สรุปป่วนใต้กว่า 100 จุด จ.ปัตตานี โดนหนักสุด

ไทยรัฐ

วันนี้ (2 ส.ค.) ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สรุปเหตุก่อกวนในพื้นที่ 22 อำเภอ ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 139 จุด ระหว่างเวลา 20.00 น.ถึง 21.30 น. คืนวานนี้ (1 ส.ค.) โดยถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจำนวนจุดและพื้นที่การก่อเหตุ ซึ่งกระจายอยู่ทั่ว 4 จังหวัด คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขณะที่ฝ่ายรัฐได้ออกมาระบุว่า ทราบข่าวความเคลื่อนไหวครั้งนี้มาโดยตลอด และเมื่อเกิดเหตุก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ทั้งนี้การปฏิบัติการก่อเหตุส่วนใหญ่ เป็นการเผายางรถยนต์ โรยตะปูเรือใบ, ลอบเผารถยนต์, ศาลาที่พักผู้โดยสาร, เสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่, ตู้โทรศัพท์, บ้านพัก-อาคารสถานที่ของรัฐ, ลอบวางวัตถุต้องสงสัย รวมถึงการลอบวางระเบิดห้างร้าน และซุ่มยิงเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้สร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น เหตุลอบวางระเบิดใน 31 อำเภอของ 3 จังหวัด ระหว่างวันที่ 15-16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บรวม 27 คน

ศูนย์ข่าวอิศรา ระบุว่า เมื่อพิจารณาในเชิงลักษณะการเกิดเหตุ พบว่า เหตุก่อกวนครั้งใหญ่ๆ อาทิ วาง เพลิง สถานที่ เผายางรถยนต์ โรยตะปูเรือใบ ฯลฯ ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุก่อกวนเมื่อคืนวานนี้ ถือว่า มีความถี่ของจำนวนเหตุการณ์สูงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในรอบ 30 เดือน ทั้งยังมีข้อสังเกตเรื่องพื้นที่การเกิดเหตุบ่อยครั้ง เวลาเกิดเหตุมักเป็นช่วงกลางคืน และมีหลายครั้งที่ผู้ก่อเหตุเลือกลงมือกระทำในช่วงต้นเดือนโดยไม่ทราบเหตุผลและแรงจูงใจ นอกจากนั้นยังเป็นการก่อเหตุในช่วงเวลาที่รัฐยืนยันว่า ทราบข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายแนวร่วมฯ ถึงขั้นสามารถระบุการปฏิบัติการในลักษณะที่เป็นเครือข่ายในช่วงเวลาที่ชัดเจน ทั้งมีการกำชับให้ทุกหน่วยเตรียมรับกับสถานการณ์ความไม่สงบตลอดช่วงสัปดาห์นี้ด้วย

ด้าน ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาชุมชน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) กล่าวถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายครั้งนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นความเชื่อมั่นของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบในการลงมือปฏิบัติการ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นว่า รัฐต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับ และไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้แม้จะทราบข่าวมาก่อนก็ตาม

แม้จะดูยากว่า วัตถุประสงค์ของการก่อเหตุคืออะไร แต่โดยภาพรวมของเหตุน่าจะคาดเดาได้ว่า ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง กล่าวคือทำให้เห็นว่า รัฐคุมสถานการณ์ไม่ได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ถ้าเกิดเหตุความรุนแรงครั้งใหญ่ จะสามารถป้องกันได้หรือไม่ รองคณบดีรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี กล่าว และว่าหากพิจารณาพื้นที่เกิดเหตุแล้วจะเห็นว่า เกิดซ้ำในพื้นที่เกิดเหตุเดิม อาทิ ถนนสาย 410 ปัตตานี-ยะลา และสาย 410 ช่วงจาก อ.เมืองยะลา กรงปินัง บันนังสตา- ธารโต- เบตง ในเขต ปัตตานี ยะลา, พื้นที่ 12 อำเภอ ของปัตตานี โดยเฉพาะ อ.สายบุรี อ.แม่ลาน ซึ่งเกิดเหตุความไม่สงบสูงในช่วงที่ผ่านมา หรือใน จ. นราธิวาส ในเขตพื้นที่แดง เช่น อ.รือเสาะ อ.เจาะไอร้อง อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งมีการลอบวางระเบิดหรือกราดยิงด้วยอาวุธสงคราม

ผศ.ศรีสมภพ กล่าวอีกว่า พื้นที่เกิดเหตุที่ซ้ำๆ น่าจะแสดงให้เห็นถึงพื้นฐานมวลชนและเครือข่ายการก่อการที่เข้มแข็ง สามารถสร้างความมั่นใจในการลงมือปฏิบัติการได้โดยสำเร็จลุล่วงและปลอดภัยได้ เหตุที่เกิดเมื่อคืนก่อน มีแต่ความถี่ แต่ไม่มีความเข้มข้นของความรุนแรง อาจเป็นไปได้ว่า เป็นเพียงการลงมือเพื่อทดสอบทางยุทธวิธีของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ โดยผู้ลงมือกระทำการน่าจะเป็นกลุ่มเยาวชน (เปอมูดอ) ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์เท่ากลุ่มแนวร่วม แต่พร้อมที่จะลงมือปฏิบัติการในระดับที่รุนแรงยิ่งขึ้น

หากเป็นเช่นนั้น ความถี่ของการเกิดเหตุในพื้นที่ จ.ปัตตานี ถึง 96 จุด น่าจะเป็นนัยของการเริ่มต้นสร้างเครือข่ายของผู้ก่อการฯ เนื่องจากช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ถือได้ว่าพื้นที่ จ.ปัตตานี โดยเฉพาะเขตเทศบาลและรอบนอก มีระดับความถี่และความรุนแรงโดยเปรียบเทียบต่ำกว่าหลายพื้นที่ในยะลา และนราธิวาส รองคณบดีรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์