เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 ม.ค. ศาล อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อย.2258/2551 ซึ่งอัยการพิเศษฝ่ายคดียาเสพติด 2
เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสงกรานต์ ไชยวงค์ อายุ 27 ปี จำเลยที่ 1 และนายบรรจง สร้อยแก้ว อายุ 27 ปี จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันมียาบ้าและยาอี เพื่อจำหน่ายและร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ไนเมตาซีแพมไว้ในครอบครอง โจทก์ฟ้องระบุความผิดว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 51 เวลากลางวัน ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องในคดียึดทรัพย์ ที่ห้องพิจารณาคดี 905 มีนายบรรจง จำเลยที่ 2 ของคดีนี้ เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ปรากฏว่านายสงกรานต์ จำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังห้องได้ย้ายที่มานั่งใกล้กับจำเลยที่ 2 แล้วส่งมอบยาเสพติดให้ เมื่อนายเชาว์ ทวีปะ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 5 ซึ่งนั่งคุมจำเลยที่ 2 เห็นเหตุการณ์ จึงจับกุมตัวจำเลยทั้งสองไว้ จากการตรวจสอบพบยาเสพติดเมทแอมเฟตามีน ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (ยาบ้า) จำนวน 4 ซอง น้ำหนัก 72.680 กรัม ยาอีจำนวน 30 เม็ด น้ำหนัก 8.100 กรัม และไนเมตาซีแพม อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอีก 30 เม็ด น้ำหนัก 5.390 กรัม จึงขอให้ศาลลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์มีนายเชาว์ ทวีปะ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 5 เบิกความเป็นพยาน
ระบุว่าขณะที่นั่งควบคุมตัวจำเลยที่ 2 อยู่ในห้องพิจารณาคดีนั้น สังเกตเห็นนายสงกรานต์ จำเลยที่ 1 ท่าทีมีพิรุธ เมื่อลุกมานั่งด้านหลังจำเลยที่ 2 จึงสอบถามจำเลยที่ 2 ว่าคุยกับใคร จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นหลาน จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ส่งห่อพลาสติกสีดำให้แก่จำเลยที่ 2 จึงควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ไว้ ส่วนจำเลยที่ 2 รีบขอย้ายที่นั่งไปด้านหลังห้องอ้างว่าหนาว โดยพบห่อพลาสติกสีดำตกอยู่ที่พื้น 1 ห่อ เมื่อตรวจดูข้างในพบยาเสพติดของกลางดังกล่าว ต่อมา ศาลมีคำพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสองคน ฐานประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นเวลา 6 เดือน
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่า ได้รับการติดต่อว่าจ้างจากบุคคลที่ได้รับโทรศัพท์จากนักโทษในเรือนจำให้นำยาเสพติดดังกล่าวมาส่งให้นายบรรจง ที่ศาลอาญา ในราคา 2 หมื่นบาท
โดยทำในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อเดือน ก.ค.50 เพื่อนำเงินไปแต่งงาน ส่วนนายบรรจงให้การปฏิเสธ อ้างว่าไม่เคยรู้จัก หรือติดต่อกับนายสงกรานต์มาก่อน และถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง เห็นว่าคดีนี้เกิดขึ้นให้ห้องพิจารณามีพยานรู้เห็นเหตุการณ์ อย่างใกล้ชิด โดยพยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน และเบิกความไปตามข้อเท็จจริง การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าถูกกลั่นแกล้งเป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักมาหักล้างพยานโจทก์ เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องจริง
พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิด ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรค 3 (2), 66 วรรค 3
การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเรียงกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้จำคุกจำเลยทั้ง 2 ตลอดชีวิต ปรับคนละ 1,000,000 บาท ฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 ไว้ในครอบครอง ให้จำคุกคนละ 2 ปี ซึ่งในส่วนของจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว ไม่อาจเพิ่มโทษในส่วนนี้ได้ คงให้เพิ่มโทษปรับกึ่งหนึ่ง เป็นเงินจำนวน 1.5 ล้านบาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ตลอดชีวิต ปรับ 1.5 ล้านบาท
ส่วนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกเป็นเวลา 26 ปี ปรับ 5 แสนบาท
และให้นับโทษ ต่อจากในคดีหมายเลขแดง ที่ ล.1/2551 ของศาลอาญา ซึ่งลงโทษจำคุก 6 เดือน ในกรณีละเมิดอำนาจศาล ส่วนของจำเลยที่ 2 ให้นับโทษต่อจากคดีหมายเลขแดงที่ ล. 1/2551 ของศาลอาญา ซึ่งลงโทษจำคุก 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล และนับโทษต่อจากคดีหมายเลขแดงที่ อย.1655/2550 ของศาลอาญา ซึ่งพิพากษาให้จำคุก 50 ปี ปรับ 1,333,333.33 บาท ฐานครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่ายและมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต