จุฬาฯ ชี้วิกฤต"อาจารย์ใหญ่" เหตุหนึ่งมาจากญาติแจ้งช้า ทำให้ศพเน่าใช้การไม่ได้ แนะให้ใช้น้ำแข็งวางช่องท้อง "พระมงกุฎ"เฉลี่ยรับปีละ 20 ร่าง ให้นักเรียนศึกษา 6:1 มอ.สงขลาเจอปัญหาความไม่สงบภาคใต้ ไม่กล้าออกไปรับศพบริจาค
จากกรณีข่าวเกิดวิกฤต "อาจารย์ใหญ่" ขาดแคลน อันเนื่องมาจากตัวเลขการบริจาคร่างไร้วิญญาณที่พร้อมจะให้นิสิต นักศึกษาแพทย์ แพทย์ฝึกหัด รวมทั้งอาจารย์แพทย์ใช้เป็นตำราเรียนเริ่มลดน้อยลงทุกๆ ปี จนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลกระทบกับการเรียนการสอนวิชาแพทย์หลายสถาบันนั้น
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม รศ.นพ.ธันวา ตันสถิตย์ หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์การฝึกผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อีกปัญหาที่ทำให้ขาดแคลนอาจารย์ใหญ่ เกิดจากเมื่อผู้ที่แสดงความจำนงบริจาคร่างกายเสียชีวิต ญาติติดต่อแจ้งมายังศูนย์บริจาคร่างกายล่าช้า ทำให้ศพเน่าและไม่สามารถนำมาใช้ได้
"ร่างกายของมนุษย์เมื่อเสียชีวิต ส่วนที่เน่าเร็วที่สุดคือ ช่องท้อง หากแจ้งบริจาคร่างกายช้ากว่า 12-18 ชั่วโมง ร่างจะไม่สามารถใช้ได้ ดังนั้น หากมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ญาติควรรีบแจ้งมายังศูนย์ฯ ทันทีภายใน 12-18 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอใบมรณะบัตรจากอำเภอ ขอเพียงใบชันสูตรของตำรวจหรือแพทย์ผู้ตรวจศพก็พอ เพราะหากข้ามวัน ร่างจะเริ่มเน่าทำให้คุณภาพของอาจารย์ใหญ่ไม่ค่อยดี และระหว่างที่รอให้เจ้าหน้าที่ไปรับศพให้นำถุงน้ำแข็งวางบริเวณท้องน้อยของศพ การทำเช่นนี้จะช่วยทำให้ศพเน่าช้าลง" รศ.นพ.ธันวา กล่าว และว่า อาจารย์ใหญ่จะได้รับการแสดงความเคารพจากคณาจารย์และนิสิตแพทย์อย่างสมเกียรติ ที่สำคัญเมื่อเรียนจบ 1 ปี ร่างอาจารย์ใหญ่ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ในการจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษด้วย โดยญาติไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ด้าน พ.อ.มานพ ชัยมัติ อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ กองการศึกษา วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ตัวเลขการบริจาคร่างอาจารย์ใหญ่ในส่วนของวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ถือว่าไม่มาก แต่ละปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 20 ร่าง โดยนักศึกษาแพทย์จะใช้เรียนในสัดส่วนนักเรียนแพทย์ 6 คนต่ออาจารย์ใหญ่ 1 ร่าง และจะใช้เรียนตลอดทั้งปี ส่วนแพทย์ฝึกหัดผ่าตัดจะมีร่างอาจารย์ใหญ่เพียง 2 ร่างต่อปี ซึ่งดูจากตัวเลขถือว่าค่อนข้างน้อย
"สาเหตุที่คนบริจาคร่างอาจารย์ใหญ่เข้ามาน้อย อาจจะสรุปได้ลำบาก แต่ส่วนหนึ่งคือ วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น บางคนแจ้งความจำนงค์บริจาคร่างกายตอนอายุ 40 ปี แต่เสียชีวิตตอนอายุ 80 ปี ทำให้จำนวนอาจารย์ใหญ่ที่จะได้รับมาแต่ละปีจึงมีไม่มาก บางปีหากขาดแคลนอาจารย์ใหญ่จริงๆ คงต้องติดขอไปยังคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากมีร่างอาจารย์ใหญ่ค่อนข้างมาก" พ.อ.มานพ กล่าว
ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) เปิดเผยว่า มอ.สงขลา ประสบปัญหาอาจารย์ใหญ่ไม่พอเช่นกัน แต่ละปีจะมีอาจารย์ใหญ่ 40-50 ร่างในการเรียนการสอน ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอน เพียงทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จริงไม่ทั่วถึง ซึ่งได้แก้ปัญหาโดยให้นักศึกษาจัดกลุ่มให้เยอะขึ้นตามจำนวนอาจารย์ใหญ่ที่มี หากเป็นไปได้ น่าจะมีอาจารย์เพิ่มอีกปีละ 10 ร่าง จะทำให้การเรียนการสอนของนักศึกษาทั่วถึงมากขึ้น แต่ปีใดที่มีร่างอาจารย์ใหญ่น้อยกว่านี้ ก็จะขอความอนุเคราะห์ไปยังโรงพยาบาลศิริราช ขอร่างอาจารย์ใหญ่มาเสริม ทั้งนี้ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีประชาชนจาก 14 จังหวัดภาคใต้แสดงความจำนงค์บริจาคร่างเป็นอาจารย์ใหญ่เพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้มีกว่า 6,000 ราย
"ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามีอาจารย์ใหญ่น้อย เนื่องจากสถานการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เราไม่กล้าจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปรับร่างของอาจารย์" ผศ.พรพิมล กล่าว
พญ.ผาสุก มหรรฆานุเคราะห์ หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า แต่ละปีการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มช.ต้องใช้อาจารย์ใหญ่ประมาณ 300 ร่าง แต่ไม่ประสบปัญหาไม่เพียงพอ โดยหลังจากโรงพยาบาลได้รับศพของผู้อุทิศร่างกายก็จะนำมาฉีดน้ำยารักษาศพ และนำศพลงแช่ในน้ำยาอีกครั้ง ใช้เวลา 2 ปี จึงจะนำขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ หรือเพื่อทำโครงกระดูกไว้ศึกษา
พญ.ผาสุก กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับการอนุเคราะห์จากผู้มีกุศลจิตบริจาคร่างกายอย่างต่อเนื่อง ทำให้รถยนต์ที่ใช้ในการเดินทางไปรับร่างอาจารย์ใหญ่มีสภาพทรุดโทรม จึงตั้งกองทุนเพื่อจัดซื้อรถยนต์รับร่างอาจารย์ใหญ่ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถติดต่อสมทบทุนได้ที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เช่นเดียวกับการติดต่อขออุทิศร่างกาย หรือติดต่อได้ที่โทร. 0-5394-5312 หรือโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาคณะแทยศาสตร์ มช.เลขที่บัญชี 566-477327-3 ชื่อบัญชีรถรับร่างอาจารย์ใหญ่
รศ.พรทิพย์ บุญเรืองศรี อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ศรัทธาลงทะเบียนบริจาคร่างกาย ปีละประมาณ 1,000 - 2,000 ราย ขณะนี้มีรายชื่อผู้บริจาคอยู่เกือบ 40,000 ราย แต่ไม่ได้หมายความว่า มีอาจารย์ใหญ่เข้ามาให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งหมด เนื่องจากผู้บริจาคยังไม่เสียชีวิต และบางรายที่เสียชีวิตก็มีข้อจำกัดไม่สามารถนำร่างมาใช้ประกอบการเรียนการสอนได้ เช่น เสียชีวิตจากโรคติดต่อร้ายแรง เสียชีวิตจากอุบัติเหตุและอวัยวะส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย
"มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งติดต่อขอให้ภาควิชาฯ ส่งร่างของอาจารย์ใหญ่ เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน เช่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตลำปาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งการนำอาจารย์ใหญ่มาใช้ในงานวิจัยทางวิชาการ เนื่องจากทางภาควิชาฯ มีความพร้อมและมีการจัดการที่ดี" รศ.พรทิพย์กล่าว
วิกฤตขาดแคลนอาจารย์ใหญ่ ญาติแจ้งช้าศพเน่าไม่ทันใช้สอน มอ.สงขลาหวั่น′ไฟใต้ไม่กล้าออกไปรับ
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอาชญากรรม วิกฤตขาดแคลนอาจารย์ใหญ่ ญาติแจ้งช้าศพเน่าไม่ทันใช้สอน มอ.สงขลาหวั่น′ไฟใต้ไม่กล้าออกไปรับ
Love illusion ความรักลวงตา เพลงที่เข้ากับสังคมonline
Love illusion Version 2คนฟังเยอะ จนต้องมี Version2กันทีเดียว
Smiling to your birthday เพลงเพราะๆ ไว้ส่งอวยพรวันเกิด หรือร้องแทน happybirthday