เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา
เกิดฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงและฝนตกหนักในหลายอำเภอของ จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา ส่งผลให้ถนนหลายสาย อาทิ ถนนมิตรภาพ หน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ถนนหน้าตลาดย่าโม และถนนอีกหลายสายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา มีน้ำท่วมขังเนื่องจากระบายน้ำลงท่อไม่ทัน และไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรที่อาศัยอยู่ริมถนนได้รับความเดือดร้อน รถยนต์ รถจักรยานยนต์หลายคันเครื่องยนต์ดับน้ำไหลเข้าเครื่อง ทำให้การจราจรในตัวเมืองหลายสายติดขัดอย่างหนัก
สถานีอุตุนิยมวิทยา จ.นครราชสีมา รายงานว่า สภาวะฝนตกหนักที่ จ.นครราชสีมา ในระยะนี้
เกิดจากความกดอากาศสูงแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ สำหรับปริมาณน้ำฝนที่ตกใน จ.นครราชสีมา เมื่อคืนที่ผ่านมา (27 เม.ย.) วัดได้สูงสุดที่ อ.เมืองนครราชสีมา 92.0 มิลลิเมตร ภายหลังฝนตกมีชาวบ้านพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการนำอุปกรณ์ อาทิ ไฟสปอตไลต์ สวิง ไม้ไผ่ และข้อง ออกไปหาจับอึ่งอ่างที่ออกมาเล่นน้ำฝนที่บริเวณป่าและไร่มันสำปะหลังใกล้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง เพื่อนำไปปรุงอาหารและขายเป็นรายได้ ในช่วงเช้าที่บริเวณริมถนนสายราชสีมา-ปักธงชัย หน้าสวนรุกขชาติปรุใหญ่ อ.เมืองนครราชสีมา มีชาวบ้านนำเห็ดชนิดต่างๆ มาวางขาย เช่น เห็ดโคน เห็ดไค เห็ดปลวก และเห็ดละโงก เป็นต้น
เวลา 17.00 น. ได้เกิดลมพายุพัดในพื้นที่เขต อ.เมืองพิษณุโลก
ทำให้หลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน และผลกระทบจากแรงลมที่พัดกระหน่ำ เป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ทำให้ป้ายโฆษณาของบริษัท ไอเดียเฟอร์นิเจอร์ ที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์ หมู่บ้านชินลาภ ต.สมอแข พังลงมากองพื้นล่าง นอกจากนี้ ร้านค้าภายในงานกาชาด ศาลากลางพิษณุโลก ถูกลมพายุพัดพังเสียหายกว่า 10 แห่ง
นายธาดา ศรัทธา หน.สถานีอุตุนิยมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า
ฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2551 จะเริ่มต้นในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพ.ค. ซึ่งเร็วกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 1 สัปดาห์ และในช่วงต้นฤดูฝนอาจเกิดภัยธรรมชาติตามมา ล่าสุด พายุไซโคลนในทะเลอันดามัน ได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้ภาคเหนือด้านทิศตะวันตก ประกอบกับจะมีร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ในเดือนพ.ค.-ก.ย. รวมไปถึงพายุหมุนเขตร้อนจากทะเลจีนใต้ เคลื่อนตัวเข้าใกล้ภาคเหนือด้านทิศตะวันตก ในเดือนส.ค.และก.ย.อีกประมาณ 1-2 ลูก จึงขอเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน เตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติ ได้แก่ น้ำป่าไหลหลาก, น้ำท่วมฉับพลัน และอุทกภัยตามที่ลาดเชิงเขาและที่ลุ่มน้ำ โดยให้เฝ้าระวังภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ จากฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่น และภัยแล้ง จากฝนที่ทิ้งช่วงในพื้นที่เสี่ยงภัยความแห้งแล้ง และควรเตรียมการวางแผนการเพาะปลูก กักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ ตลอดจนติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง