ภูเก็ต 22 ต.ค. - ผอ.สถาบันวิจัยชายฝั่งฯ ภูเก็ต พบแมงกะพรุนกล่องตัวล่าสุดบริเวณอ่าวน้ำบ่อ หลังเก็บรวบรวมมาแล้ว 13 ตัวอย่าง กลางทะเลเกาะลันตา เตรียมประสานจังหวัดแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวระวังไปสัมผัส บางชนิดมีพิษรุนแรง
นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า
จากการสุ่มเก็บตัวอย่างแมงกะพรุนกล่อง (BOX Jellyfish) บริเวณเกาะลันตา ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สามารถรวบรวมได้หลายชนิด จำนวน 13 ตัวอย่าง จากการวางอวนลอยกุ้งสามชั้น ซึ่งสถาบันฯ จะส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญประเทศออสเตรเลียพิสูจน์ยืนยันการจำแนกชนิดให้ชัดเจนอีกครั้ง ล่าสุด (22 ต.ค.) เก็บแมงกะพรุนกล่องได้อีกจากโป๊ะชาวประมงบริเวณอ่าวน้ำบ่อ ต.วิชิต อ.เมือง มีขนาดตัวใส ไม่ใหญ่มากประมาณ 3-4 ซม.
ทั้งนี้ แมงกะพรุนกล่องมีวงจรชีวิตเกี่ยวข้องกับพื้นที่น้ำกร่อย ป่าชายเลน เป็นแมงกะพรุนมีพิษ
หากไปสัมผัสจะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน ซึ่งจะเร่งทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวระมัดระวังแมงกะพรุนชนิดนี้เป็นพิเศษ และหลีกเลี่ยงสัมผัส เพราะแมงกะพรุนกล่องบางชนิดมีพิษรุนแรงต่อเนื้อเยื่อ ระบบเลือด และระบบหายใจ อาจทำให้ช็อกได้ อย่างไรก็ตาม การสำรวจยังไม่พบแมงกะพรุนกล่องตามหาดท่องเที่ยวฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต
นายวรรณเกียรติ กล่าวว่า แมงกะพรุนกล่องจะพบมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว และช่วงฝนตกหนัก น้ำทะเลขุ่น
เนื่องจากเป็นช่วงอาหารสมบูรณ์ แต่เมื่อถึงฤดูกาลท่องเที่ยวในเดือน พ.ย. แมงกะพรุนจะย้ายไปหากินที่อื่น นายวรรณเกียรติ กล่าวด้วยว่า แมงกะพรุนมีพิษรุนแรงต่างกัน การลงเล่นน้ำทะเลจะต้องระมัดระวัง หากโดนพิษแมงกะพรุนกล่องให้ใช้น้ำส้มสายชู น้ำอุ่น หรือน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป ล้างบริเวณที่ถูกพิษ ห้ามใช้น้ำเย็นเด็ดขาด จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์. - สำนักข่าวไทย