โดยเมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 15 ก.ย. ร.ต.อ.อภิชาติ พรหมสงค์ ร้อยเวร สภ.อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ได้รับแจ้งมีคนฆ่าตัวตายที่บ้านเลขที่ 153 หมู่ 1 บ้านไหล่โพธิ์ ต.ปลักแรด อ.บางระกำ หลังรับแจ้งได้ไปตรวจสอบ บ้านดังกล่าวเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง ในห้องนอนพบศพนายรูป แสงศิริ อายุ 50 ปี เจ้าของบ้าน แพทย์เวรจากโรงพยาบาลบางระกำร่วมชันสูตร สภาพศพนอนหงาย ไม่สวมเสื้อ ใส่กางเกงขาสั้นสีดำ น้ำลายฟูมปาก มีคราบสีขาวไหลออกมาเปรอะถึงหน้าอก ข้างศพมีขวดยาฆ่าหอยเชอรี่วางอยู่

นายแดง แสงศิริ อายุ 19 ปี บุตรชาย ให้การว่าน้ำไหลท่วมที่นากว่า 30 ไร่ ทำให้นายรูปผู้เป็นพ่อเสียใจและเครียดจัด หลายครั้งพร่ำบ่นอยู่คนเดียวคล้ายคนมีอาการทางประสาทจนมีปากเสียงกับแม่ และในที่สุดแม่ทนไม่ไหวเก็บเสื้อผ้าออกไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว หลังจากนั้นพ่อก็เงียบเศร้าซึมเอาแต่กินเหล้าและบ่นกับเพื่อนบ้านว่าคิดถึงแม่ที่อยู่กินกันมากว่า 20 ปี นอกจากนี้ ยังกลุ้มใจเรื่องน้ำท่วมที่นาจนเสียหายหมดตัว กระทั่งเมื่อเช้าตนตื่นนอนเห็นพ่อกินยาฆ่าหอยเชอรี่ฆ่าตัวตายแล้วจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ


"7 ขวบ น้ำท่วมสูงจมน้ำดับ"


ขณะเดียวกันมีผู้เสียชีวิตอีกรายชื่อ ด.ช.สิทธา ศรีประดิษฐ์ อายุ 7 ขวบ อยู่บ้านเลขที่ 154 หมู่ 9 ต.หินลาด อ.วัดโบสถ์ ไปเล่นน้ำกับเพื่อนกลางทุ่งนาใกล้บ้านที่น้ำท่วมสูงและจมน้ำตาย นอกจากนี้ที่ อ.วังทอง นางพิกุล บุตรจันทร์ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 154/2 หมู่ 14 ต.ท่าหมื่นราม เดินลุยน้ำที่ท่วมสูง 40 เซนติเมตร จะกลับบ้านซึ่งข้างทางมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากน้ำท่วมหมดทำให้มองไม่เห็นเลยพลัดตกลงไปจมน้ำตาย สำหรับ จ.พิษณุโลกมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากน้ำท่วมรวม 8 รายแล้ว

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมโดยทั่วไป ระดับน้ำที่จุดวัดหลังที่ว่าการ อ.บางระกำ สูงกว่าจุดวิกฤติ ราษฎรใน ต.ท่านางงาม และ ต.ชุมแสงสงคราม ต้องขนข้าวของและสัตว์นับร้อยตัวหนีน้ำไปอยู่บนทางหลวงชนบท ขณะเดียวกันสัตว์เลี้ยงทยอยตายลงทุกวันส่งกลิ่นเหม็น ส่วนชาวบ้านชุมชนบ้านปากคลอง หมู่ 7 ต.บางระกำ กว่า 100 ครัวเรือนยังต้องอาศัยอยู่บนไหล่ถนนสายพิษณุโลก-บางระกำ


"พท.เกษตรเสียหายกว่า 3 แสนไร่"


คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รักษาการ รมว.เกษตรฯได้ไปตรวจสถานการณ์ที่ อ.บางระกำ นายพิพัฒน์ วงศาโรจน์ ผวจ.พิษณุโลก และนายพิชัย รัตนานคร ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สำนักชลประทานที่ 3 พิษณุโลก ร่วมกันรายงานว่า มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 6 อำเภอ พื้นที่การเกษตรเสียหาย 300,000 ไร่ ยังมีบ้านเรือนและโรงเรียนอีกจำนวนมาก ส่วนอำเภอที่เสียหายมากที่สุดคือ อ.บางระกำ

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาต้องทำทั้งระบบ กรม ชลประทานวางแนวทางพัฒนาโครงข่ายแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่านเริ่มตั้งแต่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ที่จะผันน้ำส่วนหนึ่งลงสู่แม่น้ำน่านที่ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ และอีกส่วนหนึ่งจะระบายเข้าสู่ อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เมื่อมาถึงเขต อ.บางระกำจะผันน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่านอีก 2 จุดที่คลองชลประทานโดยใช้เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนนเรศวร และเขื่อนเจ้าพระยาควบคุมระดับน้ำ แต่ใช้งบประมาณสูงจึงไม่มีความคืบหน้า


"น้ำท่วมมหาวิทยาลัย เร่งรับส่ง นศ.ออกจากหอ"


ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รักษาการ รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า การแก้ปัญหามีแผนงาน 13 โครงการ เชื่อมเส้นทางการระบายน้ำจากแม่น้ำยมลงแม่น้ำน่านที่ จ.สุโขทัยและพิษณุโลก รวมทั้งสิ้น 5 เส้นทางและจะทำฝายยางที่ จ.พิจิตรและสุโขทัย เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงอากาศแล้ง ที่ผ่านมาแผนงานนี้อยู่ในโครงการเมกะโปรเจกต์ 20,000 ล้านบาทผ่าน ครม.ไปแล้ว แต่เกิดปัญหาการประท้วง การเมืองไม่นิ่งทำให้งานสะดุด จะเสนอ ครม.อีกครั้ง ใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท

รมว.เกษตรฯเผยอีกว่า ขั้นต่อไปจะพิจารณาอ่างเก็บน้ำ 2 แห่งที่ได้สำรวจออกแบบไว้แล้วคืออ่างเก็บน้ำคลองชมพู อ.เนินมะปราง จะช่วยป้องกันพื้นที่น้ำท่วม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลกกับ อ.เมืองพิจิตร และอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำเข็กใหญ่ จ.เพชรบูรณ์ จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก และจะขุดลอกลำน้ำยมอีก 47 กิโลเมตร สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมหลังมหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมืองพิษณุโลกนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตชด.ยังต้องนำเรือช่วยรับส่งนักศึกษาออกจากหอพักพร้อมกับเร่งสูบน้ำออก


"น้ำไหลบ่าท่วมซ้ำ"


ที่ จ.สุโขทัย ฝนตกหนักจนหลายตำบลใน อ.กงไกรลาศน้ำท่วมขัง ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังมีน้ำท่วมในเขต อ.บ้านด่านลานหอย อ.ศรีสัชนาลัย น้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ท่าแพล้นสปริงเวย์ไหลบ่าเข้าท่วมซ้ำ ขณะเดียวกันเกิดข่าวลือว่าอ่างเก็บน้ำมีรอยร้าว ทำให้ชาวบ้านหวั่นเกรง ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ

ส่วน จ.พิจิตร ระดับน้ำในแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านทุกอำเภอสูงเกินจุดวิกฤติ ทำให้น้ำล้นท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรสองฝั่ง โรงเรียนทยอยปิดอีกหลายแห่ง ราษฎรหลายหมู่บ้านต้องขนข้าวของมาอาศัยนอนบนถนนเนื่องจากน้ำท่วมบ้าน นางไม้ กันเจียก อายุ 93 ปี บ้านอยู่หมู่ 8 ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง บอกว่า สร้างกระท่อมอยู่คนเดียว ลูกหลานไปทำงานต่างจังหวัดกันหมด ทุกคนในหมู่บ้านต้องช่วยตัวเอง ตนเอาเรือที่มีอยู่มาซ่อม โดยอุดรูรั่วแล้วพายออกมา


"อาจเกิดแผ่นดินไหว"


ขณะที่ จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้าตรวจสอบรอยแยกรูปตัวยูกว้าง 30 เซนติเมตร ลึก 1 เมตร ยาวกว่า 1 กิโลเมตรในหมู่บ้านทรายกาด ต.ตับเต่า อ.เทิง หลังจากนั้นได้ให้ประชาชนในพื้นที่เคลื่อนย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะเชื่อว่ามีแนวโน้มจะขยายวงกว้างออกไปอีก อาจเกิดแผ่นดินทรุดหรือดินถล่มตามมา หลายครอบครัวยอมอพยพ ส่วนคนที่ยังไม่ไปเพราะห่วงบ้านเรือนและทรัพย์สินช่วยกันจัดเวรยามเฝ้าติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง

ภาคกลาง ที่ จ.ระยอง น้ำท่วมขังในตัวเมืองหลังฝนตกหนัก สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดเตือนพื้นที่เสี่ยงในอำเภอแกลงและกิ่งอำเภอเขาชะเมาระวังดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลัน


"อุตุฯเตือน ระวังน้ำท่วมเฉียบพลัน"


กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้มีฝนตกหนักในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี สระแก้ว เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต ต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่า

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.มหาดไทย กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยยังไม่ทั่วถึง พื้นที่ห่างไกลยังเข้าไปไม่ได้ จึงกำชับ ผวจ.และนายอำเภอให้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือระดับ อบต.ขึ้น ส่วนถนนที่ขวางทางน้ำกว่า 1,000 จุดนั้น นายกรัฐมนตรีสั่งให้กรมชลประทานเป็นเจ้าของเรื่องเร่งแก้ไข อาจทำสะพานหรือบล็อกคอนเวิร์สในช่วงที่ทางน้ำกว้าง ทางน้ำแคบให้ทำเป็นอุโมงค์

สำหรับถนนที่จะสร้างใหม่ทุกสายจะให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันก่อน โดยต้องดูเรื่องการระบายน้ำด้วย ไม่ใช่เพื่อการคมนาคมอย่างเดียว ด้านกรุงเทพมหานครนั้น แม่น้ำเจ้าพระยายังรับน้ำได้อีก หากจะเกิดอุทกภัยต้องมีปริมาณน้ำ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีและต้องดูน้ำทะเลหนุนด้วย แต่ได้เตรียมป้องกันตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ลงมาอยู่แล้ว ด้านการแก้ปัญหาแบบครบวงจรนั้น มีแผนระบายน้ำทั้งสองฝังเจ้าพระยา โดยกรม ชลประทานอยู่ระหว่างพิจารณา


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์