นายกฯเซ็นคำสั่งเชือด เสรีพิศุทธ์ พ้นราชการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (8 เม.ย.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ลงนามสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 71/2551 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีมีข้าราชการตำรวจถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดวินัยร้ายแรงหลายกรณี ดังนี้ กรณีโครงการทุจริตโครงการรับซื้อลำไย ปี 2547 โดยนำเงินงบประมาณไปใช้จัดทำเอกสารอันเป็นเท็จ โดยใช้ชื่อ และปลอมลายมือชื่อ ในการเบิกเงินค่าใช้จ่ายการเดินทางไปราชการ, กรณีกล่าวหาว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจ ขนาด 200 ซีซี จำนวนกว่า 19,000 คัน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์,


เด้งที่2 เจอข้อหาบุกรุกแม่น้ำแควน้อย และเด้ง3เจอกล่าวหาใช้เฮลิคอปเตอร์ราชการไปผักผ่อน

กรณีกล่าวหาว่ารีสอร์ท ภูไพร ธารน้ำ จ.กาญจนบุรี ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี บุกรุกที่ดินของแม่น้ำแควน้อย และกรณีกล่าวหาว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ใช้เฮลิคอปเตอร์ของทางราชการ เดินทางไปพักผ่อนที่รีสอร์ทภูไพร ธารน้ำ ในวันหยุดราชการ   

นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 73/2551 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจออก จากราชการไว้ก่อน

 โดยระบุว่า ด้วย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ข้าราชการตำรวจประจำการ ตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรับเงินเดือนระดับ ส.9 ขั้น 10 (66,480 บาท) มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ดังนี้  1.ดำเนินโครงการเช่ารถยนต์บรรทุกขนาด 1 ตัน แบบดับเบิ้ลแคป จำนวน 2,894คัน โครงการเช่ารถตู้โดยสาร (เบนซิน) ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ขนาด15 ที่นั่ง จำนวน 1,447 คัน โครงการเช่ารถยนต์บรรทุกอเนกประสงค์ขนาด 3ตัน ขนาด 24 ที่นั่ง จำนวน 270 คัน และรถยนต์บรรทุกขนาด 3 ตันพร้อมติดตั้งอุปกรณ์กวาดเรือใบ เครนยก จำนวน 51 คันและโครงการเช่ารถยนต์บรรทุก (ขนาด 1 ตัน) แบบมีช่องว่างด้านหลังคนขับ จำนวน1,555 คัน ซึ่งใช้งบประมาณรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,899,578,200 บาทโดยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตและเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ซึ่งทำให้ทางราชการเสียหายตลอดจนเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทผู้ให้เช่ารถยนต์ อันถือได้ว่าเป็นการกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรงและเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้  2. สั่งการโดยใช้ถ้อยคำที่มิบังควรและไม่เหมาะสมในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานในบันทึกของกองสวัสดิการที่เสนอขอให้พิจารณางดการแข่งขันกีฬาภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติประจำปี2551 ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 21-28 มี.ค.2551เนื่องจากผู้เสนอเห็นว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างการไว้ทุกข์ตามมติ ครม. หากจัดการแข่งขันกีฬาภายในจะเป็นการไม่บังควร  3. ดำเนินการบริหารงานบุคคลโดยออกคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับพันตำรวจเอก ตำแหน่งผู้กำกับการฝ่ายปฏิบัติการที่ 1-10 ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ในกองบังคับการต่างๆ โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการทำให้ข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับตำแหน่ง จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในการแบ่งส่วนราชการของกองบังคับการต่างๆ และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุทำให้ราชการต้องเสียงบประมาณสำหรับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งโดยยังไม่มีการดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายเสียก่อนแต่อย่างใด จนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีลับมากที่ 34/2551 ลงวันที่ 29 ก.พ. 2551 และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลับมากที่ 45/2551 ลงวันที่ 13 มี.ค.2551 แล้ว และมีเหตุให้พักราชการได้ตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนพ.ศ.2547 ข้อ 3(1) และ (2) คือถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ราชการหรือเกี่ยวกับความประพฤติหรือพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจหากให้คงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการและจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนพิจารณาหรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นและได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการสอบสวนพิจารณาที่เป็นเหตุให้สั่งพักราชการนั้นจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว  ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 95 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ประกอบกับกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ข้อ 8 จึงให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  อนึ่ง ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามคำสั่งนี้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.ตร. ได้ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 105 และหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือภายใน 90 วัน นับแต่วันพ้นกำหนด 90วันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอทราบผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ 

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์