สื่อต่างประเทศตีแผ่วัดพระบาทน้ำพุ ตะลึงจัดทัวร์พิศดารโชว์ชะตากรรมคนตาย-ผู้ป่วยเอดส์ใกล้สิ้นลม งงระดมทุนจากการบอกบุญนักท่องเที่ยวได้เงินมากมาย ทั้งวัดและเจ้าอาวาส สร้างเป็นอาณาจักร แต่เมินซื้อยาประทังชีพเอดส์ให้ผู้ป่วย แถมระบบบริหารจัดการแย่ ปล่อยคนป่วยอยู่ในสภาพแสนอนาถา เผยแม้แต่อาสาสมัครต่างชาติรายสำคัญยังสูญเสียศรัทธา จนต้องโบกมือลา
บทความของ 'Timesonline' จาก The Sunday Times ที่เขียนโดยนายแอนดรูว์ มาร์เชลล์ ได้ตีแผ่ประสบการณ์ในการร่วมเดินทางทัวร์วัดพระบาทน้ำพุ
บทความดังกล่าวซึ่งใช้ชื่อว่า ฤาวัดพระพุทธจะเดินซ้ำรอยวัดแห่งความวิบัติ ระบุว่า ปัจจุบันวัดพระบาทน้ำพุ เป็นที่รู้กันในฐานะสถานดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี และยังเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กพิเศษ สถานที่แห่งนี้ถือเป็นอาณาจักรที่มั่งคั่งจากเงินบริจาค สร้างโดยพระอลงกต วัย 54 พรรษา ซึ่งเป็นพระสงฆ์ไทยชื่อดัง โดยเริ่มโครงการดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ตั้งแต่ปี 1992 โดยอาณาจักรสงฆ์แห่งนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน มีขนาดพื้นที่ครอบคลุม 1,200 เอเคอร์ เป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็กกำพร้านับพันชีวิต รวมทั้งเด็กกำพร้าที่ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมาก โดยวัดพระบาทน้ำพุ มีความหมายถึงการย่ำรอยเท้าของพระพุทธเจ้า แต่ชื่อวัดก็ได้กลายเป็นภาพลักษณ์ที่ทำให้พระสงฆ์ในอาณาจักรสงฆ์แห่งนี้สามารถเรียกเงินเรี่ยไรได้หลายล้านปอนด์ จากการณรรงค์โฆษณากิจกรรมช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ของวัด ที่มีการติดโปสเตอร์และตั้งกล่องรับบริจาคเงินทั่วประเทศ
นายแอนดรูว์ยังบรรยายต่อไปว่า ในการบริจาคเงินให้แก่อาณาจักรสงฆ์แห่งนี้ ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวตะวันตกที่ศรัทธาต่อกิจกรรมของวัด ขณะที่วัดยังได้เปิดกิจกรรมทัวร์ท่องเที่ยววัดด้วยการให้ชมสภาพกิจกรรมและชะตากรรมของผู้ป่วยเอดส์ใกล้ตาย จุดหนึ่งรวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า'พิพิธคนเป็น'ซึ่งจะมีทั้งศพของผู้เสียชีวิตในสภาพที่ถูกสตาฟฟ์ร่างเป็นมัมมี่ โดยป้ายโฆษณาชวนเชื่อระบุข้อความที่เป็นสัจจธรรมแห่งชีวิต พร้อมทั้งป้ายบอกอาชีพของผู้ป่วยที่มีหลากหลายเช่น นักร้อง,หญิงโสเภณี และชายโสเภณีด้วย
สิ่งที่สร้างความตะลึงในการทัวร์ดังกล่าวคือ วัดแห่งนี้ มีเตาเผาศพ 8 เตา
และสวนแกะสลักงานศิลปะหยาบ ๆ ของผู้ป่วยเอดส์ที่ทำจากกระดูกของคนตาย โดยระหว่างการทัวร์จะมีหลายขึ้นตอน จุดสุดท้ายจะเป็นการเยือนชมพระพุทธรูปที่ล้อมรอบด้วยกำแพงถุงทรายที่บรรจุด้วยอัฐของผู้ตายจำนวนหลายพันคน ที่คอยให้ญาติของพวกเขามารับ จากนั้นสิ่งที่จะตามมาก็คือ นักท่องเที่ยวจะถูกเรี่ยไรเงินเพื่อขอเงินบริจาคช่วยเหลือวัด
นายแอนดรูว์ระบุว่า สภาพความเป็นอยู่ในอาณาจักรช่วยเหลือผู้โรคเอดส์นี้ ให้บรรยากาศสุดสลดหดหู่ พร้อมคำถามหลายอย่างในใจ รวมทั้งอาสาสมัครของวัดพระบาทน้ำพุ ซึ่งต้องช่วยเหลือผู้ป่วยในสภาพตามยถากรรม จำนวนนี้รวมทั้งนายไมเคิล บาสสาโน่ บาทหลวงจากนิวยอร์ก ที่ถือเป็นอาสาสมัครยาวนานที่สุดของวัดแห่งนี้
Times แฉวัดพระบาทน้ำพุ สร้างอาณาจักรบนซากผู้ป่วยเอดส์
นายบาสสาโน่เล่าว่า ผู้ป่วยบางคนบ้างเดินทางมายังวัดแห่งนี้ด้วยความสมัครใจ
บ้างก็ถูกทอดทิ้งเหมือนขยะ ขณะที่เจ้าหน้าที่รายอื่น ๆ ก็ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยแต่ในสภาพไม่เต็มไม้เต็มมือ โดยวัดต้องปล่อยให้ผู้ป่วยตายอย่างอนาถา ซึ่งอาจเป็นคำสอนของวัดนี้ที่อ้างว่า ชีวิตในโลกหน้าจะดีกว่าโลกนี้ จำนวนนี้รายหนึ่งยังรวมทั้งชะตากรรมของชายป่วยเอดส์ใกล้ตายรายหนึ่งที่กรีดร้องเหมือนสัตว์ โดยเจ้าหน้าที่ต่างมองว่า เขากำลังถูกลงโทษจากบาปในอดีต ที่เคยเป็นคนเชือดสัตว์มาก่อน เช่นเดียวกับผู้ป่วยเองก็เชื่อว่าการติดเชื้อเอดส์ เป็นคำพิพากษาของกรรม เช่น อดีตวิศวกรรายหนึ่ง ที่ติดเอดส์โดยบังเอิญจากภรรยา ซี่งเขาเชื่อว่าสาเหตุที่ตัวเองต้องทำเอดส์ ก็เพราะเคยทำเลวกับภรรยามาเยอะ
นายแอนดรูว์ระบุต่อไปว่า สำหรับสภาพวิถีชีวิตของวัดพระบาทน้ำพุถือว่าค่อนข้างอัตคัต
แต่ละรายจะได้รับเงินเดือนเฉลี่ย 3,500-7,500 บาท ขณะที่เจ้าหน้าที่บางคนซึ่งเคยเป็นอดีตพยาบาลเปิดเผยว่า เขาทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน สภาพการทำงานไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยอะไรได้มาก จนหลายครั้งรู้สึกท้อแท้ แต่ก็ไม่อยากทิ้งที่นี่ไป เพราะห่วงว่าจะไม่มีใครมาทำงานเช่นนี้แทน
นายแอนดรูว์ระบุว่า วัดแห่งนี้เคยมีแพทย์และพยาบาลอาชีพ 5 คน
โดยอาสาสมัครคนสุดท้ายที่ทำงานที่นี่เป็นชาวเบลเยี่ยม ออกไปเมื่อปี 2004 และเคยเขียนบทความวิจารณ์สภาพการบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยอย่างแย่ ขาดอุปกรณ์ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และระบุว่า เจ้าหน้าที่จะมีสภาพเป็นทาส ส่วนนักท่องเที่ยวก็จะเหมือนกับพวกมนุษย์กินคน ขณะที่พระสงฆ์เจ้าของวัดนี้ก็บริหารวัดเหมือนโรงงานแห่งความตาย เหมือนกิจการของครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากหนังสือดังกล่าวถูกตีพิมพ์ ปรากฎว่าทางวัดได้ขอให้อาสาสมัครชาวต่างชาติทุกคน ยกเว้นนายบาสซาโน่ออกไป
รายงานยังระบุว่า สำหรับสภาพของผู้ป่วยนั้น จะได้รับการดูแลอาการจากแพทย์แค่เดือนละครั้ง โดยจะถูกนำร่างไปตรวจสภาพในวัดใกล้เคียงในจังหวัดลพบุรี และเมื่อกลับหน้าที่ดูแลก็จะตกเป็นของพยาบาลดังกล่าว โดยบางครั้งก็ไม่สามารถทำอะไรได้ หากเกิดกรณีฉุกเฉินกับผู้ป่วยหลายอื่น ๆ โดยหลายครั้งที่ผู้ป่วยต้องไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
นอกจากนี้ ผู้ป่วยจำนวนมากยังมีอาการสูญเสียความทรงจำ และต้องอาศัยอยู่ในกรงเหล็กในห้องน้ำ เพื่อป้องกันอาการคลุ้มคลั่งของพวกเขา โดยรายหนึ่งยังถูกผู้ป่วยรุมทุบตีและปิดปากด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนเผยด้วยว่า เขาไม่ชอบการทัวร์ลักษณะนี้ เพราะไม่ต้องการเห็นคนอื่นเห็นคนเป็นเอดส์
นายแอนดรูว์บรรยายว่า ในสังคมไทย พระรูปดังๆ จะมีชื่อเสียงโด่งดังราวนักร้องเพลงร็อค จะได้รับการนับหน้าถือตาจากนักการเมืองและคนดังและร่ำรวยด้วยเงินบริจาค
สำหรับพระอลงกต เคยมีประวีติจบการศึกษาในออสเตรเลีย และมีแผนจะตั้งโรงงานรีไซเคิลหญ้า
แต่กลับมาเป็นบวชเป็นพระแทน ก่อนจะได้แรงบันดาลใจตั้งวัดพระบาทน้ำพุ เพราะครั้งหนึ่งได้สัมผัสกับผู้ป่วยเอดส์ที่ตายต่อหน้า อย่างไรก็ตาม กิจกรรมปัจจุบันของพระอลงกรณ์ยังรวมทั้งการนั่งสนทนากับนักท่องเที่ยว โดยบางรายยังได้ฉวยเก็บภาพของท่านและพระเครื่อง เพื่อให้ท่านแจกลายเซ็นและภาวนา แต่บรรยกาศเหล่านี้หลายครั้งถูกทำลายด้วยเสียงเงินบริจาคในกล่องที่มักจะว่างเปล่าอยู่เสมอ
รายงานระบุว่า พระอลงกตยังได้ปกป้องกิจกรรมการทัวร์พิสดารของวัดว่า เพื่อเพิ่มการตระหนักของสังคมต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ และเพิ่มคุณค่าทางจิตใจของผู้ป่วยเอง โดยผู้ป่วยเหล่านี้จะได้มีโอกาสได้พูดคุยกับนักท่องเที่ยว เหมือนมีญาติมาเยี่ยม ซึ่งนายบาสซาโน่กล่าวว่า ผู้ป่วยมักจะมีจิตใจชีวาเมื่อได้เห็นพระอลงกรณ์มาเยี่ยมพวกเขา แต่ก็นานๆครั้งมาก
ขณะที่พยาบาลรายเดิมเล่าว่า ท่านถึงกับลืมชื่อของเธอ แม้ว่าเธอจะทำงานที่มาแล้ว 8 ปีก็ตาม
อย่างไรก็ตาม พระอลงกรณ์อ้างด้วยว่า วัดล้มเหลวที่จ้างบุคลากร เพราะหมอส่วนใหญ่อยากทำงานให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่ให้รายได้ดีกว่าเยอะ และว่าสถานที่แห่งนี้เหมือนได้นำความหวังใหม่และการต่อสู้อุปสรรคมาให้ โดยคนมาตายที่นี่ ก็จะได้รับการเผา คนจิตใจแตกสลายหรือถูกปฎิเสธจากครอบครัวมาที่นี่ก็จะได้รับการเลี้ยงดู ได้ที่พักและเสื้อผ้า พร้อมทั้งบอกว่า สถานที่ทุกแห่งในวัดพระบาทน้ำพุกำลังเผชิญกับภาวะด้านการเงิน และสงสัยว่าวัดจะอยู่รอดหรือไม่
อย่างไรก็ตาม นายแอนดรูว์ตั้งคำถามว่า เป็นเรื่องยากที่วัดจะอยู่ในสภาพขัดสนเงินทอง เพราะจากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของวัดบอกว่า พระอลงกตมีแผนที่จะสร้างศูนย์กีฬา มูลค่า 1.6 ล้านบาท และสลักทางปฎิบัติธรรมขึ้นเขาเป็นเงินจำนวน 8 ล้านบาท
ขณะที่นายบาสซาโนได้ตั้งคำถามว่า เขาสงสัยว่าในเมื่อมีเงินมากมายขนาดนี้ ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์
และวัดทำอย่างไรกับการบริหารเงินบริจาคเหล่านี้ แทนที่จะนำเงินมาช่วยเหลือผู้ป่วย ด้วยการซื้อยาบำบัดรักษาโรคเอดส์ หรือช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ยากไร้ในวัด รวมทั้งรถโรงพยาบาลที่แม้แต่วัดแห่งนี้ยังไม่มี และนี่ยังไม่นับรวมการซื้อเครื่องเล่นยิงลูกฟุตบอลจากยุโรป มาประดับในวัด ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดมันจึงจำเป็นสำหรับวัดแห่งนี้!
รายงานระบุว่า เป็นเรื่องยากที่จะถามพระเจ้าอาวาสทั่วไป เรื่องเงินบริจาคโดยไม่มีความรู้สึกเคลือบแคลงในศรัทธา
ซึ่งประเด็นการนำเงินไปใช้จ่ายอย่างไม่เหมาะสม ได้กลายเป็นคำขวัญล้อเลียนประเภทว่า'วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง'แล้วในสังคมไทย ขณะที่วัดพระบาทน้ำพุมีรายได้เฉลี่ย 4-5 ล้านบาทต่อเดือน ไม่รวมโครงการบ้านเด็กกำพร้า
นอกจากนี้ พระอลงกตยังได้รับเงินบริจาคโดยตรงเช่นกัน แต่ไม่มีการเปิดเผยตัวเลข โดยท่านอ้างว่าไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาเปิดเผยตัวเลขต่อสาธารณชน แต่อ้างว่าทางวัดมีระบบทำบัญชีที่ดี โดยพระอลงกตยังได้ขอให้นายแอนดรูว์ไปหาสำนักงานเลขาฯของวัดเรื่องการใช้จ่ายของวัด ซึ่งเมื่อเขาได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฎว่าแต่ละคนกลับให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ไม่ตรงกัน และไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่า โครงการบ้านเด็กกำพร้าได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างไร
รายงานระบุว่า ครั้งแรกที่พระอลงกตช่วยเหลือผู้ป่วยรายแรก นั่นเป็นเรื่องของความเห็นอกเห็นใจ
แต่จนถึงปัจจุบัน หรือ 16 ปีจากนั้น วัดพระบาทน้ำพุมีนักเที่ยวมาเยี่ยมเยือนกว่าหลายแสนคน และเงินทุนก็หลั่งไหลเข้ามา จนเหมือนผู้ป่วยของวัดจะถูกมองข้าม ขณะที่นายบาสซาโน่ชี้ว่า การเลี้ยงไข้ผู้ป่วยดูเหมือนจะเป็นจุดขายของวัดนี้ เพราะหากผู้ป่วยเข้มแข็งด้วยยารักษาโรคเอดส์แล้ว วัดก็คงจะได้รับเงินสนับสนุนน้อยลง ดังนั้น ยารักษาเอดส์สูตร ARV ที่ยังคงมีราคาสูง อาจถูกซื้อมาที่นี่ แต่มันก็จะไม่ได้ใช้กับคนไข้
รายงานระบุว่า ปัจจุบันนายบาสซาโน่ได้ลาออกจากการเป็นอาสาสมัครของวัดพระบาทน้ำพุแล้ว เพราะที่ผ่านมาเขาต้องทำงานด้านการแพทย์ที่ไม่มีการรับรองอย่างถูกกฎหมาย โดยไม่มีใบรับรองให้ผลิตยาในเมืองไทย อย่างไรก็๋ตาม เขายังคงวิจารณ์วัดพระบาทน้ำพุว่าขาดพื้นยารักษาโรคพื้นฐาน และอุปกรณ์การแพทย์ แม้ว่าวัดจะมีเงินจำนวนไม่น้อยก็ตาม