กรุงเทพฯ 25 ส.ค.- นักวิชาการจุฬาฯ เผยหัวเชื้อไวรัส ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ชนิดเชื้อเป็นพบมีการผ่าเหล่าเปลี่ยนรหัสพันธุกรรม ใน 8 ตำแหน่ง เตรียมถก อย.บ่ายวันนี้ หากพบไม่ปลอดภัย เล็งใช้หัวเชื้อจากจีน แนะ สธ.เร่งวิเคราะห์กลุ่มเสี่ยงทั้งผู้ป่วยและเสียชีวิตเพื่อหาเกณฑ์บุคคลที่เหมาะสมได้รับวัคซีน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
ในการประชุมประกาศเจตนารมณ์โครงการรณรงค์การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรเร่งประเมินเกณฑ์อายุและกลุ่มเสี่ยงของผู้ควรได้รับวัคซีนให้ชัดเจน ทั้งวัคซีนที่สั่งซื้อจากฝรั่งเศส จำนวน 1 ล้านโดส และวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่ผลิตในไทย ขณะนี้สหรัฐอเมริกาได้ประเมินผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว โดยนำเกณฑ์จากกลุ่มผู้ป่วยในโรงพยาบาลและวิเคราะห์กลุ่มผู้เสียชีวิตให้ได้จำนวนผู้ที่เหมาะสมได้รับวัคซีน ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์และกลุ่มประชากร ที่อาศัยอยู่ในบ้านกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มคนอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 24 ปี และกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวและไม่มีโรคประจำตัว ในอายุระหว่าง 25-64 ปี แต่สำหรับประเทศไทย ควรเริ่มประเมินจากกลุ่มผู้ที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดรุนแรงได้ง่าย กลุ่มผู้ที่มีอาการของโรคปอดบวมและเสียชีวิต และกลุ่มคนที่ติดเชื้อได้ง่าย เพื่อให้ได้รับวัคซีนที่มีจำนวนจำกัดอย่างเหมาะสมเพราะการจะฉีดวัคซีนให้ครบทุกคนนั้น ไม่สามารถทำได้
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ของการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นในไทย ทราบจาก
ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์วิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ขณะนี้หัวเชื้อไวรัส ที่จะใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่นำมาจากรัสเซียและอยู่ในระหว่างการทดลองนั้น จากการถอดรหัสพันธุกรร,ของมหาวิทยาลัยมหิดล พบมีการผ่าเหล่า เปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมใน 8 ตำแหน่ง จึงถือว่าเป็นหัวเชื้อที่ไม่มีความเสถียร และเมื่อฉีดพ่นเข้ารูจมูกถูกความร้อนเชื้อก็จะตายทันที เสี่ยงกับการกลายพันธุ์ โดยบ่ายวันนี้จะมีการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าว ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะแก้ไขได้หรือไม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมดังกล่าว หากมีการเปลี่ยนแปลงในจุดที่อ่อนแรง อาจทำให้ไวรัสมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น และในการผลิตวัคซีน อาจไม่คงที่และปลอดภัย จึงต้องมีการหารือว่า จะต้องมีการเดินหน้าผลิตวัคซีนต่อไปหรือไม่ หรือต้องมีการแก้ไขอย่างไร เบื้องต้นจะได้มีการหารือกับผู้เชี่ยวชาญ เตรียมสำรองหัวเชื้อไวรัส ชนิดเชื้อเป็น จากประเทศจีนไว้แล้ว แต่ต้องรอข้อสรุปอย่างเป็นทางการของ อย.อีกครั้ง
พร้อมกันนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาและอุปสรรคของการผลิตวัคซีนของไทย ยังพบเรื่องของไข่ไก่ ที่เพาะเชื้อไม่ได้ปริมาณมากเพียงพอ
และโรงงานผลิตวัคซีนที่ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน ว่าจะเลือกโรงงานใดในการต่อยอดทดลองวัคซีน เพราะขณะนี้คาดว่า องค์การอนามัยโลก ได้ประเมินโรงงานผลิตวัคซีนในสัตว์ของกรมปศุสัตว์ที่จังหวัดนครราชสีมา พบว่ามีประสิทธิภาพดีสามารถเปลี่ยนแปลงนำมาเป็นโรงงานผลิตวัคซีนในคนได้ทันทีเพียงใช้ระยะเวลา 3 เดือน และงบประมาณ 80 ล้านบาท ก็สามารถต่อยอดผลิตวัคซีนได้ ซึ่งขณะนี้ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีความขัดแย้ง ตั้งแต่สมัยการระบาดของโรคไข้หวัดนก จึงทำให้ไม่อาจประสานหรือยอมร่วมมือกันได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อยากให้ยุติเรื่องปัญหาความขัดแย้งและสนับสนุนเรื่องนี้ เพื่อให้ไทยมีความมั่นคงด้านระบบสาธารณสุข และยังจะส่งผลให้การผลิตวัคซีนสามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้น ดีกว่ารอโรงงานใหม่ ที่ยังไม่เห็นรูปร่างภายใน 2 ปีนี้
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า หากจะให้มีการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นให้เพียงพอกับจำนวนประชากร ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการระบาดจะต้องประมาณ 40 ล้านคน
ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการผลิตวัคซีนถึง 17 เดือน เป็นระยะเวลาที่นานมาก และถ้าต้องรอหาโรงงานที่เหมาะสมทั้งกระบวนการก่อสร้างใหม่ และปัญหาอุปสรรคจากสิ่งที่เกิดขึ้นต้องใช้ระยะเวลาอีก 74 เดือน จึงจะสามารถผลิตเสร็จ แต่หากมีการปรับโรงงานใหม่ โดยใช้โรงงานจากกรมปศุสัตว์ก็จะลดระยะเวลาในการผลิตวัคซีนได้มากขึ้น.-สำนักข่าวไทย