พื้นที่อุทกภัยน้ำเริ่มเน่าแล้ว ระดับน้ำมูลที่อุบลฯ เอ่อท่วมบ้าน 84 ครอบครัว อ่างลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เริ่มระบายน้ำออกรับมือ "เมขลา" ปภ. รายงานสถานการณ์น้ำท่วมเสียชีวิต 19 ราย เดือดร้อนกว่า 1 ล้านคน ถนนพัง 1,865 สาย สะพาน 71 แห่ง
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ชาวนา อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เตรียมฟ้องรัฐบาล โดยเฉพาะ ทส.และกรมชลประทาน กรณีการเกิดน้ำท่วมจนไร่นาเสียหายจำนวนมากว่า เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ และรัฐบาลก็อยู่ระหว่างให้ความช่วยเหลือ
ด้านนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากการติดตามพื้นที่อุทกภัย จ.ลพบุรี ปราจีนบุรี ระยะเวลา 1 เดือน พบว่าขณะนี้ได้เกิดปัญหาเน่าเสียแล้ว
โดยคุณภาพน้ำของแม่น้ำลพบุรี บริเวณ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่าเท่ากับ 0.4 มิลลิกรัมต่อลิตร (มก./ล.) บริเวณ อ.เมือง 1.2 มก./ล. และบริเวณคลองชลประทาน ชัยนาท – ป่าสัก อ.บ้านหมี่ 1.1 มก./ล. สภาพน้ำมีสีดำคล้ำ กลิ่นเหม็น คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก สาเหตุมาจากพื้นที่นาข้าวประมาณ 1 แสนไร่ ล่มประกอบกับเมื่อน้ำท่วมขังเกิดเป็นมวลน้ำเสียระบายลงสู่คลองชลประทานเป็นจำนวนมาก บริเวณดังกล่าวจัดอยู่ในแหล่งน้ำประเภทที่ 3 มีค่ามาตรฐานไม่ต่ำกว่า 4 มก./ล.
นายสุพัฒน์ กล่าวว่า ส่วนแม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณ ต.บ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่าเท่ากับ 2.4 มก./ล.
บริเวณต.บางแตน อ.บ้านสร้าง 2.8 มก./ล. บริเวณ อ.เมืองปราจีนบุรี 2.2 มก./ล. บริเวณ อ.ศรีมหาโพธิ์ 2.8 มก./ล. และบริเวณการประปากบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 3.0 มก./ล. ซึ่งบริเวณดังกล่าวจัดอยู่ในแหล่งน้ำประเภทที่ 2 มีค่ามาตรฐานไม่ต่ำกว่า 6 มก./ล. ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานี อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่าเท่ากับ 5.7 มก./ล.จัดอยู่ในแหล่งน้ำประเภทที่ 2 มีค่ามาตรฐานไม่ต่ำกว่า 6 มก./ล. และบริเวณสถานี อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีค่าเท่ากับ 4.2 มก./ล. จัดอยู่ในแหล่งน้ำประเภทที่ 3 มีค่ามาตรฐานไม่ต่ำกว่า 4 มก./ล.
น้ำท่วมเริ่มเน่าแล้ว เผยตัวเลขปชช.เดือดร้อนหนักกว่าล้านคน
ขณะที่นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 27 จังหวัด 172 อำเภอ 946 ตำบล 6,409 หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต 19 ราย
ราษฎรเดือดร้อน 294,587 ครัวเรือน 1,014,000 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 8 หลัง เสียหายบางส่วน 2,621 หลัง สะพาน 71 แห่ง ถนน 1,865 สาย พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมประมาณ 380,212 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 261,754,854 บาท ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ตาก พะเยา ลำปาง นครนายก เลย สุโขทัย ฉะเชิงเทรา ตราด ชลบุรี พิจิตร สระบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ อุบลราชธานี มุกดาหาร หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน และจันทบุรี ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 5 จังหวัด ได้แก่จังหวัดพิษณุโลก ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น และปราจีนบุรี
นายอนุชากล่าวว่า ที่ จ.พิษณุโลก ยังมีน้ำท่วมขังใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพิษณุโลก 5 ตำบล อำเภอวังทอง 1 ตำบล อำเภอบางระกำ 6 ตำบล แนวโน้มสถานการณ์หากไม่มีฝนตกเพิ่มคาดว่า สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 สัปดาห์
แต่จะยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตรบางแห่ง แต่หากยังมีฝนตกต่อเนื่อง อาจทำให้สถานการณ์น้ำท่วมขยายวงกว้างออกไปอีก ที่ จ.ลพบุรี น้ำท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ 65 ตำบล 530 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 125,747 คน 35,135 ครัวเรือน ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลพบุรี และบ้านหมี่ แนวโน้มสถานการณ์ หากไม่มีฝนตกเพิ่มคาดว่าอำเภอเมืองลพบุรีจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 2-3 วัน ส่วนอำเภอบ้านหมี่ จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 2-3 สัปดาห์
ส่วน จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสักมีระดับสูงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำบางพื้นที่ใน 9 อำเภอ 62 ตำบล
ได้แก่ อำเภอผักไห่ บางบาล เสนา บางไทร มหาราช นครหลวง พระนครศรีอยุธยา บ้านแพรก และบางปะอิน ที่ จ.ขอนแก่น น้ำท่วมพื้นที่ 10 อำเภอ 66 ตำบล ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองขอนแก่น ชนบท บ้านแฮด และบ้านไผ่ ส่วน จ.ปราจีนบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี กบินทร์บุรี และศรีมหาโพธิ แนวโน้มสถานการณ์ หากไม่มีฝนตกเพิ่มคาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1 สัปดาห์แต่จะยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตรบางแห่ง
นายอนุชากล่าวว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง
โดยสนับสนุนเรือท้องแบน 128 ลำ ออกให้บริการขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของและอพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วม ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 11 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย พร้อมทั้งนำถุงยังชีพเครื่องอุปโภคและบริโภค 13,250 ถุง มอบให้กับผู้ประสบภัย รวมทั้งจัดรถผลิตน้ำดื่มสะอาด 6 คัน ออกให้บริการน้ำดื่มเพื่อการอุปโภค-บริโภคแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนติดตั้งบ้านน็อคดาวน์ จากมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก จำนวน 10 หลัง และเต๊นท์ที่พักอาศัย 70 หลัง ให้ผู้ประสบภัยได้พักอาศัยชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนในเบื้องต้นแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.ฉะเชิงเทรา แม้ระดับน้ำในหมู่บ้านบ้านท่าเลียบ และบ้านนาโพธิ์ ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จะเริ่มลดระดับลงแล้ว
แต่กระแสน้ำได้ไหลบ่าผ่านเลยไปยังหมู่บ้านกระบกเตี้ย หมู่ที่ 5 ต.ท่ากระดาน และไหลเข้าหมู่บ้านดอนท่านา ต.คู้ยายหมี ก่อนลงคลองท่าลาด ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมขยายวงกว้างออกไปอีก 2 ตำบล โดยท่วมเส้นทางสัญจรและพืชไร่สวนเกษตรเสียหายไม่ต่ำกว่า 5,000 ไร่ ระดับน้ำสูงเฉลี่ย 80 เซนติเมตร
ที่ จ.อุบลราชธานี ปริมาณน้ำในลำแม่น้ำมูลยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "เมขลา" ที่อ่อนตัวลงเป็นดีเปรสชั่น
ทำให้มีฝนตกโดยทั่วไป ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำมูลในฝั่ง อ.วารินชำราบ และฝั่ง อ.เมืองอุบลราชธานี โดยเฉพาะชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณลำมูลน้อย เช่น ชุมชนวังแดง ชุมชนวัดป่าแสดอุดม 1 น้ำได้ท่วมบ้านเรือนแล้ว 84 ครอบครัว ชาวบ้านต้องย้ายไปอยู่บริเวณฝายน้ำล้นห้วยม่วงและซอยติ่งปลาเผา ส่วนในที่พื้นที่ อ.ดอนมดแดง และ อ.เขื่องใน ซึ่งมีลำน้ำชี ลำน้ำเซบาย และเซบกไหลผ่านระดับน้ำได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่นาของชาวบ้านเป็นบริเวณกว้าง สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานีออกสำรวจ พบพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายกว่า 8,000 ไร่ พืชไร่ 483 ไร่ พืชสวน 310 ไร่ และบ่อปลา 88 บ่อ
ที่ จ.กาฬสินธุ์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เริ่มระบายน้ำออกจากตัวอ่างเก็บน้ำ เพื่อเตรียมรับมือพายุโซนร้อนเมขลา
ขณะเดียวกันทางจังหวัดได้วิทยุสั่งการไปยังนายอำเภอทั้ง 18 อำเภอ ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมตั้งศูนย์ช่วยเหลืออุทกภัยระดับอำเภอเพื่อช่วยเหลือประชาชน