สคบ.แฉ "ฟิตเนส" อันตราย เข้าแล้วห้ามออกไม่ได้ใช้บริการแต่ต้องจ่ายเงิน พบผู้ร้องเรียน 893 ราย รวม 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ อยู่ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ย สาเหตุจากสัญญาผูกมัดบอกรายละเอียดสัญญาไม่หมดและเกินจริง โดยเฉพาะ"แคลิฟอร์เนีย ว้าว" จะรัดกุมมากหากผู้บริโภคไม่ยอมเข้าไปใช้สิทธิจะถูกตัดเงิน
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นางชื่นสุข เมธากุลวัฒน์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยในงานเสวนาผู้บริโภค เรื่อง "ฟิตเนส สัญญาอันตราย เข้าแล้ว ห้ามออก หลอกหรือโกง" ที่โรงแรมเซ็นจูรี ปาร์คว่า ปัจจุบันธุรกิจสถานบริการออกกำลังกาย หรือฟิตเนส แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่มีค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการสูงเฉลี่ยเดือนละเกือบ 2 พันบาท หรือเรียกเก็บรายปีสูงกว่า 3 หมื่นบาท แต่ปัญหาคือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีเวลา ทำให้ต้องจ่ายค่าบริการทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้ รวมทั้งข้อผูกมัดในสัญญาที่หมิ่นเหม่ไม่เป็นธรรมต่างๆ
นางชื่นสุขกล่าวว่า จากการเก็บสถิติในปี 2548-2551 พบว่ามีผู้ร้องเรียน สคบ.เกี่ยวกับธุรกิจฟิตเนสสูงถึง 893 ราย แบ่งเป็น 9 บริษัท โดยเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย ว้าว จำนวน 576 ราย สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้ 386 ราย และอยู่ระหว่างเจรจาไกล่เกลี่ย 183 ราย ฟิตเนส เฟิร์ส ร้องเรียน 74 ราย เจรจาได้ 67 ราย อยู่ระหว่างเจรจาอีก 7 ราย และทรู ฟิตเนส 180 ราย เจรจาได้ 170 ราย อยู่ระหว่างเจรจา 10 ราย
นอกนั้นเป็นบริษัทรายย่อยที่ยกเลิกสัญญากับผู้บริโภค เนื่องจากต้องปิดกิจการจากปัญหาถูกยึดสถานที่ ทั้งๆ ที่ผู้บริโภคยังไม่ได้ใช้บริการตามที่สัญญากำหนด และไม่มีการคืนเงิน
"กรณีดังกล่าวมีผู้ร้องเรียนสูงถึง 63 ราย สคบ.ดำเนินการฟ้องร้องไปแล้วเพียง 1 ราย คือ เยส! ฟิตเนส นอกนั้นอยู่ระหว่างการเจรจา อย่างไรก็ตาม ปัญหาการร้องเรียนที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากสัญญาผูกมัด ซึ่งสาเหตุมาจากเซลส์ที่ขายแพคเกจบอกรายละเอียดสัญญาไม่หมด หรือบอกหมดแต่มีลักษณะเกินจริง จนทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ ที่สำคัญในสัญญาจะพิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดเล็ก ไม่น่าอ่าน ส่งผลให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ จากการพิจารณาธุรกิจเหล่านี้ โดยเฉพาะแคลิฟอร์เนีย ว้าว จะมีสัญญาที่รัดกุมมาก ยกตัวอย่าง หากผู้บริโภคไม่ยอมเข้าไปใช้สิทธิในการออกกำลังกายตามระยะเวลาที่กำหนด จะถูกตัดเงิน ซึ่งผู้บริโภคก็จะรู้สึกไม่เป็นธรรม และต้องการเรียกร้องสิทธิ แต่ในสัญญามีการระบุเช่นนั้นจึงไม่สามารถทำอะไรได้ สคบ.ก็ทำหน้าที่ได้เพียงการไกล่เกลี่ย แต่ธุรกิจพวกนี้จะไม่ยอมจ่ายคืนเงิน และจะใช้วิธีให้บริการอื่นเพิ่ม เช่น สปา หรือโอนกรรมสิทธิ์ไปให้ผู้อื่นใช้แทน" นางชื่นสุขกล่าว
นางชื่นสุขกล่าวว่า นอกจากนี้ผู้บริโภคยังประสบปัญหาอุปกรณ์ในการออกกำลังกายไม่เพียงพอ เนื่องจากคนใช้บริการมีจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเสียเปรียบ แต่เมื่อต้องการยกเลิกสัญญาก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข ต้องจำยอมจ่ายเงินไปเรื่อยๆ
ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปี 2551 มีผู้เข้าร้องเรียนกับมูลนิธิ เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น 36 ราย แบ่งเป็น แคลิฟอร์เนีย ว้าว 14 ราย ฟิตเนส เฟิร์ส 19 ราย และทรู ฟิตเนส 3 ราย ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่สอดคล้องกับที่ สคบ.ให้ข้อมูล
"ปัญหาดังกล่าวควรมีกฎหมายควบคุมสถานออกกำลังกายเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดๆ ควบคุมธุรกิจนี้ ทำให้ผู้บริโภคยังคงถูกเอาเปรียบ แม้จะมีการเซ็นสัญญา แต่ก็เป็นสัญญาที่ผู้บริโภคแทบไม่รู้อะไรเลย ที่สำคัญยังถูกกลุ่มพนักงานธุรกิจเหล่านี้โทรศัพท์ตามให้จ่ายเงิน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้บริการ" นายอิฐบูรณ์กล่าว
ขณะที่นายชัยรัตน์ จุมวงษ์ คณะกรรมการไกล่เกลี่ยเรื่องราวร้องทุกข์ผู้บริโภค สคบ. กล่าวว่า จากการพิจารณากฎหมายที่พอจะนำมาใช้ควบคุมธุรกิจประเภทนี้ พบว่ามีเพียงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ของกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ซึ่งมาตรา 4 ระบุว่า ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หากมีผลให้คู่สัญญารับภาระเกินจริง ก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ แต่ปัญหาคือ เป็นการยกเลิกในบางข้อบางกรณีเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยหากพบความไม่เป็นธรรมต้องกำหนดให้สัญญานั้นๆ เป็นโมฆะทั้งฉบับทันที รวมทั้งต้องจ่ายเงินส่วนเกินที่ผู้บริโภคไม่ได้ใช้บริการด้วย และอาจต้องมีบทลงโทษต่อการกระทำดังกล่าว คาดว่าจะมีการหารือเรื่องนี้กับกระทรวงยุติธรรมต่อไป
ผู้สื่อข่าว "มติชน" พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้ให้บริการธุรกิจออกกำลังกายทั้ง 3 ราย คือ แคลิฟอร์เนีย ว้าว, ฟิตเนส เฟิร์ส และทรู ฟิตเนส แต่ไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ เยส! ฟิตเนส ที่ถูก สคบ.ดำเนินการฟ้องร้อง พบว่าเป็นธุรกิจของบริษัท เอ็กซ์เซอร์เทนเมนท์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2546 ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 97/11 ชั้น 6 ถนนราชดำริห์ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 ทำธุรกิจประเภทการบริการสถานกีฬา - บริการ ขนาดเล็ก ปรากฏชื่อนายวันชาติ สวนรัตน์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจแทนบริษัท มีผู้ถือหุ้นจำนวน 7 ราย ประกอบด้วย บริษัท อีจีวี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) 59.9% บริษัท แอลแมค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 40% ส่วนผู้ถือหุ้นที่เหลือเป็นบุคคลธรรมดา ได้แก่ นางนลินรัตน์ พูลวรลักษณ์, นางรุ่งทิพา เกษสุวรรณ, นายวิชัย พูลวรลักษณ์, นางสุภนิดา อุตสาหะพันธ์ และนายเสริมศักดิ ขวัญพ่วง
ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปยังบริษัท เอ็กซ์เซอร์เทนเมนท์ ตามที่แจ้งไว้ในข้อมูลการจดทะเบียนการจัดตั้งบริษัท แต่ปรากฏว่าเป็นเบอร์ต่อของบริษัท เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) จากการสอบถามฝ่ายประชาสัมพันธ์ พบว่า เยส! ฟิตเนส เป็นธุรกิจที่ติดมากับอีจีวี หลังจากที่เมเจอร์ฯเข้าไปควบรวมกิจการกับอีจีวี ซึ่งปัจุบันได้ขายกิจการไปแล้ว
สคบ.แฉฟิตเนส อันตรายมีสัญญาผูกมัดเข้าแล้ว ห้ามออก ระบุแคลิฟอร์เนีย ว้าวไม่ใช้สิทธิจะถูกตัดเงิน
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอาชญากรรม สคบ.แฉฟิตเนส อันตรายมีสัญญาผูกมัดเข้าแล้ว ห้ามออก ระบุแคลิฟอร์เนีย ว้าวไม่ใช้สิทธิจะถูกตัดเงิน