ขนลุกไต่ยุ่บยั่บ ตัวเรือด ในเบาะนั่งรถไฟ

ทั้งที่เพิ่งจะถูกผู้ใช้บริการรถไฟด่วน “สปรินเตอร์” ตู้หมายเลข 2522 เดินทางจากกรุงเทพฯ ไป จ.อุบลราชธานี โวยว่าถูกตัว “เรือด” กัดรุมตลอดเส้นทาง เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา
 
และการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ยอมรับพบตัวเรือดซุกซ่อนอยู่ตามเบาะที่นั่ง และรับปากจะกำจัด ตัวเรือดให้เรียบร้อย แต่แล้วก็ยังเกิดเหตุซ้ำรอยอีก โดยเมื่อช่วงสายวันที่ 11 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากผู้โดยสารรถไฟขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลราง ปรับอากาศ จาก จ.อุบลราชธานี-กรุงเทพฯ ว่า ถูก “เรือด” ในตู้รถไฟรุมกัดมาตลอดคืน และไม่ใช่แค่คนเดียวแต่ผู้โดยสารเจอกันถ้วนหน้าทั้งตู้ จนบางคนทนไม่ได้ ขอลงรถระหว่างทาง
 

ผู้ร้องเรียน ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อกล่าวว่า ได้โดยสารรถไฟขบวนดังกล่าวออกจาก จ.อุบลราชธานี

เมื่อเวลา 14.50 น. ของวันที่ 10 มี.ค. และระหว่างทางที่รถไฟเคลื่อนออกจากสถานีได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันบนตู้โดยสาร หมายเลข 2517 เมื่อจู่ๆมีฝูงเรือดจำนวนมาก โผล่เข้ารุมกัดผู้โดยสาร ซึ่งตัวผู้ร้องเรียนถูกเรือดกัดเข้าที่แขน ขา และแผ่นหลัง สร้างความเจ็บปวดให้อย่างมาก ผู้โดยสารในตู้ต้องช่วยกันปัดเอาตัวเรือดออกกันพัลวัน 
 

ผู้ร้องเรียนคนดังกล่าว เล่าอีกว่า ทีแรกที่ถูกกัดนั้น มีอาการคัน และคิดว่าถูกยุงกัด

แต่เมื่อช่วยกันหาต้นตอ ถึงกับผงะ เนื่องจากพบตัวเรือดอาศัยอยู่ตามเก้าอี้กำมะหยี่ และซอกพื้นไม้กระดานเป็นฝูงยุ่บยั่บ จนผู้โดยสารบางรายเกิดอาการผวา ไม่กล้านั่งเก้าอี้ และยอมทนเมื่อย ขอยืนมาตลอดทาง ขณะที่บางรายก็เริ่มทนถูกเรือดกัดไม่ไหว ทำให้เจ้าหน้าที่ประจำรถไฟ ต้องแจ้งไปยังสถานีบุรีรัมย์ ซึ่งรถไฟต้องผ่าน เพื่อขอนำรถทัวร์มาเปลี่ยนให้ผู้โดยสารจำนวนหนึ่ง เดินทางเข้ากรุงเทพฯแทน ดังนั้นจึงอยากให้ “ไทยรัฐ” เป็นปากเสียงให้ในเรื่องนี้ด้วย
 

ต่อมา ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังสถานีรถไฟหัวลำโพง พบว่า

รถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศ ตามที่ได้รับร้องเรียน จอดนิ่งอยู่ที่ชานชาลาหมายเลข 6 ภายในโรงซ่อมบำรุง เป็นรถยี่ห้อแดวู ขบวนที่ 22 จากการสอบถามช่างซ่อมหัวรถจักรรายหนึ่งทราบว่า รถด่วนดีเซลรางคันดังกล่าว พบตัวเรือดในตู้หมายเลข 2517 ซึ่งเป็นตู้แรก ซุกซ่อนอยู่บนเก้าอี้เบาะกำมะหยี่ และตามซอกของพื้นไม้ จึงต้องนำมากักไว้เพื่อรอทำความสะอาด รื้อเบาะ และฉีดพ่นยาฆ่าตัวเรือด เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของตัวเรือดที่สร้างความรำคาญแก่ผู้โดยสาร อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รายเดิมยังกล่าวอีกว่า ควรเปลี่ยนเบาะจากเบาะกำมะหยี่เป็นเบาะหนัง เนื่องจากเบาะกำมะหยี่ มีซอกหลืบเป็นที่อาศัยอย่างดีของตัวเรือด ประกอบกับเป็นรถปรับอากาศ มีความเย็นฉ่ำอยู่ตลอดเวลา ทำให้อุณหภูมิความชื้นเหมาะแก่การเป็นที่อาศัยของตัวเรือด
 


ส่วนนายศิริพงษ์ กลั่นศิริ หัวหน้างานรถโดยสาร สถานีรถไฟกรุงเทพ

กล่าวถึงเรื่องที่มีการร้องเรียน โดยยอมรับว่า ขณะรถวิ่งจากอุบลฯ สารวัตรเดินรถ จ.อุบลราชธานี แจ้งว่า พบตัวเรือดบนขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศ ขบวนที่ 22 ตู้แรกหมายเลข 2517 ทำให้ผู้โดยสารที่อยู่บนขบวนรถจำนวน 71 คน ได้รับความเดือดร้อน จึงแก้ไขเบื้องต้นด้วยการขนถ่ายผู้โดยสารบางส่วน จำนวน 38 คน ขึ้นรถทัวร์ ที่สถานีบุรีรัมย์ เพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เมื่อรถขบวนดังกล่าวมาถึงกรุงเทพฯ จึงสั่งกักไว้ภายในโรงซ่อมบำรุง โดยมาตรการระยะสั้น ได้รื้อเบาะทำความสะอาดพบตัวเรือดกว่า 10 ตัว แล้วนำส่ง รศ.สมใจ ลี้มิ่งสวัสดิ์ แห่งคณะกีฏวิทยาการแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากนั้นจึงฉีดน้ำยาอบควัน ขณะเดียวกันยอมรับว่ามีการตรวจพบตัวเรือดบนรถดีเซลราง 26 คัน จากที่มีอยู่จำนวน 40 คัน ซึ่งต้องเร่งทำความสะอาดและฉีดพ่นยาฆ่าตัวเรือดโดยเร็วที่สุด ส่วนมาตรการระยะยาว ต้องเปลี่ยนพื้นรถจากพื้นไม้อัด เป็นพื้นไม้พลัสวูดส์ ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง ปูทับด้วยแผ่นเรซิน เพื่อไม่ให้มีรอยตะเข็บให้ตัวเรือดซุกซ่อน และเปลี่ยนเบาะกำมะหยี่ เป็นเบาะหนังเทียม
 

ด้านนายนคร จันทศร รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวในเวลาต่อมาว่า

กรณีที่มีผู้โดยสารรถไฟได้ถูกตัวเรือดดูดเลือดขณะที่มารับบริการรถไฟนั้น ในเรื่องนี้ยอมรับว่า รฟท.ตรวจพบมานานแล้ว และดำเนินการรักษาความสะอาดฉีดยามานานกว่า 5-6 เดือน และขณะนี้ รฟท.มีแผนที่จะปรับปรุงรถไฟใหม่ด้วยการรื้อเบาะที่นั่งไม้กระดานออกและใส่อุปกรณ์ของใหม่เข้าไป เนื่องจากขบวนรถไฟมีสภาพเก่าและใช้งานมานาน ดังนั้น ขั้นตอนในการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในรถไฟจึงต้องใช้ระยะเวลาเนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ดังนั้นการรถไฟจึงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อมาพิจารณาขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณ
 

รักษาการผู้ว่าการ รฟท.ยังกล่าวถึงส่วนกรณีที่ว่ามีผู้โดยสารที่มาใช้บริการรถไฟถูกตัวเรือดดูดเลือด

จนทำให้ต้องเดินทางเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลที่ กทม. และเมื่อมาเรียกร้องค่าเสียหายกับการรถไฟแล้วไม่ได้รับการดูแลนั้นว่า ในเรื่องนี้ยอมรับว่าหากการรถไฟได้รับการร้องเรียนก็ต้องดูแล แต่ยอมรับว่าขั้นตอนในการดูแลของการเบิกจ่ายงบประมาณดูแลค่าเสียหายนั้น ต้องใช้เวลา ดังนั้น ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนให้มาทำเรื่องขอความช่วยเหลือที่ประชาสัมพันธ์การรถไฟ สำนักงานนพวงศ์
 

ขณะที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน แต่เมื่อรับทราบข่าวก็พร้อมที่จะให้อำนวยความสะดวก

โดยจะสั่งการไปยัง รฟท. และผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดในมาตรการรักษาความสะอาดให้ มากขึ้น เพราะรถไฟเป็นการให้บริการกับคนทุกชนชั้น ต่อมาผู้สื่อข่าวติดต่อไปยัง รศ.สมใจ ลี้มิ่งสวัสดิ์ แห่งภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสอบถามถึงการกำจัดตัวเรือดตามที่เจ้าหน้าที่ รฟท.ระบุ และได้รับคำตอบว่า ตัวเรือดเหล่านี้ชอบอาศัยอยู่ตามซอกมุม ซอกระหว่างไม้ โซฟา เบาะกำมะหยี่ ถึงแม้จะฉีดยาโพลีทรอย ซึ่งเป็นยาพ่นฆ่าตัวเรือด แต่ก็ดื้อยา ตายเพียงบางส่วน เนื่องจากมีความทนทานสูง ถึงไม่มีอาหารก็อยู่ได้ กรณีที่เกิดขึ้นทราบว่า รถดีเซลรางรุ่นดังกล่าว สับเปลี่ยนหมุนเวียนให้บริการทั่วประเทศ จึงมีผู้โดยสารหลากหลาย จึงติดคนขึ้นมาบนรถ เมื่อมีแหล่งอาศัยชั้นดีคือเบาะกำมะหยี่ พื้นไม้อัดมีซอกมุม ความชื้นจากแอร์ปรับอากาศ ตัวเรือดจึงอาศัยอยู่ได้อย่างสบาย อาศัยดูดเลือดจากคนกินเป็นอาหาร สำหรับอาการโดยทั่วไปมักเป็นตุ่มแดง คันตามแขนขา รวมถึงสร้างความรำคาญเท่านั้น

ในวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก พญ.วารุณี จินารัตน์ ผอ.สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้เกี่ยวกับตัวเรือดว่า

ตัวเรือดมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “เบด บั๊ก” (Bed Bug) มีลักษณะตัวยาวประมาณ 6 มม. ลักษณะสำคัญตัวแบน ส่วนท้องเป็นรูปกลมยาว หัวยาว ท้องป่อง สีแดงเข้มออกไปทางสีดำ กินเลือดเป็นอาหาร หากินในเวลากลางคืน โดยใช้วิธีดูดเลือดตามผิวหนังของมนุษย์และสัตว์อื่นๆ เวลาที่ดูดเลือดจะเกิดอาการคัน ตัวเมียวางไข่ตามรอยแตกของบ้านหรือเตียง ชอบหลบซ่อนอยู่ตามซอกเตียง ฟูก ระยะฟักเป็นตัวอ่อนแค่เพียง 10 วัน จึงทำให้ขยายพันธุ์ได้เร็ว วงจรชีวิตของเรือดมีเพียง 3 สัปดาห์ มักติดมากับเสื้อผ้าและกระเป๋าเดินทาง รวมถึงร้านซักรีด
 

พญ.วารุณีกล่าวอีกว่า ที่ต้องระวังคือตัวเรือดสามารถแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบบี จากบุคคลหนึ่งไปอีกคนหนึ่งได้

กรณีที่ตัวเรือดไปกัดคนที่มีเชื้อชนิดนี้ และไปกัดอีกคนหนึ่ง อาจนำเชื้อไปแพร่ได้ ดังนั้น จึงต้องระวัง และยังสามารถแพร่เชื้อ ทริพาโนโซมา ครูใซ (Trypanosoma cruzi) ซึ่งเป็นเชื้อพยาธิในเลือดได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ตัวเรือดเวลากัดคนไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่จะทำให้รำคาญ วิธีการป้องกัน ในส่วนของบ้านเรือน ควรทำความสะอาดบ้าน ใช้สารเคมีกำจัดแมลงฉีดพ่นในจุดที่อาจมีตัวเรือดหลบซ่อนอยู่ และควรนำที่นอนหมอนผ้าห่มออกมาตากแดดบ่อยๆ หรือในกรณีที่จะต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีตัวเรือดมากๆ ให้ใช้สารไล่แมลง ยาทากันแมลง ทาตามตัวหรือเสื้อผ้า เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเรือดมากัด
 

นอกจากนี้ พญ.วารุณียังกล่าว ถึงการกำจัดเรือด ควรใช้สารเคมีในกลุ่มไพลีทอย 0.2 เปอร์เซ็นต์เพอมีติน ซึ่งมีความปลอดภัยสูง พ่นสองถึงสามครั้งห่างกันทุกหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งสารดังกล่าวพบได้ในสเปรย์กำจัดแมลงทั่วไป โดยก่อนซื้อให้ดูฉลากข้างกระป๋องว่ามีส่วนผสมของสารตัวนี้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมหรือไม่ด้วย


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์