ทั่วโลกเรียกร้อง อิสรภาพ ซูจี อดีตทูตฯชี้โทษหนัก

"ปกศักดิ์"  อดีตทูตฯไทยประจำพม่า ระบุ มีไม่กี่ประเทศแสดงความห่วงใย อองซาน ซูจี มองแรงบีบยังน้อยเกินไป แนะไทยในฐานะประธานอาเซียนควรจับมือกับยูเอ็น  ส่งตัวแทนระดับสูงเข้าไปในพม่า

เหตุการณ์นาง ออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเอ็นแอลดี ถูกรัฐบาลทหารพม่าตั้งข้อหาละเมิดกฎการกักบริเวณบ้านพัก

เหตุเนื่องมาจากเหตุนาย จอห์น ยัตตอว์ ชาวอเมริกันว่ายน้ำเข้าไปหลบพักในบ้านนางซูจี รัฐบาลสหภาพพม่า มีการพิจารณาโทษกันตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่การกักตัวนางซูจี จะครบกำหนดการกักตัววันที่ 27 พ.ค.นั้น "ไทยรัฐออนไลน์"ได้รับเกียรติจาก นายเพ็ญศักดิ์ ชลารักษ์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศพม่า กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ทั่วโลกจับตามองครั้งนี้ว่า สำนวนคดีที่ทางรัฐบาลทหารพม่าตั้งให้นางซูจี หนักเกินไป ในความเป็นจริง นางซูจี ถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพัก ส่วนคนที่เข้าไปก็กระทำโดยพลการ การมาเอาผิดนางซูจี ทั่วโลกย่อมไม่เห็นด้วย  ซึ่งอีกไม่กี่วันการกักบริเวณของนางซูจีก็จะสิ้นสุดแล้ว กรณีนี้ดูเหมือนว่า ทางรัฐบาลทหารพม่าจงใจ “หาเรื่อง” จากโทษกักบริเวณ เป็นการคุมขังในคุกแทน หากศาลตัดสินว่า นางซูจีมีความผิดจริง อาจต้องโทษจำคุกนานถึง 5 ปีนั้น ยังเป็นเรื่องที่เดาลำบาก แต่ตนคิดว่า จะมีการลงโทษมากกว่าที่นางซูจีได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมากกว่าการกักบริเวณที่บ้าน

ส่วนท่าทีประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 นั้น นายเพ็ญศักดิ์  กล่าวว่า ถือเป็นการกระทำที่ดี

แต่ไทยอยู่ในฐานะลำบาก พม่าเป็นเพื่อนบ้าน มีพรมแดนประชิดติดกัน ที่ผ่านมา ไทยได้ยึดหลักอาเซียนคือไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศเพื่อนบ้าน คงต้องมีการพูดจากันภายในจะมีประสิทธิภาพมากกว่าไปกดดัน หรือตำหนิพม่าในที่สาธารณะ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำพม่า กล่าวต่อไปว่า ตนไม่แน่ใจนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ที่มีกำหนดเดินทางเยือนพม่าในเร็ววันนี้ จะได้เข้าพม่าตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ คาดการณ์ได้ลำบาก เพราะรัฐบาลทหารพม่า "ดื้อ" อาจทำอะไรที่คาดไม่ถึง อาจยอมหรือไม่ยอมให้เลขาธิการยูเอ็นเข้าไป

สำหรับกระบวนการประชาธิปไตยในพม่า กับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2553 นั้น นายเพ็ญศักดิ์ มองว่า  หากมีการลงโทษนางซูจีจริง อาจเป็นเทคติกที่ดีของรัฐบาลพม่า

เพื่อไม่ให้นางซูจีมาลงแข่งขัน ซึ่งการเลือกตั้งในพม่า ตนไม่ถึงกับแน่ใจ100 % ว่า จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลทหารพม่าจะต้องมีความมั่นใจจริงๆ หากให้มีการเลือกตั้ง จะไม่เกิดสถานการณ์ให้หวั่นใจ หรือแพ้ย่อยยับ "พม่าทำได้อย่างเดียว คือมีการพูดเป็นการภายใน ถ้าเราสามารถพูดคุยให้เขาเห็นว่าไทยหวังดีก็อาจได้ผล การใช้วิธีการกดดันแบบชาติตะวันตกต้องการ ผมคิดว่า พม่าไม่ยอม"


ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายหลังการพิจารณาคดีรัฐบาลพม่ายังได้เชิญผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตไทยในฐานะประธานอาเซียน

สถานเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ในฐานะคณบดีคณะทูตในพม่า และสถานเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียในฐานะสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ไปเยี่ยมนางออง ซาน ซูจี ณ บ้านพักซึ่งอยู่ในบริเวณของสถานคุมขังอิเส่งนั้น นายเพ็ญศักดิ์ กล่าวว่า  น่าเป็นสัญญาณที่ดี

ขณะที่นายปกศักดิ์ นิลอุบล  อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศพม่า อีกท่านหนึ่ง ให้ความเห็นในเรื่องเดียวกัน

โดยเฉพาะกรณีท่าทีไทยในนามประธานอาเซียนว่า การออกแถลงการณ์ ของไทย ในฐานะประธานอาเซียนต่อกรณีนางซูจี  เป็นท่าทีที่เหมาะสมแล้ว  ทั้งในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งพม่าก็เป็นสมาชิกอาเซียน เนื่องจากมีกฎบัตรอาเซียนที่ออกมา มีประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งพม่าเป็นสมาชิกอาเซียน ก็น่าจะปฏิบัติตาม แต่จุดอ่อนของกฎบัตรอาเซียน คือการไม่มีบทลงโทษ

"ไทยในฐานะเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบมากมาย จากเหตุการณ์ภายในของพม่าเอง ทั้งเรื่องการหลั่งไหลของผู้อพยพพม่า ที่หนีภัยจากการสู้รบ ปัญหายาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น ซึ่งไทยเรามีสิทธิ์พูด ดีกว่านิ่งเฉย" นายปกศักดิ์ กล่าว และว่า การพิจารณาคดีซูจี  รัฐบาลทหารพม่า “จัดฉาก” ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ทุกคนทราบกันดีว่า นางซูจีถูกกักขังมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1989 แม้ว่าจะมีการปล่อยตัว มา 2 หน เรียกได้ว่าเข้าๆออกๆ ซึ่งหากรัฐบาลทหารพม่าได้รับการกดดันมากกว่านี้ ก็อาจมีการปล่อยตัวนางซูจีออกมาชั่วคราว

นายปกศักดิ์ กล่าวอีกว่า มีความห่วงใยจากหลายฝ่ายว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐบาลทหารพม่าจะตัดสินจำคุกนางซูจี

ตนคิดว่า หากมีแรงกดดันจากนานาชาติ ทั้งจากประเทศอาเซียน หรือสหประชาชาติ มิตรประเทศมหาอำนาจ ร่วมแรงร่วมใจ น่าจะมีผล แต่หากแรงกดดันไม่เพียงพอรัฐบาลทหารพม่าสามารถหาประเด็นอื่นมาหน่วงเหนี่ยวกักขังนางซูจีต่อไปได้อีก อาจจะติดหรือไม่ติดคุกก็ได้ แต่การกักบริเวณรัฐบาลทหารพม่าสามารถออกคำสั่งกักต่อไปได้ หรือขยายไปเรื่อยๆ

สำหรับกระแสกดดันจากทั่วโลกเรียกร้องความเป็นธรรมให้นางซูจีนั้น นายปกศักดิ์ กล่าวว่า ถึงขณะนี้มีไม่กี่ประเทศแสดงความห่วงใยนางซูจี ถือว่า ยังน้อยเกินไป

เห็นว่า ถ้าไทยในฐานะประธานอาเซียนจับมือกับสหประชาชาติ ส่งตัวแทนระดับสูงเข้าไปในพม่า อาจมีผลได้มากกว่านี้ ส่วนกรณีเลขาธิการสหประชาชาติจะเยือนพม่า ไม่ทราบว่า พม่าจะให้วีซ่าเข้าประเทศหรือไม่ เขาสามารถหน่วงเหนี่ยว ยกเหตุผลมาอ้าง และเข้าไปก็ไม่อาจทำอะไรได้อย่างที่ต้องการ

ส่วนบทบาทนางซูจีต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในพม่าปี 2553 นายปกศักดิ์ มองว่า หากมีการขยายเวลากักตัวนางซูจีอีก 1 ปี นางซูจีก็ไม่สามารถมีบทบาททางการเมืองได้อีก

ซึ่ง รัฐบาลทหารพม่าอาจหากเหตุผลในการกักตัวนางซูจีต่อไป อาจจะไม่ติดคุก แต่เป็นการกักบริเวณต่อ "ชะตากรรมนางซูจี ผมคิดว่า เธอคงไม่สามารถทำอะไรได้มากนักหากตกอยู่ในสภาพนี้ต่อไป แถมมีปัญหาสุขภาพตามมา เราไม่ทราบว่าระยะยาวจะร้ายแรงแค่ไหน เพราะหากนางซูจีมีปัญหาสุขภาพก็ลำบาก อีกทั้งการเข้ารักษาพยาบาลก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ"  อดีตทูตฯไทยประจำพม่า กล่าว

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์