ข้อมูลชวนตะลึง! สาวไทยถูกข่มขืนวันละ 14 คน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 25 พฤษภาคม 2549 17:14 น.
สสส.-สคส.เปิดข้อมูลรับ วันสุขภาพผู้หญิงสากล ผู้หญิงทั่วโลกติดเชื้อเอดส์แล้วเกือบ 20 ล้านคน ส่วนใหญ่ติดจากสามี เยาวชนหญิง 15-24 ปี ติดเชื้อเฉลี่ยสูงถึงวันละ 6,000 คน ขณะที่สถิติหญิงไทยถูกข่มขืนละเมิดทางเพศวันละ 14 คน สสส.เปิดแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ หวังไขปัญหาให้ผู้หญิง
วันนี้ (25 พ.ค.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) แถลงข่าว วิกฤตหญิงไทย ไม่ปลอดภัยเรื่องเพศ น.ส.ณัฐยา บุญภักดี เจ้าหน้าที่มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) กล่าวว่า เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ที่มีสมาชิกทั่วโลก กำหนดให้วันที่ 28 พ.ค.ของทุกปีเป็น วันสุขภาพผู้หญิงสากล รณรงค์ให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงสิทธิและบริการสุขภาพที่จำเป็น ปี 2549 นี้ ที่ประชุมลงมติว่าวิกฤตที่ต้องเร่งป้องกันแก้ไข คือผู้หญิงกับเอชไอวี-เอดส์ เพราะทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา ต่างพบปัญหาเดียวกัน คือ ผู้หญิงติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มากขึ้น องค์กรเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ระบุว่า จนถึงปี 2548 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกราว 30-40 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงอายุ 15-24 ปี คือผู้ติดเชื้อรายใหม่มีอัตราเฉลี่ยวันละ 6,000 คน
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในช่วง พ.ศ.2547-2549 ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในไทยที่อายุ 15-24 ปี มีประมาณ 30,000 คน ซึ่งเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนกันทุกประเทศ คือ ผู้หญิงที่มีคู่แล้ว ติดเชื้อเอชไอวีจากผู้เป็นสามี ส่วนหญิงไทยติดเชื้อจากสามีสูงขึ้น 70% จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะผู้หญิงโดยส่วนใหญ่แทบจะไม่มีโอกาสได้ป้องกันตัว โดยสรุปส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ และโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธโดยสามี ทั้งนี้ โดยมากจะเป็นกลุ่มแม่บ้าน แต่ปัจจุบันพบว่ากลุ่มวัยรุ่นก็มีโอกาสเสี่ยงสูงมากกับการติดเชื้อเอชไอวี
น.ส.ณัฐยา กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือ ผู้หญิงจะเป็นเพศที่ปกปิดและไม่เปิดเผยในเรื่องของค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งต่างจากเพศชายที่ดูเหมือนจะมีความรู้และเปิดเผยเรื่องดังกล่าวมากกว่าเพศหญิง ซึ่งนั่นเป็นค่านิยมผิดที่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่อดีตว่าผู้หญิงจะต้องเป็นผู้ที่รักนวลสงวนตัว และไม่ควรที่จะเปิดเผยเรื่องอย่างนี้มากนัก จึงเท่ากับว่าปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับเพศจึงเป็นเรื่องที่น่าอาย น่าปกปิด มีผู้หญิงเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่มีการสำรวจและตรวจสุขภาพภายในของตนเอง เพราะเป็นเรื่องที่น่าอาย ซึ่งค่านิยมเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิด การหันมาใส่ใจกับสุขภาพภายในถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ยังมีผู้หญิงอีกไม่น้อยที่ไม่รู้วิธีการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยตนเอง หรือในเรื่องของมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งอื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องหันมาใส่ใจ ผู้หญิงส่วนใหญ่จึงต้องใช้ชีวิตอยู่กับความหวาดระแวงต่อโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ปัจจัยอื่นที่มีผลต่อปัญหาวิกฤตในเรื่องเพศ ก็จะมีเรื่องของการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ ปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราที่ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ยังไม่พร้อม ทำให้เกิดปัญหาการทำแท้งตามมา หรือปัญหาการใช้ความรุนแรงในชีวิตคู่ ที่โดยมากจะถูกสามีทำร้ายร่างกายส่งผลกระทบทางด้านจิตใจตามมา ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข และเร่งรณรงค์ให้ผู้หญิงต้องหันมาใส่ใจกับปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศโดยตรง
น.ส.ณัฐยา กล่าวว่า กรณีการร่างกฎหมายคุ้มครองการเจริญพันธุ์ ที่มีเนื้อหาสาระทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องเพศและสุขภาพเรื่องเพศที่ครอบคลุมทุกเพศวัย รวมทั้งทุกช่วงอายุ อาทิ ข้อมูลข่าวสารเรื่องเพศศึกษา การดูแลการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม การให้บริการข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ ครอบคลุมทุกช่วงอายุ โดยมีหลายภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันร่างกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่ปี 2545 จนมาถึงปลายปี 2548 จึงเสร็จสิ้น จึงอยากให้มีการผลักดันกฏหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์โดยเร็ว เพื่อเป็นประโยชน์อย่างมากในเรื่องดังกล่าว
ด้าน รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สังคมไทยจะต้องช่วยกันคลายปมปัญหาเรื่องเพศที่ไม่ปลอดภัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้หญิงทั้งกายและใจให้ได้ หลักการขั้นพื้นฐาน คือ ผู้หญิงทุกคนต้องได้รับสิทธิการคุ้มครองสุขภาพที่ครบถ้วนตลอดชีวิต ทุกบทบาทของการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่เป็นเมีย แม่ สาวโสด นักเรียนนักศึกษา ผู้หญิงที่มีเชื้อเอชไอวี ผู้หญิงทำงานบริการ ผู้หญิงสูงอายุ ผู้หญิงพิการ และผู้หญิงชนเผ่า รวมถึงผู้หญิงที่มีคู่เป็นหญิงด้วย
การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยอย่างเดียว ไม่อาจหยุดการระบาดของโรคได้ เพราะเป็นเรื่องที่โยงใยกับมิติทางวัฒนธรรมและสังคมสูงมาก และปัญหาสุขภาวะทางเพศของผู้หญิงมีความหลากหลาย และรวมเอาเรื่องของความรุนแรงต่อผู้หญิงเข้าไว้ด้วย อาทิ ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ปี 2548 มีผู้แจ้งความในคดีข่มขืนกระทำชำเราสูงถึง 5,065 คดี เท่ากับว่ามีผู้หญิงวันละ 14 คน ถูกข่มขืนและล่วงเกินทางเพศ ซึ่งมีการคาดประมาณว่าคนที่เข้าแจ้งความเป็นเพียง 5% ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นควรจะมีการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ รณรงค์ส่งเสริมและสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศแบบที่นำไปสู่ความปลอดภัย และการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีสุขภาพทางเพศที่ดี อันจะนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายต่อ