เมื่อ 15 พ.ค. รัฐบาลชาติเอเชียหลายประเทศผนึกเสียงร่วมกับรัฐบาลชาติตะวันตก และองค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและองค์การนิรโทษกรรมสากล
ตำหนิรัฐบาลทหารพม่าและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านเรียกร้องประชาธิปไตยพม่าในทันที หลังจากรัฐบาลพม่าสั่งฟ้องนางซู จี ละเมิดกฎกักบริเวณกรณีที่ปล่อยให้นายวิลเลียม ยีตทอว์ ชาวอเมริกันแอบเข้าไปในบ้านริมแม่น้ำอินยาในกรุงย่างกุ้ง เมื่อสัปดาห์ก่อน
ทนายความของนางซู จี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิรวดีว่า นางซู จีดูสุขภาพดี และจิตใจเข้มแข็ง นางซู จีเชื่อว่าในที่สุดศาลจะพบว่าตนไม่ได้ละเมิดกฎกักบริเวณของรัฐบาลทหารพม่า
โดยนางซู จีถูกควบคุมตัวไว้ที่ห้องรับรองในเรือนจำอินเส่งในกรุงย่างกุ้ง ด้วยระบบรักษาความปลอดภัยเข้มงวดสูงสุด รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงว่าวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์นี้ ขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์และอินโดนีเซีย แถลงว่าผิดหวังต่อการกระทำของรัฐบาลพม่าที่ทำให้กระบวนการสมานฉันท์ในประเทศ ในฐานะสมาชิกประชาชาติอาเซียนล่าช้าลง จึงขอเรียกร้องให้ปล่อยนางซู จี และถอนคำฟ้องร้องในคดีล่าสุด
ด้านรัฐบาลไทย นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า คาดหวังให้กระบวนการยุติธรรมพม่ามีความโปร่งใสและตรวจสอบข้อเท็จจริง หากรัฐบาลพม่าเปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้าฟังการพิจารณาคดีนายยีตทอว์ วันที่ 18 พ.ค.นี้ ก็จะส่งตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตไทยไปฟังแน่นอน
นางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐกล่าวหลังหารือกับนายอนิฟาห์ บิน ฮาจิ อมาน รมว.ต่างประเทศมาเลเซียว่า
ตนเป็นห่วงอย่างมากที่รัฐบาลทหารพม่ากล่าวหานางซู จีทั้งที่ไม่มีมูลความจริง ทั้งสหรัฐและมาเลเซียต่างคัดค้านที่พม่าจะใช้กรณีนี้เพื่อคุมเข้มนางซู จีอย่างไม่ยุติธรรม โดยนางฮิลลารีตั้งใจจะนำปัญหานี้หารือกับจีนซึ่งเป็นชาติพันธมิตรที่สนับสนุนพม่ามาโดยตลอด
กลุ่มฮิวแมน ไรต์ วอตช์ เรียกร้องให้นายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติกดดันพม่าให้ปล่อยนางซู จี พร้อมกล่าวหาว่าพม่ากำลังใช้กรณีของนายยีตทอว์เป็นเหตุขยายเวลากักตัวนางซู จี ที่จะหมดลงวันที่ 27 พ.ค.นี้ ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติรีบเข้าแทรกแซงโดยด่วน