น้ำป่าซัดชาวบ้านตายไป 2 ศพ ครั้งนี้เปิดเผยขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 24 ส.ค. ที่ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ฝนตกหนักเกิดน้ำป่าสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร
ราษฎรกว่า 10 คน ของบ้านป่าเต้า หมู่ 11 ต.ทุ่งช้าง ที่ไปทำไร่ข้าวโพดพากันรีบกลับบ้านโดยจับมือกันเดินเรียงแถวข้ามสปริงเวย์ของอ่างเก็บน้ำ ทันใดนั้นมีน้ำป่าซัดมาอย่างรวดเร็วทำให้นางเกษร นิจะสิน อายุ 65 ปี อยู่บ้านเฟือยลุง หมู่ 9 ต.ทุ่งช้าง และนายวงศ์ โทปุรินทร์ อายุ 50 ปี อยู่บ้านป่าเต้า หมู่ 11 ต.ทุ่งช้าง หลุดออกจากกลุ่มเพื่อนบ้านพยายามช่วยแต่ไม่ทัน ร่างของคนทั้งสองไหลไปตามกระแสน้ำป่าอย่างรวดเร็ว ตกจากสปริงเวย์ไปต่อหน้าต่อตาทุกคนจมหายไป นายมี วงศ์วาท ผู้ใหญ่บ้าน และนายสง่า ปันนิตามัย กำนันตำบลได้รับแจ้ง ระดมอาสาสมัครช่วยกันค้นหาตลอดทั้งคืน จนกลางดึกน้ำในลำห้วยลดลงแล้ว พบศพนางเกษรติดอยู่ที่ฝายกั้นน้ำห่างจากจุดเกิดเหตุ 1 กิโลเมตร ซึ่งฝายดังกล่าวได้รับความเสียหายจากน้ำป่าในครั้งนี้ด้วย สำหรับนายวงศ์ โทปุรินทร์ ยังไม่พบ
ต่อมาตอนเช้าวันที่ 25 ส.ค. นายสมพงษ์ อนุยุทธ พงศ์ ผวจ.น่าน ทราบเหตุสั่งให้เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่านร่วมกับอาสาสมัครหน่วยกู้ภัยหลายแห่งและกองร้อยทหารพราน 3206 ออกค้นหาแล้ว
จนเวลา 15.00 น. พบศพนายวงศ์ถูกกระแสน้ำพัดออกปากแม่น้ำน่านไปติดอยู่ก่อไผ่ เจ้าหน้าที่จึงนำศพไปมอบให้ญาติบำเพ็ญกุศลพร้อมกับให้ความช่วยเหลือครอบครัว นายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นอกจากที่ อ.ทุ่งช้างแล้ว มีฝนตกหนักที่ ต.ชนแดน อ.สองแคว ซึ่งสถานีเตือนภัยน้ำหลากดินถล่มของกรมทรัพยากรน้ำที่ติดตั้งในพื้นที่ ได้ส่งสัญญาณเตือนภัยเป็นสีแดงให้ราษฎรเตรียมพร้อมอพยพ เนื่องจากอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มได้
ส่วนที่ จ.หนองคาย หลังจากต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติน้ำท่วมทั้งจังหวัดนั้น บรรยากาศทั่วไปในเขตเทศ บาลเมืองหนองคายชาวบ้านย่านค้าขายยังเตรียมพร้อมโดยนำกระสอบทรายมาเรียงกั้นหน้าร้านค้า
บางร้านก่ออิฐทำคันกั้นน้ำไว้ด้วย ชาวบ้านบางส่วนกางเต็นท์นอนริมถนนในพื้นที่สูงเพราะผวาน้ำโขงล้นตลิ่งอีก สำหรับ อ.ท่าบ่อ อ.ศรีเชียงใหม่ และ อ.สังคม ยังมีน้ำท่วมขัง ประกอบกับฝนตกหนักทำให้พื้นที่อุทกภัยขยายวงกว้างออกไป หลายหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ เช่น แพทย์เข้าไปรักษาผู้ป่วยที่ไม่ สามารถเดินทางออกไปรับการรักษาตามสถานพยาบาลได้
นายเจด็จ มุสิกวงศ์ ผวจ.หนองคายเปิดเผยว่า ได้ ประสานขอความร่วมมือจากชลประทานจังหวัดหนองคายนำเครื่องสูบน้ำไปสูบน้ำออกจากพื้นที่
และจะเร่งเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายจากน้ำท่วมให้เกษตรกรรวมทั้งผู้ด้อยโอกาส เช่น คนชราและเด็ก คาดว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือภายใน 1 เดือน ส่วนการฟื้นฟูหลังน้ำลดนั้น เตรียมให้เกษตรกรปลูกพืชระยะสั้นโดยจะจัดเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดเข้าไปให้ความรู้และดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังได้ประสานกับจัดหางานจังหวัดหนองคาย เตรียมหางานให้กับครอบครัวที่ประสบภัยด้วย
สำหรับเรื่องที่นายบุญสนอง สุชาติพงศ์ โฆษกกรมชลประทานระบุว่า แม้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะลดต่ำลงกว่าตลิ่ง แต่ยังถือว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงอาจเอ่อท่วมซ้ำอีกนั้น นายเจด็จกล่าวว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งให้ ทุกอำเภอเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา และเตรียมกระสอบทรายไว้ตามจุดเสี่ยงเพื่อกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนซ้ำอีก