ขบวนค้ามนุษย์มีเงินทุนหมุนเวียนนับพันล้านดอลลาร์/ เดลินิวส์
ทูตสันถวไมตรียูเอ็นย้ำกลางที่ประชุมต่อต้านการค้ามนุษย์ของ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขงระบุการค้ามนุษย์เป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไข ชี้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในขบวนการนับพันล้านดอลลาร์ พร้อมฉายภาพปัญหาเหยื่อ หากเป็นหญิงถูกบังคับค้าประเวณีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วนชายถูกบังคับขายแรงงาน ถูกทารุณ ด้านวัฒนาแจงประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญปัญหาการค้ามนุษย์ยกให้เป็นวาระแห่งชาติ มีนโยบายและแผนป้องกันทั้งในประเทศและข้ามชาติ ระบุแม้ไทยเป็นประเทศทางผ่านก็ไม่นิ่งนอนใจหาทางช่วยเหลือและป้องกัน รวมถึงลงนามบันทึกความเข้าใจกับเพื่อนบ้านเพื่อการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 พ.ค. ที่โรงแรมพลาซา แอทธินี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมระหว่างประเทศเรื่อง ความร่วมมือระหว่างประชาสังคมและภาครัฐ เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในอนุภูมิ ภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วยประเทศกัมพูชา จีน ลาว พม่า เวียดนามและไทย ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค. โดยนายวัฒนา เมืองสุข รักษาการ รมว.การพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ ต้องพิจารณาถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา จะเห็นได้ว่าเหยื่อส่วนใหญ่คือกลุ่มคนยากจน ขาดโอกาสทางด้านเศรษฐกิจและการศึกษา ทำให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจ
นายวัฒนา กล่าวต่อว่า ไทยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้จึงประกาศให้การต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ มีนโยบายและแผนระดับชาติเรื่องการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการค้าเด็กและหญิงภายในประเทศและข้ามชาติ พ.ศ. 2545-2550 เพื่อให้มีกลไกทุกระดับในการป้องกันช่วยเหลือคุ้มครอง ซึ่งไทยได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 3 ระดับคือชาติ จังหวัดและต่างประเทศ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูล ด้านการค้ามนุษย์ รวมถึงมีร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ..... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว อยู่ในระหว่างเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเพื่อนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป รวมถึงมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับประเทศในอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขงหลายฉบับด้วยกัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศในการต่อต้านการค้ามนุษย์ให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น
นายวัฒนากล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ ประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านและประเทศปลายทาง เราไม่ได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านการป้องกัน คุ้มครองและส่งเหยื่อกลับเท่านั้น แต่เราพยายามแก้ปัญหาถึงต้นเหตุ คือช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านด้วย การแก้ปัญหาที่ต้นตอจะทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมาย คือเป็นเขตปลอดการค้ามนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง การค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง เราจึงต้องการความร่วมมือจากทุกประเทศทั้งภาครัฐ เอกชน เอ็นจีโอ องค์กรระหว่างประเทศ และสหประชาชาติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
นางสาวจูเลีย ออร์มอนด์ ทูตสันถวไมตรีของสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมเพื่อขจัดการใช้ทาสและการค้ามนุษย์ กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์มีอยู่ทั่วโลกแต่ไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดถึงจำนวนของผู้ตกเป็นเหยื่อ รู้เพียงว่ามีเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่กับ กระบวนการนี้สูงมากนับพันล้านดอลลาร์ มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย อย่างในรัสเซียช่วงปี 2534 ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เด็กผู้ชายอายุ 14 ปี ประมาณ 60% ต้องการเป็นคนขับแท็กซี่ ส่วนเด็กหญิงต้องการค้าประเวณี หรือเงินเพียง 50 ดอลลาร์ก็สามารถซื้อเด็กชายอายุ 18 ปี ในแอฟริกาไปเป็นแรงงานได้แล้ว ส่วนเด็กหญิงอายุ 5, 7 และ 12 ขวบ ถูกข่มขืนและบังคับให้ค้าประเวณีซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางรายถูกล่ามโซ่เพื่อ บังคับแต่งงานหรือขายตัว รวมถึงถูกทารุณทำร้ายร่างกาย ฯลฯ การค้ามนุษย์เป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต้องร่วมมือกันอย่าคิดว่าแก้ไขไม่ได้ หากทุกประเทศให้ความร่วมมือจะต้องมีหนทางแก้ไขได้แน่นอน.