รายงาน : มหันตภัย "แชทรูม"แหล่งรวมโจรไซเบอร์
เริ่มแรกของการใช้อินเทอร์เน็ตมีอยู่ในวงจำกัด เพียงองค์กรของทหารเท่านั้น แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ระบบอินเทอร์เน็ตได้แพร่ขยายสู่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากความสามารถในการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วฉับไว ค่าใช่จ่ายไม่แพงนัก สุดท้ายก็ซึมซับเข้าสู่ภาคประชาชนอย่างเต็มตัว สำหรับประเทศไทยนั้นช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมอย่างมาก และคาดว่าจะทวีความนิยมเรื่อยๆ
"สิ่งใดมีคุณอนันต์ย่อมมีโทษมหันต์" เฉกเช่นเดียวกับอินเทอร์เน็ต หากใครก็ตามใช้มันไปในทางที่ผิด ก็จะเกิดโทษอย่างมหันต์!!!
โดยเฉพาะข่าวสลดใจล่าสุด เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา น.ส.ดิสนีย์ ทองนาคแท้ หรือปรียานันท์ ทองนาค ครูสาววัย 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 42/19 ต.พิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ถูก นายโมฮัมหมัด อารีฟ อายุ 34 ปี ชาวปากีสถาน ฆ่าหั่นศพอย่างสยดสยอง เหตุเกิดในห้องพักหมายเลข 1004 โรงแรมราชาพาเลซ รัชดา 14 แขวงและเขตห้วยขวาง กทม.
เหตุผลเพียงเพราะแค้นที่ถูกผู้ตายดุด่า ต่อว่า ที่หลอกว่าเป็นชาวสเปน และใช้รูปโชว์ระหว่างแชทหล่อกว่าตัวจริง!!!
น.ส.ดิสนีย์ เป็นบางส่วนของเหยื่อที่โชคร้ายกว่ารายอื่นๆ เพราะก่อนหน้านี้หรือแม้กระทั่งปัจจุบัน มักมีข่าวล่อลวงทางอินเทอร์เน็ตผ่านการสนทนาในห้องแชทรูมอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน รูปแบบของการก่อคดีมีตั้งแต่ การล่อลวงไปข่มขืน แบล็คเมล์ ฉ้อโกงหลากหลายรูปแบบ และเชื่อว่าในอนาคตปัญหานี้จะยังคงอยู่ พร้อมกับขยายวงกว้างต่อไปอีก
ที่ผ่านมา ผู้เสียหายที่ถูกล่อลวงส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่ผู้ชายวัยคะนองก็อย่าพึงชะล่าใจ เพราะปัจจุบันมีมิจฉาชีพกลุ่มหนึ่ง ที่หากินด้วยการแบล็คเมล์ชายกลัดมันทั้งหลายด้วย!?!
"นรินทร์" วิศวกรบริษัทรับเหมาก่อสร้างวัย 33 ปี เปิดใจกับ "คม ชัด ลึก" ถึงบทเรียนชีวิตราคาแพงจากผลพวงของการ "แชท" ที่เกือบทำให้เขาต้องจบอาชีพการงานที่ทำอยู่ ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลให้ครอบครัวล่มสลายได้ เพียงเพราะหลงระเริงไปกับโปรแกรมทันสมัยชนิดนี้
นรินทร์เป็นชายหนุ่มอีกคนที่หลงใหลในโปรแกรมแชท ยามว่างจากงานที่หนักสมอง เขาเลือกผ่อนคลายอารมณ์ด้วยการแชทจนติดเป็นนิสัย ทั้งโปรมแกรมเอ็มเอสเอ็น ยาฮู คิวคิว หรือแม้แต่การแชทระหว่างเล่นเกมสุดฮิตอย่าง "แร็กนาร็อค" หรือ "ปังย่า" ฯลฯ ยิ่งเล่นนานวันเข้า ชายหนุ่มก็เริ่มพบข้อความแปลกๆ ตามกระทู้ที่โพสต์ไว้ตามเวบบอร์ดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความโฆษณา "ขายบริการ" จากหญิงสาวที่ให้ไว้พร้อมกับรูปภาพ ซึ่งส่วนใหญ่รูปร่างหน้าตาดีน่าพิสมัย
แรกๆ นรินทร์ ยอมรับว่า กลัวถูกหลอก แต่ด้วยความอยากรู้จึงเข้าไปทักทายทีเล่นทีจริง จากความกลัวกลายเป็นความเคยชิน แล้วพัฒนาเป็นความกล้าบ้าบิ่น เขาเลือกใช้บริการกับหญิงสาวที่คิดว่า "ถูกใจ" เป็นครั้งคราว ด้วยสนนราคาค่าตัว 2,000-5,000 บาทต่อครั้ง ทั้งๆ ที่มีลูกมีเมียแล้ว กระทั่งคืนหนึ่งที่ชายหนุ่มจะไม่มีวันลืมเลือนไปจวบจนตลอดชีวิตนี้!!!
ด้วยความย่ามใจ วิศวกรหนุ่มวัย 33 เลือกใช้บริการจากเด็กสาววัยกระเตาะ โดยนัดพบกันที่โรงแรมย่านรามคำแหงตอนเวลา 5 ทุ่ม ของคืนหนึ่งเมื่อปีก่อน เด็กสาวมาตามนัดเรียกเก็บเงินก่อน 2,500 บาท พร้อมกับออดอ้อนให้เขาเข้าไปอาบน้ำชำระล้างร่างกายก่อนจะทำกิจกรรมอย่างอื่น นรินทร์หลงเชื่อตรงไปอาบน้ำด้วยจิตใจผ่องแผ้ว ก่อนจะกลับออกมาด้วยอารมณ์เบิกบาน เขาเปิดเกมรุกเข้าใส่เด็กสาวทันที
ระหว่างเข้าด้ายเข้าเข็ม แต่ยังไม่ถึงกับมีอะไรกัน จู่ๆ ชายฉกรรจ์ในชุดกางเกงยีนสีดำ 3 คน ก็เปิดประตูเข้ามา โดยไม่ทันตั้งตัวหนึ่งในนั้นนำตัวเด็กสาวออกจากห้อง ส่วนอีก 2 คน อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานหนึ่ง ข่มขู่ และแจ้งข้อหานรินทร์ที่ยังงงเป็นไก่ตาแตก จับต้นชนปลายไม่ถูกว่า เขาตกเป็นผู้ต้องหาพรากผู้เยาว์และซื้อบริการทางเพศ คุมตัวขึ้นรถกระบะขับวนไปรอบๆ เมือง ระหว่างนี้จะพูดจาข่มขู่ถึงโทษทัณฑ์ที่จะได้รับตลอดเวลา
"ผมพยายามต่อรองเขา ด้วยการมอบเงินให้ 5 หมื่นบาท แต่เขาปฏิเสธและไม่มีท่าทีว่า จะปล่อย ผมกังวลมาก ทั้งเรื่องครอบครัว หน้าที่การงาน เลยเพิ่มเงินเป็น 1 แสนบาท เขาหยุดตะคอก บอกว่า มากัน 3 คน ขอ 2 แสนบาทได้ไหม และต้องเป็นเงินสดเท่านั้น ผมปฏิเสธไปว่า จะหาเงินสดมากขนาดนั้นมาจากไหน เลยตกลงกันที่ 1.5 แสนบาท เขายอมปล่อยตัวนะ แต่ต้องรอจนกว่าจะได้เงิน ซึ่งกว่าจะติดต่อเพื่อนเอาเงินมาให้ได้ก็กินเวลานานกว่า 1 วัน ที่ผมต้องทนอยู่บนรถกับคนเหล่านี้"
หลังเกิดเหตุ นรินทร์ไม่เคยมีความคิดที่จะไปแจ้งความเลยแม้แต่นิดเดียว ด้วยเหตุผลจุกอกจะพูดให้ใครฟังก็เป็นเรื่องน่าอับอาย ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า เขาไม่ใช่รายแรกที่เจอแบบนี้ เพราะการทำงานเป็นระบบ รู้หน้าที่ว่าใครต้องทำอะไร ข่มขู่แบบไหนให้เหยื่อกลัว
จากวันนั้นถึงวันนี้ วิศวกรหนุ่มยังคงเล่นแชทอยู่ เพียงแต่เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้าที่เข้ามาทัก หรือทำให้เข้าใจว่า "เราทั้งสองน่าจะมีอะไร หรือทำอะไรร่วมกัน" ซึ่งถือเป็นข้อความสุดฮิตที่มักจะพบได้ในโปรแกรมนี้!!!
น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องการแชทว่า การสร้างสัมพันธภาพด้วยการแชท ถ้ามันมีมากเกินไปอาจไปรบกวนชีวิตการทำงาน การเรียน การแชทจะสร้างความตื่นเต้น และน่าค้นหาตามจินตนาการของแต่ละคน อาจเป็นช่องทางนำไปสู่ความสัมพันธ์เชิงชู้สาว
ทั้งนี้ ในมุมมองของจิตแพทย์แล้ว การแชทเป็นเพียงเครื่องมือการสื่อสารระหว่างบุคคล 2 คน เดิมทีเราก็เคยมีช่องทางการสื่อสาร ด้วยการเขียนจดหมาย ใช้โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ แล้วพัฒนามาใช้อินเทอร์เน็ตด้วยวิธีแชท ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ไม่เจาะจงเฉพาะตัว สามารถสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ ให้วัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นได้ กระทั่งนำไปสู่ความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาวได้ง่าย เพราะตามปกติคนเราต้องการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคลเป็นจิตวิทยาขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว
"ประเทศยุโรปเคยมีการวิจัยเกี่ยวกับการใช้โทรศัทพ์มือถือ เอสเอ็มเอส แชท ของกลุ่มเด็กในเมืองและชนบทพบว่า กลุ่มเด็กในเมืองที่ใช้ช่องทางการสื่อสารทันสมัย จะมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร มากกว่ากลุ่มเด็กชนบท จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า การสื่อสารผ่านช่องทางเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อการกระตุ้นสัญชาตญาณ และพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ทางเพศในเวลาอันรวดเร็ว"
แต่เดิมการติดต่อสื่อสารด้วย "จดหมาย" ต้องใช้เวลาเป็นวันๆ แต่พอมีโปรแกรม "แชท" ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีก็ติดต่อสื่อสารกันได้แล้ว นำไปสู่การนัดพบกันภายในช่วงเวลาสั้นๆ
"การสื่อสารด้วยจดหมาย ระยะเวลาจะช่วยถ่วงดุล จัดระเบียบความคิด ความตั้งใจของผู้เขียน และมีการแสดงตัวตนที่แท้จริง แต่การใช้เทคโนโลยี แค่พิมพ์ถ้อยคำหรืออาจก๊อบปี้ถ้อยคำหวานๆ จากไฟล์ข้อความที่เก็บไว้ มันเป็นความฉาบฉวยที่เราสามารถจินตนาการให้เลิศหรูอย่างไรก็ได้ ประกอบกับไม่มีใครแสดงตัวตนที่แท้จริง ขนาดอีเมลยังไม่มีใครระบุชื่อจริง-นามสกุลจริงกันเลย"
น.พ.ทวีศิลป์ ตั้งคำถามด้วยว่า ตัวเราเองพูดคุยในโลกไซเบอร์เปิดเผยแค่ไหน เราจะเชื่อได้แค่ไหน แม้คนเราจะมีสัญชาตญาณการค้นหา แต่ไม่ควรปล่อยใจให้หลงใหลจนเกินไป
ด้านนักวิชาการชื่อดังอย่าง ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผอ.สถาบันรามจิตติ มองว่าการแชทกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ไปแล้ว และมีส่วนทำให้คนรุ่นใหม่ใช้เวลาไม่เหมาะสม ขี้เหงา และมีพฤติกรรมการใช้ภาษาเปลี่ยนไป!!!
"การแชทเป็นเรื่องปกติของการติดต่อสื่อสารของวัยรุ่น แต่การแชททำให้พัฒนาการใช้ภาษาวัยรุ่นเปลี่ยนไป พูดสั้นๆ ห้วนๆ บางครั้งก็มีข้อเสียเกี่ยวกับการแชทไม่เหมาะสม เสียเวลาพูดคุยเรื่องไร้สาระ มีการหลอกลวง ล่อลวง นำพิษภัยมาสู่ตัวเองในที่สุด"
จากการสำรวจข้อมูลของทีมงาน "ไชลด์วอทช์" พบว่า เด็กมัธยมแชทกันวันละชั่วโมงครึ่ง กระทู้ของเด็กเหล่านี้ 3,000 กว่ากระทู้ มีการพูดคุยแก้เหงา-คลายเหงา 70-80% ที่เหลืออีก 10% เป็นเรื่องไม่เหมาะสม อย่างชักชวนไปหาคู่นอน หรือชักชวนขายตัว-ขายคลิป จะมีอยู่ 1-2% ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียคน หมกมุ่นเรื่องเพศ โดนหลอกลวงได้ การแชทยังทำให้วัยรุ่นอยู่กับตัวเองไม่ได้ ต้องหาเพื่อนคุยอยู่ตลอดเวลา เวลาเหงาก็มีช่องทางแชทเข้ามารองรับ จึงทำให้กลายเป็นเด็กขี้เหงาอยู่คนเดียวไม่ได้
"การแชทเป็นช่องทางการสื่อสารที่ดี มีประโยชน์ แต่ควรใช้อย่างพอดี กลุ่มเด็กๆ ควรออกมารณรงค์ให้เพื่อนๆ ใช้ช่องทางการสื่อสารออนไลน์นี้อย่างเหมาะสม ป้องกันการถูกล่อลวง การพูดคุยต้องมีความระมัดระวัง เพราะบางคนมีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สามารถแกะรอยไอพีของเครื่อง อาจจะถูกติดตามตัวถึงบ้าน หรืออาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเหมือนที่เคยเกิดขึ้นตามข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์"
เรื่อง / ทีมข่าวรายงานพิเศษ
-------------------