นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า กาฬโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีลักษณะเป็นแท่ง
ชื่อเยอซิเนีย เพสทิส (Yersinia pestis) การติดต่อเกิดได้จากการหายใจเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจามหรือจากการที่หมัดไปกัดสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต กระต่าย แมวและสุนัขที่มีเชื้อแล้วมากัดคน โดยหมัดมีขนาดไม่กี่มิลลิเมตรแต่สามารถกระโดดได้ไกลถึง 1 เมตร หรือ 200 เท่าของขนาดตัว
“หลังจากที่คนได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ จะมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-7 วัน จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการด้วยการมีไข้ ตามด้วยต่อมน้ำเหลืองโตและแตก เชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือด โดยเฉพาะจะไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดบวมและเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมง การรักษาสามารถใช้ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่แล้วในโรงพยาบาลต่างๆรักษาได้ หากเทียบกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 กาฬโรคจะติดต่อยากกว่าแต่มีความรุนแรงของโรคสูงกว่ามาก อัตราป่วยตายสูงถึง 30-60 %”นพ.โอภาสกล่าว
นพ.ภาสกร อัศวเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคกาฬโรคครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2495 ที่จ.นครสวรรค์
โดยพบผู้ป่วยประมาณ 8 คน แต่เป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองไม่ใช่กาฬโรคปอดที่พบในประเทศจีน ส่วนในประเทศใกล้เคียงมีรายงานพบผู้ป่วยที่ประเทศจีนและชายแดนประเทศอินเดียและบังคลาเทศเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา จากนั้นไม่พบรายงานผู้ป่วยจากโรคนี้อีก การพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในประเทศจีนอีกครั้งจึงถือว่ากาฬโรคเป็นโรคอุบัติซ้ำ
ผอ.สำนักระบาดวิทยา กล่าวอีกว่า การที่ทางการจีนประกาศให้พื้นที่ที่มีการระบาดของโรคกาฬโรคปอดเป็นเขตโรคติดต่อร้ายแรง ทำให้มีการกักคนไม่ให้เข้าและออกพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว
ประเทศไทยจึงไม่จำเป็นต้องประกาศเตือนไม่ให้มีการเดินทางไปยังพื้นที่มณฑลชิงไห่ เช่นเดียวกับ ไม่จำเป็นต้องกักบริเวณผู้ที่เดินทางมาจากเมืองดังกล่าวในรอบ 7 วันที่ผ่านมาซึ่งถือเป็นระยะการฟักตัวของโรค เนื่องจากโรคนี้จะติดต่อจากคนสู่คนในระยะที่เชื้อลงปอดจนทำให้เกิดการไอ โดยปกติผู้ป่วยที่เชื้อลงปอดจะมีอาการรุนแรง เกิดภาวะปอดบวมต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่สามารถมีเรี่ยวแรงออกมาเดินตามสถานที่สาธารณสุขได้เหมือนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่สามารถแพร่เชื้อได้แม้อาการไม่รุนแรง
ด้านนพ.สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วิธีการสังเกตหากเริ่มมีการระบาดของโรคนี้ในพื้นที่ คือ มีหนูตายจำนวนมาก
การป้องกันที่ดีที่สุด ประชาชนต้องดูแลสุขาภิบาลในบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ไม่ให้รกรุงรัง จนกลายเป็นที่อยู่อาศัยของหนูที่เป็นพาหะที่สำคัญของโรคนี้และโรคอื่นๆ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบกรมควบคุมโรคจับตาสถานการณ์การระบาดของกาฬโรคในจีน และประสานข้อมูลกับองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด ชี้ประเทศไทยไม่พบโรคนี้มาเป็นเวลา 57 ปีแล้ว แต่ยังไม่ละเลยการเฝ้าระวังโรคหวนกลับ