สารพัดวิธี... หอพักแอบ ลักไก่ จุดอ่อนที่พ.ร.บ.หอพักตามไม่ทัน

ปวดเศียรกันไม่น้อย สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องการจัดระเบียบหอพัก สุดท้ายพม. ก็ได้ปัดฝุ่นพ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2507 โดยได้ออกประกาศกระทรวง เรื่องการจัดระเบียบหอพัก แต่ในความเป็นจริง หอพักหลายแห่งยัง 'ลักไก่' ให้นศ.หญิง-ชายอยู่ด้วยกัน?!?


ปวดเศียรเวียนหัวกันไม่ใช่น้อย สำหรับการหาวิธีแก้ปัญหาเรื่องการจัดระเบียบหอพัก จนสุดท้ายก็ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ได้ปัดฝุ่นพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ.2507
 
โดยได้ออกประกาศกระทรวง เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2550 เรื่องการจัดระเบียบหอพัก ว่า "สถานที่ใดดำเนินการให้ผู้มีอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ และอยู่ในระหว่างการศึกษาระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี เช่าพักอาศัย ตั้งแต่ระดับ 5 คนขึ้นไป ถือเป็นหอพักตามกฎหมาย ต้องมีการจดทะเบียนเป็นหอพัก และต้องแยกเป็นหอพักชายและหอพักหญิง ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 6 เดือน และกระทรวงมีอำนาจส่งเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมกิจการแทนได้"

แต่กระนั้นในสภาพความเป็นจริง ก็ยังมีหอพักหลายแห่ง ที่ยังคง "ลักไก่" เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดให้บริการกับผู้เช่าที่เป็นนิสิตนักศึกษาทั้งหญิงและชาย ทั้งๆ ที่จดทะเบียนชัดเจนแล้วว่า เป็นหอพักชายหรือหญิง



เช่นเดียวกับหอพักนักศึกษาแห่งหนึ่งย่านรังสิต "น้อย" (นามสมมุติ) นักศึกษาผู้เช่าบอกว่า

แม้ว่าหอพักแห่งนี้จะดำเนินการจดทะเบียนเป็นหอพักชาย แล้วแต่ความเป็นจริงยังคงให้บริการนักศึกษาหญิงอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนักศึกษาหญิงที่เข้าพักจะต้องยื่นเอกสาร เช่น ต้องยื่นบัตรประชาชนที่เป็นของนักศึกษาชายในการทำสัญญาเช่า เพื่อเป็นการปิดบังข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ และหากเกิดกรณีเจ้าหน้าที่ดูเอกสารแล้วขึ้นไปตรวจหอพัก ผู้ดูแลหอจะโทร.ขึ้นไปบนห้องที่มีนักศึกษาหญิงพักอยู่ แล้วบอกว่าไม่ต้องเปิดประตูให้ทำเป็นว่าไม่มีใครอยู่ในห้อง

เมื่อสอบถามไปยังผู้ดูแลหอพัก ก็พบกับคำตอบที่แกตัวแบบกลายๆ ว่า มันจำเป็น

"มันจำเป็นจริงๆ เพราะสัญญาเช่าที่ทำไว้กับนักศึกษายังไม่หมดอายุ หากให้เขาออก ทางหอพักต้องชดใช้ค่าสัญญาตรงนี้ซึ่งคิดรวมๆ แล้วก็เป็นหลักแสน ปัญหาตรงนี้รัฐจะช่วยรับผิดชอบหรือเปล่า เพราะตอนนี้ห้องว่างหลายห้องไม่มีคนมาเช่าก็แย่แล้ว"

นอกจากวิธีการ "ปลอมตัวผู้เช่า" แล้ว

จากการสอบถามนักศึกษาผู้เช่า ก็ได้แจกแจงวิธี "ลักไก่" ในรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น บางหอพักมีการติดป้ายประกาศชัดเจนว่า "ไม่รับนักศึกษา" แต่ในความเป็นจริง พบว่า ผู้เช่าส่วนใหญ่คือนักศึกษาทั้งชาย-หญิง พร้อมทั้ง "เตี๊ยม" คำตอบเสียด้วย หากเกิดกรณีฉุกเฉิน มีเจ้าหน้าที่รัฐมาตรวจสอบว่า "ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย"

รวมทั้งยังมีวิธีเสียค่า "แป๊ะเจี๊ยะ" ติดสินบนแก่เจ้าหน้าที่ท้องที่อีกต่างหาก

เฮ้อ..สารพัดวิธีที่จะหลบเลี่ยงกฎหมาย

ทว่า...หอพักบางแห่งก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งก่อนที่นักศึกษาจะทำสัญญาเช่านั้น ทางหอพักจะแจ้งให้ทราบทันทีว่าเป็นหอพักแยกชายหญิง นอกจากนี้ยังมีมาตรการให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเดินตรวจตราความเรียบร้อยในแต่ละชั้น นอกเหนือจากการดูผ่านกล้องวงจรปิดเพียงอย่างเดียว

แม้ว่าการออกกฎระเบียบมาควบคุมกันอยู่กัน ฉันสามี-ภรรยา ดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ก็คงไม่ปฏิเสธว่า เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ผู้ใหญ่ในสังคมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ ที่สำคัญ คือการเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ จำเป็นต้องต่อเนื่อง ระยะยาว และต้องเข้มงวดกวดขันให้มากกว่าที่เป็นอยู่


ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11049


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์