ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้เด็กๆ ของเราตกเป็นเหยื่อของอะไรต่อมิอะไร ที่เป็นภัยใหม่ๆ ทางอินเตอร์เน็ต เราจึงจำเป็นต้องสอนให้เขาเรียนรู้ว่า อะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำบนอินเตอร์เน็ต แต่จำเป็นหรือไม่ที่พ่อแม่จะต้องรู้เรื่องอินเตอร์เน็ตเท่าหรือดีกว่าที่ลูกๆ ของเขามี?!?
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th
เอฟเฟนดี้ อิบราฮิม มีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้าส่วนธุรกิจคอมซูเมอร์โปรดักส์ ประจำภาคพื้นเอเชียของ ไซแมนเทค ก็จริง แต่กลับบอกผมว่าอยากจะพูดคุยกับผมในฐานะของพ่อลูกสี่มากกว่าในฐานะตัวแทนของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์นอร์ตัน เพื่อความปลอดภัยบนอินเตอร์เน็ต เพราะหัวข้อที่เราถกกันในวันนั้นก็คือ ประเด็นที่ว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ให้เด็กๆ ของเราตกเป็นเหยื่อของอะไรต่อมิอะไรที่เป็นภัยใหม่ๆ เข้ามาหาลูกหลานของเราผ่านทางอินเตอร์เน็ต
"เฟนดี้" เปรียบเปรยให้ฟังว่า
คนเราทุกวันนี้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นอย่างเดียวไม่เพียงพอ มีโปรแกรมป้องกันก็ยังไม่พอ ต้องมี "เซนส์" ในการใช้ด้วยว่าจะใช้อย่างไรถึงได้ประโยชน์ และใช้อย่างไรถึงจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหลานของเราตกเป็นเหยื่อของภัยรูปแบบใหม่ๆ ต่างๆ เราจึงจำเป็นต้องสอนให้เขาเรียนรู้ด้วยว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำบนอินเตอร์เน็ต
ประเด็นหนึ่งที่เฟนดี้พูดถึงก็คือ
พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องบอกให้ลูกๆ ของเราตระหนักว่า ในโลกของความเป็นจริงนั้น คนเรามักไม่ใช่คนในแบบเดียวกับที่เขาบอกว่าเขาเป็นในอินเตอร์เน็ต เฟนดี้บอกว่า ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่มักบอกผู้อื่นในสิ่งที่อยากจะบอก หรือบอกเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจตัวตนของเขาไปในรูปแบบที่ต้องการ บทเรียนเบื้องต้นก็คือ อย่าเชื่ออย่างสนิทใจว่าข้อมูลที่เราได้รับจากอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นความจริงแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ และต้องระมัดระวังเสมอในเรื่องนี้
"เหมือนกับมีคนอ้างตัวว่าเป็นตำรวจมาเคาะประตูบ้านเรา เราก็ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า เขาคือตำรวจจริงอย่างที่อ้างหรือไม่" เฟนดี้ยกตัวอย่าง
ประการถัดมา เฟนดี้บอกว่า
ไซแมนเทคมีข้อมูลโดยภาพรวมของพ่อแม่ทั่วโลกอยู่ว่ามีพ่อแม่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่รู้ว่าลูกๆ ของตัวเองทำอะไรอยู่บ้างในอินเตอร์เน็ต เขาเชื่อว่าในไทยสัดส่วนที่ว่านี้อาจจะสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกดังกล่าวแล้ว
เขาบอกด้วยว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ของสิ่งที่เด็กๆ ทำบนอินเตอร์เน็ตนั้น ทำไปโดยที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เช่นเข้าไปดูเว็บโป๊ หรือดาวน์โหลดโปรแกรมหรือเกมผิดกฎหมายหรือเป็นอันตรายลงมา ที่สำคัญที่สุดก็คือ เด็กๆ ใช้อินเตอร์เน็ตยาวนานกว่าที่พ่อแม่ของเขาคิดว่าพวกเขาใช้มากถึง 10 เท่าตัว สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ พวกเขาอาจไม่ได้เข้าอินเตอร์เน็ตเพียงแค่จากที่บ้านอีกต่อไป แต่มีอีกหลายต่อหลายแห่งที่อำนวยความสะดวกให้พวกเขาทำได้ และ มีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ของพ่อแม่ทั่วโลกเท่านั้นที่พูดคุยกับลูกๆ ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยของการใช้งานอินเตอร์เน็ต
ในความเห็นของเฟนดี้ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ลูกๆ รอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อก็คือ การเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในวิถีชีวิตออนไลน์ของพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้สามารถให้ความเห็น คำแนะนำให้ถูกต้องและทันท่วงทีต่อลูกๆ ได้
จำเป็นหรือไม่ที่พ่อแม่จะต้องรู้เรื่องเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตมากเท่าหรือดีกว่าที่ลูกๆ ของเขามี?
คำตอบของเฟนดี้ก็คือ ถ้ารู้ได้ก็ดี แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป ที่สำคัญที่สุดก็คือ เราต้องนั่งลงพูดคุยธรรมดาๆ กับเด็กๆ ถามพวกเขาว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร พบอะไรบ้าง หาอะไรอยู่บนออนไลน์ มีเพื่อนใหม่บ้างหรือไม่ เพื่อนใหม่บนออนไลน์ของพวกเขาเป็นคนอย่างไร หน้าตาแบบไหน ไม่จำเป็นต้องแสดงท่าทีว่าจะเข้าไปแทรกแซงหรือห้ามปราม เพียงแต่อยากเปิดโอกาสให้ได้พูดคุยในสิ่งที่พวกเขาอยากทำและต้องการทำในอินเตอร์เน็ตเท่านั้น
"ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่เราต้องบ่มเพาะให้เป็นนิสัยติดตัวเด็กๆ ตั้งแต่พวกเขายังเยาว์ก็คือ ให้พวกเขาบอกเล่าทุกอย่างที่พบออกมาให้เราได้รับรู้ ถ้าเราฝึกพวกเขาให้บอกทุกอย่างตั้งแต่ยังเด็ก พวกเขาจะบอกเราทุกอย่างแม้เมื่อโตขึ้นมากแล้วก็ตาม"
เฟนดี้บอกว่า
มีหลายๆ อย่างที่พ่อแม่ควรรู้เพื่อกำหนดให้เป็นข้อปฏิบัติของเด็กๆ อย่างเช่นต้องไม่คลิกเพื่อเข้าเว็บไซต์จากยูอาร์แอลที่ส่งมาให้ทางอี-เมล เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของพวกฟิชชิ่ง ใช้ซอฟต์แวร์เพื่อความปลอดภัยที่มีฟังก์ชั่นป้องกันการโขมยอัตลักษณ์ส่วนบุคคล, ป้องกันสปายแวร์, พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการขู่กรรโชกผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเฟนดี้บอกว่า เริ่มมีมากขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย เด็กๆ ที่ตกเป็นเหยื่อมักเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปจากเดิมจนสังเกตเห็นได้ หากพ่อแม่ให้ความสนใจ
ประเด็นสุดท้ายเฟนดี้พูดถึงวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้หน้าเว็บในไฮไฟว์ หรือเว็บไซต์เพื่อสังคมอื่นๆนำพาภัยมาให้เรา หรือมีผู้ที่ไม่หวังดีนำภาพหรือข้อมูลของเราจากหน้าเว็บดังกล่าวไปใช้ในทางที่ไม่ดี หรือผิดกฎหมาย
อย่างแรกสุดก็คือ
การกำหนดความเป็นส่วนตัวให้กับภาพหรือวิดีโอในหน้าเว็บของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่น้อยคนมากจะนึกถึงหรือไม่ก็นึกถึงเป็นสิ่งสุดท้ายเสมอ เพื่อกำหนดว่าจะให้ใครบ้างสามารถจะพบเห็นภาพหรือวิดีโอดังกล่าวได้บ้าง, หลีกเลี่ยงการโพสต์ภาพหรือวิดีโอหรือข้อความที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเฟนดี้บอกว่า ขอให้นึกถึงว่าพ่อแม่หรือคุณย่าคุณยายจะตกใจหรือโมโหหรือไม่ถ้าพบข้อความหรือภาพทำนองนั้น ถ้าใช่ อย่าใส่มันลงในเว็บเพจเป็นอันขาด, ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นส่วนตัวจริงๆ ลงไปในเว็บ เฟนดี้ ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าสมมติว่าเราใส่ที่อยู่จริงๆ โดยละเอียดเข้าไว้ในหน้าเว็บของเรา วันหนึ่งข้างหน้าเราบอกผ่านเว็บเพจว่าจะไปเที่ยวไหนต่อไหน เท่ากับว่าเราบอกคนทั้งโลกว่าเราไม่อยู่บ้าน ใครอยากเข้าไปทำอะไรกับมันก็เชิญตามสะดวกนั่นเอง, ห้ามตกลงไปพบกับใครที่รู้จักผ่านออนไลน์ตามลำพัง
ประการสุดท้าย เขาเตือนไว้ด้วยว่าอย่าใส่ข้อความ ภาพ หรืออะไรก็ตามเกี่ยวกับตัวเราที่สามารถจะทำให้เราเสียใจในอีก 2-3 ปีข้างหน้าหรือในอนาคต
เขาบอกว่า ทันทีที่เราใส่ทุกอย่างลงไป มันจะอยู่ในนั้นและสามารถค้นหาผ่านอินเตอร์เน็ตได้จากทั่วทุกมุมโลกได้ตราบกัลปาวสานครับ!
ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11053
ทำอย่างไร ไม่ให้ลูกเป็นเหยื่อ...ภัยออนไลน์
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอาชญากรรม ทำอย่างไร ไม่ให้ลูกเป็นเหยื่อ...ภัยออนไลน์
Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว