พม่านับล้านไร้ที่อยู่ ศพอืดเน่า ผวาโรคระบาดซํ้า

ความคืบหน้าเหตุการณ์ภัยพิบัติพายุไซโคลน “นาร์กีส” ที่พัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันตกของพม่า รวมถึงนครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่า

ก่อความเสียหายมหาศาล ยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการยังไม่ชัดเจน แต่คร่าวๆ มีผู้เสียชีวิตสังเวยพายุแล้วอย่างน้อย 22,500 ศพ สูญหายอีกกว่า 41,000 คน ภายหลังพายุพัดถล่มพม่าผ่านไป 5 วัน ความช่วยเหลือจากต่างชาติเริ่มทยอยเข้าถึงพม่า แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าแสดงท่าทีไม่ต้องการรับความช่วยเหลือจากใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความช่วยเหลือจากสหรัฐฯที่พร้อมให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินได้ทันที เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่สังกัดองค์กรความช่วยเหลือจากต่างชาติอีกหลายสิบคน ยังติดค้างอยู่ในไทยหรือไม่ก็ที่สนามบินนครย่างกุ้ง เพราะ รัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธออกวีซ่าเข้าประเทศให้กับเจ้าหน้าที่ เหล่านั้น ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าอาหารและความ ช่วยเหลือจากต่างชาติบางส่วนอาจเน่าเสียก่อนถูกส่งถึง มือผู้ประสบภัย เพราะพม่าไม่มีเจ้าหน้าที่จัดการดูแลเรื่องนี้อย่างเพียงพอ โดยขณะนี้ความช่วยเหลือจากต่างชาติหลั่งไหลสู่พม่าแล้วเป็นเงินกว่า 28 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ
 

เมื่อวันที่  7 พ.ค. นายริชาร์ด ฮอร์ซีย์ โฆษกสำนัก งานความร่วมมือกิจการด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือโอซีเอชเอ สำนักงานในกรุงเทพฯ แถลงว่า

สหประชาชาติ ยังหวังว่ารัฐบาลทหารพม่าจะเร่งดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือจากต่างชาติเข้าไปสู่พม่าอย่างสะดวก ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าได้แต่งตั้งนายอู หม่อง มิ้นต์ รมช.ต่างประเทศ ให้รับหน้าที่จัดการเรื่องวีซ่าให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่องค์กร ความช่วยเหลือจากต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้าพม่า หากการดำเนินงานทำได้อย่างรวดเร็วก็จะยิ่งส่งผลดีต่อผู้ประสบภัยพายุชาวพม่าจำนวนหลายแสนคนที่ยังรอความช่วยเหลืออย่างมีความหวัง และเมื่อบ่ายวันพุธ ตามเวลาในประเทศไทย รัฐบาลพม่าอนุญาตให้เที่ยวบิน ลำเลียงความช่วยเหลือของสหประชาชาติจากอิตาลี พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวน 25 ตัน เดินทางเข้าสู่พม่าแล้ว
 

นายริชาร์ดกล่าวด้วยว่า จากการประเมินเบื้องต้น ชาวพม่ายังไร้ที่อยู่อาศัยและต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำดื่มและอาหารราว 1 ล้านคน

พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ซึ่งประสบความเสียหายจากพายุไซโคลนนาร์กีส ยังมีน้ำท่วมขังกินบริเวณกว้างราว 5,000 ตารางกิโลเมตร ขณะที่ชาวพม่าผู้ประสบภัยพายุหลายพันคนที่มีรายงานการสูญหายก่อนหน้านี้ ต่างพากันเดินทางกลับสู่ถิ่นพำนักเดิมกันบ้างแล้ว พร้อมกับเห็นสภาพอันน่าอเนจอนาถใจของผู้เสียชีวิตและบรรดาสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย
 

ส่วนสถานการณ์ทั่วไปในพื้นที่ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีส นายแอนดรูว์ เคิร์ควูด เจ้าหน้าที่สังกัดองค์กร “เซฟ เดอะ ชิลเดรน”
 
หนึ่งในไม่กี่องค์กรความช่วยเหลือจากต่างชาติที่ได้รับอนุญาตเข้าพม่า เผยว่า ชาวบ้านนับล้านคนยังไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภคและไม่มีอาหารประทังชีวิต ถ้าความช่วยเหลือไม่ถูกส่งถึงมือชาวบ้านอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะมีผู้คนล้มตายอีกไม่รู้กี่ล้านคน ขณะนี้สภาพศพผู้เสียชีวิตเริ่มเน่าเปื่อยกองเรี่ยราดอยู่ตามพื้นดิน และที่สำคัญโรคระบาดกำลังเกิดขึ้นตามมา
 



นักวิเคราะห์การเมืองพม่าชี้ว่า เหตุผลที่รัฐบาลทหารพม่าไม่อนุญาตองค์กรความช่วยเหลือจากต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ เพราะกลัวกระทบอำนาจทางการเมือง

เช่นเดียวกับที่เคยเกิดเหตุลักษณะนี้เมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติ คลื่นสึนามิพัดถล่มหลายพื้นที่ของพม่าเมื่อปลายปี 2547 นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่า การตัดสินใจของรัฐบาลพม่าในเรื่องนี้ ยิ่งจะก่อให้เกิดกระแสประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ามากขึ้น ท่ามกลางสภาวการณ์ราคาอาหารและเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก  นอกจากนั้น การที่รัฐบาลทหารพม่า ยังยืนกรานกำหนดการเดิมเรื่องลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันเสาร์ที่ 10 พ.ค.นี้ ทั้งๆที่ชาวบ้านนับล้านคนยังประสบหายนภัยอย่างแสนสาหัส ได้ก่อให้เกิดกระแสคัดค้าน จากทั้งฝ่ายค้านรัฐบาลพม่าและจากนานาชาติ โดยที่ฟิลิปปินส์ กลุ่มผู้ชุมนุมราว 30 คน ประท้วงหน้าสถานทูตพม่าในกรุงมะนิลา เรียกร้องให้เลื่อนการลงประชามติออกไปและให้รัฐบาลพม่าอนุญาตองค์กรความช่วยเหลือจากต่างชาติเดินทางเข้าพม่าทันที ระบุนี่ไม่ใช่เวลาเรื่องการเมือง แต่คือช่วงเวลาที่ต้องรีบรักษาชีวิตประชาชน ส่วนรัฐบาลสหรัฐฯเรียกร้องถึงสหประชาชาติ ให้ปฏิเสธผลการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพราะเห็นว่ารัฐบาลทหารพม่าต้องการผลักดันการรับร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ในช่วงนี้ แม้แต่นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ยังระบุการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญท่าม กลางสภาพการณ์เช่นนี้ เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง 

ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารของสหประชาชาติ ระบุผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กีสถล่มพม่า จะกระทบถึงผลผลิตและการส่งออกข้าวของพม่าด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลเมื่อปี 2547 พม่าส่งออกข้าวสารมากราว 114,000 ตัน แต่ปีที่แล้ว 2550 การส่งออกข้าวลดเหลือแค่ 40,000 ตัน เพราะรัฐบาลทหารสั่งจำกัดการส่งออก ขณะที่ปี 2551 หลังรัฐบาลผ่อนปรนเงื่อนไขการส่งออกข้าว ทำให้เชื่อว่าพม่าอาจส่งออกข้าวได้มากถึง 600,000 ตัน แต่สถานการณ์ ต้องเปลี่ยนไป หลังพม่าเผชิญพายุไซโคลนนาร์กีส เพราะพื้นที่ปลูกข้าวได้รับความเสียหายอย่างกว้างขวาง 


ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ระบุรัฐบาลทหารพม่าได้สั่งเนรเทศนายแอนดรู ฮาร์ดิง ผู้สื่อข่าวบีบีซีของอังกฤษออกนอกประเทศ

อ้างเหตุเพราะผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว ถือวีซ่านักท่องเที่ยวเข้าพม่า แต่พยายามรายงานข่าวสถานการณ์ผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กีส พัดถล่มพม่า ซึ่งพม่าถือว่าผิดเงื่อนไขการขอวีซ่านักท่องเที่ยว  ในส่วนความช่วยเหลือของประเทศไทยนั้น วันเดียวกัน พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน เผยว่า เนื่องจากพม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อประสบปัญหาจึงต้องเร่งให้การช่วยเหลือ โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้บริจาคเงินจำนวน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งน้ำมันและอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น นอกจากนี้ บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมบริจาค 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมน้ำมันดีเซล 1 แสนลิตร รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯบริจาค 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมเร่งส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรกู้ระบบไฟฟ้าให้สามารถดำเนินการได้ตามปกติ รวมถึงอุปกรณ์ ติดตั้งไฟฟ้า ทำให้หน่วยงานด้านพลังงานร่วมกันช่วยเหลือพม่าเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะ ที่แท่นผลิตแหล่งเยตากุนและยาดานา ยังดำเนินการผลิตต่อไปตามปกติแต่ได้อพยพพนักงานประจำสำนักงานในนครย่างกุ้ง 40 คนกลับไทยแล้ว
 

ส่วนช่วงบ่าย นายพงษ์ วิเศษไพฑูรย์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ

และนายณัฐกฤช ศิวะศรี รองประธานเขตประเทศพม่า บริษัทเมียนมาร์ ซี.พี. ไลฟ์สต็อก จำกัด เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้มอบเครื่องอุปโภคบริโภครวมมูลค่า 10 ล้านบาท ให้นายเยวิน เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย หลังจากที่ได้มอบผ่านกองทัพไทยไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 6 พ.ค. รวมมูลค่า 550,000 บาท  นายพันธ์เลิศ ใบหยก ประธานกรรมการกลุ่มโรงแรมใบหยก ซึ่งไปเปิดธุรกิจโรงแรมที่นครย่างกุ้ง เผยว่า โรงแรมในเครือของตนเสียหายไม่มากนักและยังคงรับรองแขกที่เข้าพักได้ จะมีปัญหาก็แค่เรื่องไฟฟ้าที่มีไม่เพียงพอที่จะเปิดแอร์ในห้อง เนื่องจากพม่ามีปัญหาเรื่องไฟฟ้า เท่าที่ทราบบ้านเรือนชาวพม่าเสียหายมาก การสื่อสารถูกตัดขาด ประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ซึ่งทุกฝ่ายควรร่วมกันช่วยเหลือเป็นการด่วน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์