ขณะนี้การโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องยา ที่นำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศมีจำนวนมาก โดยเฉพาะทางอินเตอร์เน็ต ที่มีมากมายหลายเว็ปไซต์ ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาควบคุม ความถูกต้อง ความปลอดภัยของเนื้อหาที่นำเสนอ ส่วนใหญ่ข้อมูลไม่ได้มาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์ ขณะที่ยาที่จำหน่ายผ่านเว็บไซด์ มีทั้งแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร เครื่องดื่ม ทั้งกิน ทา ป้าย พ่น สูดดม หรือฉีด
นายภานุพัฒน์ กล่าวอีกว่า กลุ่มยาที่พบมากในอินเตอร์เน็ต คือ
1.ยากระตุ้นอารมณ์ ความต้องการทางเพศ รวมถึงยาสลบ ยานอนหลับ 2.ยาที่ทำให้อวัยะเพศแข็งตัว ใหญ่ยาว ยาชะลอการหลั่ง หรือทำให้มีความสัมพันธ์ทางเพศได้ยาวนานขึ้น 3.ยาขับเลือดหรือทำแท้ง 4.ยาฮอร์โมนเพื่อทำให้ผู้มีร่างกายเป็นชายมีสรีระเหมือนผู้หญิง มีหน้าอก ผิวขาว ซึ่งยาเหล่านี้ส่วนใหญ่จัดเป็นยาอันตราย ที่ต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ และไม่ได้ใช้กับคนทุกคน ขณะที่ยาส่วนหนึ่งอาจอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รวมถึงผู้ซื้อยังต้องเสี่ยงกับยาปลอมด้วย ที่สำคัญคืออันตรายและผลข้างเคียงที่จะได้รับจากยาเหล่านี้
"ผู้ชายเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก ที่อยากจะได้ความสนุกสนานเพลิดเพลินทางเพศ ยาบางประเภทเป็นการกระตุ้นให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ยินยอมพร้อมใจ การละเมิด ที่ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายระวังตัว ส่วนผู้ชายเป็นผู้กำหนดรูปแบบการมีเซ็กส์ได้ตามความพอใจ เรื่องเหล่านี้ผิดกฎหมายและอันตรายกับผู้หญิงทุกคน ขณะที่การเขียนบรรยายสรรพคุณของยา มีการปรับรูปแบบให้น่าเชื่อถือ ให้ความรู้ ความเชื่อเรื่องเพศที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทั้งผู้ซื้อและผู้ถูกใช้ อาจมีความเชื่อผิดๆในเรื่องเพศได้" นายภานุพัฒน์ กล่าว
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผจก.แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า การมองว่าปัญหาเพศ มีแค่โรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
เรื่องเพศมีความหมาย ตั้งแต่การเกิด การเลี้ยงดู พฤติกรรม ความรับผิดชอบ การเคารพสิทธิทางเพศต่อตนเอง และผู้อื่น รวมถึงค่านิยมความเป็นชายหรือหญิง จึงต้องมีการให้ความหมายใหม่ว่า เรื่องเพศ คือ "วิถีเพศ วิถีชีวิต" จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนมุมมองทัศนคติ การหลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องเพศ ทำให้เกิดความ "ไม่รู้" และนำไปสู่ความเชื่อแบบผิดๆ หรือรู้ไม่หมดรู้ไม่จริง กลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อของยาเหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปัญหาเท่านั้น
"เพื่อให้เรื่องเพศ ได้ถูกนำมาพูดถึงในทุกมุมมอง และนำไปสู่กระบวนการป้องกันแก้ไขปัญหา แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดสัมมนาวิชาการและปฏิบัติการ เรื่อง "วิถีเพศ วิถีสุขภาวะ" ในวันที่ 13 - 15 ต.ค. นี้ ที่ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ซึ่งจะมีงานวิจัยอาทิ วีธีคิดเรื่องเพศวิถีของรัฐไทย มั่ว ส่ำสอน ใจแตก ใช้กับใครในข่าวเรื่องเพศ ประวัติศาสตร์ของเพศวิถี รวมถึงนิทรรศการให้ความรู้เพื่อสุขภาวะทางเพศที่ดี" น.ส.ณัฐยา กล่าว.