ยอดอุบัติเหตุ 3 วันในช่วงสงกรานต์ตายสะสม 44 ราย เจ็บ 1,718 ราย เชียงรายครองแชมป์อุบัติเหตุสูงสุด ศปถ.คาดโทษผู้ปกครองปล่อยบุตรหลานอายุต่ำกว่า 18 ปี ขี่จักรยานยนต์เล่นน้ำ
(13เม.ย.) นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีปภ.เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่สามของช่วง 7 วันระวังอันตราย โดยเกิดอุบัติเหตุทางถนนรวม 675 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 726 ราย ส่งผลให้อุบัติเหตุ รวมสะสม 3 วัน (วันที่ 10-12 เม.ย. ) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,605 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 139 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,718 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด
ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 45.48 รองลงมาคือขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 20.30 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.74 ส่วนใหญ่อุบัติเหตุเกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 57.33 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.15 บนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 29.74 โดยช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กลางคืน ร้อยละ 61.63 โดยเฉพาะช่วงเวลา 16.00-20.00 น.ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน
นายอนุชา กล่าวอีกว่า
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 35 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ ศรีสะเกษ 32 ครั้ง จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุมี 5 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร ชัยภูมิ เลย ระนองและสมุทรสงคราม จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ พิษณุโลก จังหวัดละ 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุดได้แก่ เชียงราย 38 ราย ทั้งนี้ จากการจัดตั้งจุดตรวจหลัก 3,038 จุด เรียกตรวจยานพาหนะ 761,493 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 56,171ราย ส่วนใหญ่ไม่มีใบขับขี่ รองลงมา ไม่สวมหมวกนิรภัย
นายอนุชา กล่าวต่อว่า
วันนี้เป็นวันสงกรานต์ คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางไปรดน้ำขอพรจากพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และเล่นน้ำสงกรานต์ตามพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งตามสถิติแล้ววันที่ 13 เม.ย. ถือเป็นวันที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงเช่นกัน จึงได้ประสานจังหวัดให้กำชับเจ้าหน้าที่ตามจุดตรวจ จุดสกัดในชุมชน ตำบล หมู่บ้านบนถนนสายรอง เข้มงวดตรวจจับผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งผู้ที่เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่สวมหมวกนิรภัย หากตรวจ พบผู้เมาแล้วขับ ให้สกัดกั้นหรือหยุดพักรถ เพื่อมิให้ขับขี่รถออกไปสร้างความเดือดร้อนต่อผู้ใช้เส้นทางรายอื่น รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดชุดสายตรวจออกตรวจตรา เฝ้าระวังตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ที่มีลักษณะเมาสุรา
นายอนุชา กล่าวด้วยว่า
จากสถิติอุบัติเหตุในวันสงกรานต์ พบว่า ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บประมาณร้อยละ 28 เป็นกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี จึงขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด มิให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ออกมาขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาต เมาสุรา ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น หากพบการกระทำผิด พ่อแม่ผู้ปกครองจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท