สธ.เตือน "ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก" ใส่เลือดสดๆ เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย "สเตร็พโตค็อกคัส ซูอีส"
ชี้น้ำซุปเดือดไม่ดีพอทำให้เชื้อไม่ตาย กินเข้าไปเกิดอาการหูหนวกเฉียบพลัน ทำลายเยื่อหุ้มสมอง ถ้าเข้ากระแสเลือด ทำให้ช็อก ไตวาย ถึงตายได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาภายใน 14 วัน ระบุเชื้อโรคนี้เติบโตได้ดีในหน้าร้อน เคยพบเมื่อปี 2542 ที่ลำพูนคนติดเชื้อเสียชีวิตหมด 10 ราย ปี 2544 เสียชีวิต 7 ราย ปี 2549 เสียชีวิต 2 ราย กรมควบคุมโรคแนะวิธีกินอาหารอย่างปลอดภัยควรกินตอนร้อนๆ และปรุงให้สุกทุกครั้ง
เมื่อวันที่ 1 เม.ย. นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า
ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลายโรค ทั้งโรคระบบทางเดินอาหาร ที่เกิดจากการบริโภคอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น เนื่องจากในหน้าร้อน เชื้อแบคทีเรียก่อโรคจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าฤดูอื่นๆ ซึ่งโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ปรุงไม่สุก ที่น่าเป็นห่วงโรคหนึ่งคือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอีส เกิดจากการบริโภคอาหารที่ปรุงจากเนื้อหมูที่ไม่สุกและราดด้วยเลือดดิบๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก เป็นอาหารที่เข้าข่ายความเสี่ยงมาก หากน้ำก๋วยเตี๋ยวไม่ร้อนจัดก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ หากเลือดหมูมีเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอยู่ ก็สามารถที่จะติดสู่คนได้
"ก๋วยเตี๋ยวน้ำตกที่มีการนำเลือดหมูมาผสมกับน้ำก๋วยเตี๋ยวทำให้เข้มข้นมีรสชาติดีขึ้น ซึ่งหากน้ำก๋วยเตี๋ยวที่นำมาปรุง เป็นน้ำก๋วยเตี๋ยวที่เดือดหรือร้อนจัด จะไม่มีปัญหาเพราะความร้อนสามารถฆ่าเชื้อได้ แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือ พ่อค้าแม่ค้าก๋วยเตี๋ยวจะนำเลือดเทใส่กระบวยตักน้ำก๋วยเตี๋ยวแล้วแกว่งๆในน้ำร้อนไม่ถึง 30 วินาที ก็นำกลับมาเทใส่ชามให้ผู้บริโภคซึ่งอันตรายมาก" นายชวรัตน์กล่าว
นายชวรัตน์กล่าวต่อว่า เชื้อดังกล่าวสามารถเข้าสู่คนได้ 2 วิธี คือ
เมื่อร่างกายคนมีแผลไปจับต้องหมูและกินเนื้อหมูหรือเลือดสด ความน่ากลัวของเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอีส ไม่เพียงแต่ทำให้หูหนวกและสูญเสียการทรงตัว แต่หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาช้าอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียทำลายเยื่อหุ้มสมองจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยหากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 14 วันหลังจากรับเชื้อ ประชาชนจึงควรรับประทานแต่อาหารที่ปรุงสุกก่อนเท่านั้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการติดต่อเชื้อนี้จากคนสู่คน ส่วนสาเหตุที่ต้องออกมาเตือนเรื่องนี้เพราะต้องการให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของการบริโภคเนื้อหมูดิบ เลือดดิบ เพราะปัจจุบันยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากนิยมบริโภคของดิบ เลือดดิบ จึงจำเป็นต้องเตือนก่อนที่จะมีคนป่วยหรือเสียชีวิต
เตี๋ยวน้ำตก-เลือดดิบกินถึงตาย
ด้านน.พ.ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า
อาการของผู้ที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ถือว่ามีความรุนแรงและน่ากลัว โดยเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าสู่กระแสเลือด และเข้าไปสู่เยื่อหุ้มสมอง จนเกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน หลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับปลายประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงลุกลามและทำให้เกิดหนองที่ปลายประสาทรับเสียงและประสาททรงตัว ทำให้หูตึงและหูหนวกร่วมกับอาการเวียนศีรษะและเดินเซ อาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มอาการไข้
น.พ.ศิริศักดิ์กล่าวต่อว่า ปกติเชื้อแบคทีเรียสเตร็พโตค็อกคัส ซูอีส
จะพบอยู่ที่บริเวณคอต่อมทอนซิล และเยื่อบุโพรงจมูกของหมู และพบประปรายในวัว แกะและแพะ เมื่อคนได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายประมาณ 1-3 วัน หากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรุนแรงทำให้มีไข้ เวียนหัว ช็อกและไตวายเฉียบพลันถึงขั้นเสียชีวิต โดยเชื้อชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายคน หากนำหมูหรือเลือดหมูที่มีเชื้อมารับประทานโดยวิธีการปรุงไม่สุก และเมื่อเชื้อชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายจะเข้าทำลายระบบหูเป็นอันดับแรก หากเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจทำให้ตาบอด โดยพบว่าส่วนใหญ่คนที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายมีโอกาสที่จะเกิดหูหนวกหรือหูดับ ถึงประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์
น.พ.ศิริศักดิ์กล่าวอีกว่า นอกจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอีส แล้ว การรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุกจากหมูหรือเนื้อ ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิตืดหมู หรือ Taenia Solium
ซึ่งสามารถเข้าไปอยู่ในลำไส้ของคนได้ หรือเข้าไปฝังตัวในเนื้อเยื่อของคน ทำให้เกิดถุงน้ำที่เรียกว่า ซิสติกเซอร์โครซีส (Cysticer cosis) ซึ่งเกิดจากการกินไข่พยาธิตืดหมูที่ติดอยู่ตามผัก ผลไม้ หมูดิบ พยาธิตัวอ่อนจะฟักจากไข่ ไชทะลุลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดหรือน้ำเหลืองไปยังกล้ามเนื้อ หรืออวัยวะต่างๆเช่น เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ สมอง ไขสันหลัง ตา หัวใจ ตับ ปอด ในช่องท้อง และฝังตัวโดยมีถุงน้ำหุ้ม อาการและอาการแสดงของการมี Cysticercosis ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของถุงน้ำ เช่น ถ้าอยู่ใต้ผิวหนัง ก็จะมีก้อนใต้ผิวหนัง ถ้าอยู่ใต้ตา ก็จะทำให้ปวดตา ตาพร่ามัว สายตาผิดปกติ ถึงขั้นตาบอด ถ้าอยู่ในสมองบางครั้งอยู่ได้เป็นปีโดยไม่มีอาการ อาจมีปวดศีรษะบ้าง ถ้าถุงน้ำดังกล่าวไปอุดทางเดินของน้ำไขสันหลัง ทำให้ความดันในสมองสูง อาจทำให้เกิดอาการชัก ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด
"นอกจากการกินเนื้อหมูที่ไม่สุกหรือเลือดหมูที่ไม่สุกแล้ว คนสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล และสัตวแพทย์ โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยถลอก หรือเยื่อบุตา วิธีการป้องกันจึงควรสวมถุงมือทุกครั้งขณะปฏิบัติหน้าที่" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
น.พ.ศิริศักดิ์กล่าวอีกว่า เชื้อแบคทีเรียสเตร็พโตค็อก คัส ซูอีส แบ่งย่อยได้เป็น 29 สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรงในหมูคือ
ไทร์ 2 โดยที่ผ่านมามีรายงานคนป่วยเนื่องจากการติดเชื้อชนิดนี้ครั้งแรกที่ประเทศเดน มาร์ก เมื่อปี 2511 และเมื่อเดือนมิ.ย.2548 เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อชนิดนี้ในหมูและคนในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ทำให้มีผู้ป่วยตายเป็นจำนวนมาก
จากข้อมูลประเทศไทยมีรายงานการพบผู้ป่วยลักษณะนี้ตั้งแต่ปี 2529 โดยป่วยเป็นโรคสเตร็ปโตค็อกโคซิส มีอัตราการตายประมาณ 10 %
ต่อมาในปี 2542 มีผู้ป่วยที่ร.พ.ลำพูนป่วย 10 คน เสียชีวิตทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อที่จ.เชียงใหม่ 40 ราย นครสวรรค์ 30 ราย ต่อมาช่วงเดือนก.ค.2544-ก.ค.2545 พบผู้ป่วย 19 ราย เสียชีวิต 7 ราย ที่เหลืออีก 12 ราย มีความพิการหูหนวกทั้งสองข้าง 3 ราย และอัมพาตครึ่งซีก 1 ราย อีกทั้งช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค.2549 เฉพาะที่จ.ลำพูน พบผู้ป่วย 15 ราย เสียชีวิต 2 ราย และหูหนวก 4 ราย โดยผู้ป่วยทุกรายมีประวัติสัมผัสหมู เนื้อหมูดิบ กินเลือดหมูดิบๆ และก่อนหน้านี้ มีรายงานว่ามีการออกสำรวจเขียงหมู 100 แห่งในจ.เชียงใหม่ พบเชื้อแบคทีเรีย "สเตร็พโตค็อกคัส ซูอีส" ถึงร้อยละ 20 ของหมูที่ออกสำรวจ