"นักวิชาการ"ยื่นจ.ม.เปิดผนึกอัยการ- เป็นพยานพันธมิตรฯชุมนุมสันติ
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 พฤษภาคม 2549 16:46 น.
อาจารย์นิด้า จับมือ นักวิชาการ ยื่น จม.เปิดผนึกพร้อมบันทึกคำให้การประชาชน505 คน ระบุชัด การชุมนุมโดยสันติเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เรียกร้องอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา สั่งไม่ฟ้อง 5 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ
วันนี้ (24 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณทิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พร้อมตัวแทนนักวิชาการจากกลุ่มนิด้าพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย, เครือข่ายจุฬาฯเชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย, เครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย ได้เข้าพบ นายวันชัย สร้อยทอง อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา เพื่อยื่นหนังสือเปิดผนึก และบันทึกคำให้การของนักวิชาการและประชาชน รวม 505 คน ขอให้อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง กลุ่มแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้ง 5 คน ประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ในความผิดฐาน 5 ข้อหาดังนี้
1.ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดที่มิใช่เป็นการกระทำโดยความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย 2.มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและมีผู้เป็นหัวหน้าสั่งการ 3.ร่วมกันเดินขบวนลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต 4.ร่วมกันวางตั้งหรือแขวนสิ่งใดในลักษณะกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 5.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า การชุมนุมของประชาชนและกลุ่มแกนนำพันธมิตรฯ เพื่อเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 อีกทั้งยังเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธี โดยที่ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมต่างก็สมัครใจ นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานชัดเจนว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็อำนวยความสะดวกในการชุมนุมเป็นอย่างดี แต่กลับมีการดำเนินคดีกับแกนนำพันธมิตรฯในภายหลัง ดังนั้นพวกตนจึงได้จัดทำคำให้การของนักวิชาการ และประชาชนเพื่อเป็นพยานให้กับแกนนำพันธมิตรฯทั้ง 5 ส่งมอบให้แก่อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา และเรียกร้องให้พิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีกับแกนนำพันธมิตรฯ
ด้าน อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา กล่าวว่า ทางอัยการยินดีรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายไว้พิจารณาประกอบสำนวนการสอบสวน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะทำงานอัยการ ซึ่งกำลังทำงานกันอย่างอย่างเร่งด่วน แต่เนื่องจากมีเอกสารต้องพิจารณากว่า 6,000 แผ่น ทำให้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสามารถมีคำสั่งคดีได้ตามนัดในวันที่ 29 พ.ค.นี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การพิจารณาสั่งคดีจะต้องยืนอยู่บนหลักของความเท่าเทียม และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย