อนาถดญ.ไทย 11ขวบป่องแล้ว

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. รศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ รองคณบดีผ่ายพัฒนาคุณภาพ และ ผอ.ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาที่กำลังรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีการคลอดบุตรของแม่วัยรุ่นสูงถึงวันละ 140 ราย หรือประมาณปีละ 50,000 ราย ส่งผลกระทบต่อประชากรในแง่ของการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเยาวชนหรือวัยรุ่นเป็นวัยที่ควรจะต้องอยู่ในช่วงของการศึกษา หากวัยรุ่นตั้งครรภ์ในช่วงอายุนี้ จะทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ โดยเฉพาะการขาดความพร้อมในการดูแลสุขภาพทั้งตนเองในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด ทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กทารกลดลง


“การตั้งครรภ์ในแม่ที่ยังเป็นวัยรุ่น ถือเป็นปัญหา ใหญ่มาก นอกจากสุขภาพในเรื่องของแม่และเด็กแล้ว แม่วัยรุ่นยังมีปัญหาเรื่องของสภาวะอารมณ์ที่ไม่มั่นคง มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า เครียด ที่จะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ การปกปิดไม่ให้ผู้ปกครองรู้ ปัญหาเรื่องการเรียน การทำแท้ง รวมถึงการฆ่าตัวตาย” รศ.พญ. สุวรรณากล่าว
 

ขณะที่ พญ.จิราภรณ์ ประเสริฐวิทย์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี เปิดเผยว่า

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นปัจจุบันคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 20-30 ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด และเป็นร้อยละ 19 ของวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-19 ปี ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 เป็นการตั้งครรภ์แบบไม่ตั้งใจ ร้อยละ 30 นำไปสู่การทำแท้ง ร้อยละ 14 เป็นการแท้งบุตรเอง และอีกร้อยละ 56 มีการคลอดบุตร ซึ่งบุตรที่คลอดออกมามักจะมีปัญหาในเรื่องของน้ำหนักตัวน้อย เกิดก่อนกำหนด เสียชีวิตหลังคลอด และร้อยละ 10 ถูกทิ้งไว้ใน รพ. คิดเป็นอัตราเฉลี่ย วันละ 2.61 คนต่อแสนประชากร
 

พญ.จิราภรณ์กล่าวว่า ผลกระทบของการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่นไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ

ในด้านสุขภาพแม่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์มีปัญหาครรภ์เป็นพิษ และประมาณร้อยละ 57 มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดภายใน 4 ปี ทางด้านสังคมแม่วัยรุ่นกลุ่มนี้ จบการศึกษาต่ำกว่าศักยภาพ หรือเรียนไม่จบ ที่สำคัญคือเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการตั้งครรภ์ในแม่วัยรุ่นสูงกว่าประเทศในกลุ่มเอเชีย ที่มีการเปิดกว้างในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์กว่า 10 เท่า และมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเดียวกันอย่างมาก
 

“เมื่อไปดูตัวเลขการตั้งครรภ์ของแม่วัยรุ่นในกลุ่มประเทศใกล้ๆ เราถือว่าน่าตกใจ เพราะประเทศไทยมีอัตราการตั้งครรภ์ของแม่วัยรุ่นเทียบกับจำนวนประชากรที่ตั้งครรภ์และคลอด สูงถึง 70 คนต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่ประเทศอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้แต่จีน มีอัตราส่วนของแม่วัยรุ่นเพียง 4-5 คนต่อประชากรพันคน สิงคโปร์ ประมาณ 8 คนต่อพันคน แม้แต่ในกัมพูชา อัตราการตั้งครรภ์ของแม่วัยรุ่นยังอยู่ที่ประมาณ 15 คนต่อพันคน ไทยเราติดอันดับในกลุ่มเดียวกับอินเดีย บังกลาเทศ ซึ่งมีประชากรมากกว่าเราหลายเท่า” พญ.จิราภรณ์กล่าว



อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวด้วยว่า

สาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราส่วนของแม่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์สูงขึ้น มาจากค่านิยมทางเพศที่เปลี่ยนไป เด็กมีเพศสัมพันธ์เร็ว ขณะเดียวกัน เด็กก็ขาดความนับถือตัวเอง ขาดความรักในตัวเอง ต้องการความรัก ทำให้เกิด เงื่อนไขในการตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นทั่วโลก เรียกว่าเป็น โกลบอล เทรนด์ (Global Trend) ที่ขณะนี้เป็นหนุ่มสาวเร็วขึ้น เด็กผู้หญิงมีประจำเดือนเร็ว เด็กผู้ชายก็มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศเร็วขึ้น นอกจากนี้พ่อแม่ในปัจจุบัน ยังนิยมชดเชยภาวะขาดความรักให้ลูกด้วยเงิน ซึ่งอันตรายมาก
 

“ที่น่าตกใจที่สุด คือ ขณะนี้เราพบเด็กที่มาคลอดบุตรด้วยวัยเพียง 11 ขวบ เมื่อถามเรื่องการตั้งครรภ์ เด็กยัง ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่มีเพศสัมพันธ์กับเด็กด้วยกัน โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องการท้อง เนื่องจากยังไม่เคยมีประจำเดือน แต่อยู่ดีๆก็ท้องขึ้นมา มาหาหมอยังไม่รู้เลยว่าตัวเองท้องแล้ว นี่แสดงว่า ตกไข่ครั้งแรกก็ท้องเลย ทั้งๆ ที่ประจำเดือนยังไม่เคยมีด้วยซ้ำ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า เด็กอาจจะมีเพศสัมพันธ์มาก่อนอายุ 11 ขวบ ซึ่งน่าตกใจมาก” พญ.จิราภรณ์ กล่าว และว่า แนวทางแก้ปัญหาขณะนี้คือ การจัดตั้งคลินิกแม่วัยรุ่น หมายความว่า ถ้าหญิงที่มาฝากครรภ์มีอายุต่ำกว่า 18 หรือ 20 ต้องส่งมาที่คลินิกแม่วัยรุ่นเลย เพื่อให้สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ รวมทั้งจิตแพทย์ ให้การดูแล เพราะแม่ที่อายุน้อยๆ ถือว่ายังเป็นเด็ก เด็กซึ่งดูแลตัวเอง ให้ดีพอยังไม่ได้ จะสามารถดูแลลูกให้ดีได้อย่างไร ที่สำคัญวัยรุ่นถือเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งก็อันตรายอยู่แล้ว และถ้าท้องด้วยเป็นวัยรุ่นด้วย ยิ่งอันตรายมากขึ้น


พญ.จิราภรณ์กล่าวด้วยว่า นอกจากดูแลทั้งแม่ ทั้งลูกแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ซ้ำ

เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่ามากกว่าร้อยละ 25 ของแม่วัยรุ่นที่มาคลอดจะตั้งครรภ์อีกครั้งในช่วงเวลา 2 ปีต่อมา บางคนเพิ่งคลอดไปไม่ถึงปี กลับมาอีกแล้ว ท้องมาอีกแล้ว และส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่าพ่อของเด็กเป็นใคร ด้านนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมช.สาธารณสุข กล่าวในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ในอายุที่ต่ำมาก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสังคม เช่น ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาครอบครัว ที่ส่งผลให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ เร็วก่อนวัยอันควร จากสถิติของกรมอนามัย พบว่า อัตราการตั้งครรภ์ในแม่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สูงถึงร้อยละ 14.7 มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 นอกจากนี้ยังพบปัญหาอัตราทารกแรกเกิดมีน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม สูงถึงร้อยละ 8.7 ซึ่งสูงกว่าอัตรามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 7 ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมอนามัยไปดำเนินการเก็บข้อมูลเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์