แฉน.ร.ที่ทุจริตสอบโอเน็ตด้วยนาฬิกามือถือ
ส่อลักษณะกระทำทุจริตเป็นขบวนการ เหมือนการสอบเข้าเอ็นทรานซ์เมื่อหลายปีก่อน เพราะมีการเตรียมการล่วงหน้า และส่งคำตอบเป็นเอสเอ็มเอสมาให้ โดยไม่ยอมปริปากซัดทอดใครเป็นตัวการ สทศ.คนจัดสอบเลยประสานตร.ตามล่าตัวมือส่งคำเฉลย เพราะตัวการปิดเครื่องหนีแล้ว ส่วนการสอบเอเน็ต 8-9 มี.ค.นี้ เลขาฯกกอ. กำชับซ้ำยังสนามสอบทุกแห่ง ห้ามผู้เข้าสอบมีนาฬิกามือถือติดตัว ถ้าใครเอามาต้องวางไว้ใต้เก้าอี้เท่านั้น
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 6 มี.ค. ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)
นางอุทุมพร จามรมาน ผอ.สทศ. แถลงสรุปผลการจัดทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ประจำปีการศึกษา 2550 ว่าปีนี้สทศ.จัดสอบโอเน็ตในระดับชั้นม.6 เมื่อวันที่ 29 ก.พ.-1 มี.ค.2551 และระดับป.6 เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2551 โดยระดับชั้นม.6 มีผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 356,843 ราย ขาดสอบ 19,500 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.46 มีผู้ตกหล่นเนื่องจากไม่มีรายชื่อเข้าสอบประมาณ 800 คน ส่วนระดับชั้น ป.6 มีผู้เข้าสอบ 985,299 ราย ขาดสอบ 20,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.03 มีผู้ตกหล่นเนื่องจากไม่มีรายชื่อเข้าสอบประมาณ 10,000 คน
นางอุทุมพรกล่าวว่า จากการประมวลปัญหาที่เกิดขึ้นของการสอบโอเน็ตม.6 ปีนี้พบว่ามีการพิมพ์ข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ผิด 1 ข้อ
จึงยกประโยชน์ให้นักเรียนทุกคนได้รับคะแนนฟรี 2.5 คะแนน ส่วนกรณีผู้ประสบเหตุสุดวิสัยไม่สามารถเข้าสอบได้นั้น มีผู้ยื่นเรื่องขอสอบมาทั้งสิ้น 78 ราย ทางสทศ.จะจัดสอบให้กับเด็กทุกคน คาดว่าจะจัดสอบได้ประมาณปลายเดือนมี.ค.นี้ และจะประกาศผลกลางเดือนเม.ย. อย่างไรก็ตามยังมีเด็กอีก 77 รายที่ยื่นเรื่องขอสอบในกรณีผู้ประสบเหตุสุดวิสัย แต่สทศ.ไม่จัดสอบให้เนื่องจากเหตุผลฟังไม่ขึ้น อาทิ สับสนว่าตัวเองต้องสอบหรือไม่ ติดภารกิจส่วนตัว จำวันสอบผิด รถเสีย พิมพ์บัตรเลขที่นั่งสอบจากอินเตอร์เน็ตไม่ได้จึงไม่มาสอบ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีกลุ่มผู้ที่ขาดสอบโอเน็ตด้วยเหตุสุดวิสัยในปีการศึกษา 2549 และขอสอบใหม่ในปีนี้อีก 11 รายนั้น จะต้องนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการสทศ. วันที่ 7 มี.ค.ว่าจะจัดสอบให้หรือไม่
ผอ.สทศ.กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ทุจริตสอบโอเน็ตชั้นม.6 นั้น สทศ.ได้รับรายงานจากศูนย์สอบ 3 ศูนย์ จากทั้งหมด 18 ศูนย์ทั่วประเทศ
คือศูนย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์สอบสถาบันเทคโนโลยีพระจอม เกล้าพระนครเหนือ และศูนย์สอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปรากฏว่าศูนย์สอบจุฬาฯ พบมีผู้ทุจริตทั้งหมด 6 ราย ใน 4 กรณีคือ 1.นักเรียน 2 คนเขียนคำตอบวิชาภาษาอังกฤษใส่ยางลบให้กันในห้องน้ำ 2.นักเรียนคนแรกทำข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษเสร็จก่อน แล้วส่งคำตอบให้คนที่ 2 ผ่านทางโทรศัพท์มือถือที่วางไว้ระหว่างขา 3.นักเรียนเปิดมือถือไว้แล้วมีผู้โทรศัพท์เข้ามาภายในการสอบวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งทั้ง 3 กรณีนี้เกิดขึ้นที่สนามสอบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และ 4.นักเรียนใช้นาฬิกามือถือเป็นเครื่องมือทุจริตตามที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านทางหนังสือพิมพ์ไปก่อนหน้านี้ โดยนักเรียนคนดังกล่าวถูกจับได้เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่สนามสอบโรงเรียนเทพศิรินทร์ ภายในการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการสอบวิชาที่ 5 จากทั้งหมด 8 วิชา
ทั้งนี้ จากการสอบสวนเบื้องต้นของคณะกรรมการประจำศูนย์สอบจุฬาฯ นักเรียนยอมรับว่าใช้วิธีดังกล่าวมาแล้วในการสอบทั้ง 4 วิชาก่อนหน้านี้
"จากการสอบสวนนักเรียนคนดังกล่าวยอมรับว่ามีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า โดยซื้อนาฬิกามือถือดังกล่าวมาใช้รับข้อความหรือเอสเอ็มเอสเพื่อการทุจริตดังกล่าวโดยเฉพาะ แต่นักเรียนไม่ยอมซัดทอดว่าผู้ส่งเอส เอ็มเอสเป็นใคร ทางเจ้าหน้าที่พยายามสอบถาม แต่นักเรียนอ้างเพียงว่าเป็นเพื่อน ไม่ยอมบอกชื่อว่าเป็นใคร แต่จากหลักฐานพบว่านักเรียนทำมาแล้ว 4 วิชา ทำให้สงสัยได้ว่าอาจจะไม่ใช่เพื่อนธรรมดา เพราะจากการกระทำมีการซักซ้อมล่วงหน้าคล้ายกับทำเป็นขบวน การ การทุจริตลักษณะเป็นขบวนการนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการสอบเอ็นทรานซ์หลายปีก่อน อีกทั้งเมื่อตรวจเช็กโดยโทร.กลับไปยังหมายเลขที่ส่งข้อความเข้ามาให้นักเรียนคนดังกล่าว ปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อได้แล้ว ดังนั้นกรณีนี้คงต้องประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสืบสวนหาผู้ร่วมขบวนการกระทำผิด และนำมาดำเนินคดีเอาผิดทางอาญาต่อไป แต่ทางสทศ.จะดำเนินการอย่างรอบคอบและให้กระทบต่อตัวนักเรียนน้อยที่สุด ขณะนี้นาฬิกามือถือของกลางได้ให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเก็บรักษาไว้แล้ว" นางอุทุมพรกล่าว
ประสานตร.ล่าตัว แก๊งนาฬิกามือถือ
นางอุทุมพรกล่าวอีกว่า จากกรณีดังกล่าวจะต้องประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)
เพื่อให้จับตาเป็นพิเศษในการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ระหว่างวันที่ 8-9 มี.ค. เพราะคาดว่าอาจจะมีขบวนการที่ใช้อุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ มาใช้ทุจริตสอบเช่นเดียวกัน สำหรับการลงโทษนักเรียนที่ทุจริต กรณีนักเรียนที่ใช้นาฬิกามือถือทุจริตสอบโอเน็ตนั้น ส่วนตัวคิดว่าคงต้องปรับตกทุกวิชา แต่อย่างไรก็ตามต้องนำเรื่องนี้รวมทั้งกรณีของนักเรียนอีก 5 คนที่พบทุจริตเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ. ในวันที่ 7 มี.ค. เพื่อตัดสินว่าจะลงโทษอย่างไร
ผอ.สทศ.กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการป้องกันการทุจริตการสอบในครั้งต่อๆไป ต้องให้ผู้คุมสอบดูแลเข้มงวดมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ผู้คุมสอบก็ควรต้องรู้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย ส่วนที่จะห้ามไม่ให้เด็กนำนาฬิกาข้อมือเข้าห้องสอบนั้น ตนเห็นว่าคนเข้าสอบก็คงอยากจะดูเวลา แต่หากจะห้ามจริง สนาม สอบต้องมีนาฬิกาแขวนผนังให้ และต้องตั้งเวลาให้ตรงกัน สำหรับข้อเสนอให้ตัดสัญญาณมือถือนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะความจำเป็นในการสื่อสารยังมีอยู่ บางครั้งเราแก้ปัญหาเด็กคนเดียว แต่ต้องไปกระทบกับเด็กจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามจากที่พบกรณีทุจริตการสอบในปีนี้ถือว่ามีจำนวนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
โดยปีการศึกษา 2549 พบเด็กทุจริต 9 ราย ส่วนใหญ่กระทำผิดเนื่องจากนำมือถือเข้าห้องสอบแล้วลืมปิด นอกจากนี้จะมีการพิจารณาเพื่อแก้ปัญหา หากให้เด็กออกจากห้องสอบก่อนแล้วมีการส่งคำตอบให้กับคนอื่น อาจจะให้ผู้เข้าสอบทุกคนออกจากห้องสอบพร้อมกันหลังจากหมดเวลาสอบเลย นอกจากนั้นในปีการศึกษา 2553 การสอบโอเน็ตอาจจะต้องมีการจัดทำข้อสอบเป็นแบบอัตนัย เพื่อป้องกันการโกงข้อสอบด้วย
เมื่อถามถึงความเป็นได้ที่อาจเกิดปัญหาข้อสอบรั่วไหลจนนำไปสู่กระบวนการทุจริตโกงข้อสอบโอเน็ตนั้น
ผอ.สทศ.กล่าวว่า เชื่อว่าข้อสอบไม่รั่ว เพราะสถานที่จัดพิมพ์ข้อสอบเป็นความลับ แม้แต่ต่างประเทศก็มาจัดพิมพ์ที่นี่ และในขั้นตอนการจัดส่งจะบรรจุใส่ซอง ปิดทับด้วยสติ๊กเกอร์ เมื่อถึงวันสอบผู้คุมสอบต้องเรียกเด็กนักเรียนมาดูว่าซองบรรจุข้อสอบไม่ถูกเปิดก่อนถึงวันสอบ ซึ่งกระบวนการข้อสอบรั่วไม่น่าจะมี แม้แต่ผู้ออกข้อสอบก็มีอยู่จำนวนไม่มาก และแต่ละคนจะออกข้อสอบเฉพาะบางวิชาเท่านั้น ซึ่งทุกคนจะออกข้อสอบหลายข้อเพื่อเป็นคลังข้อสอบ ดังนั้น ผู้ออกข้อสอบเองก็จะไม่ทราบว่า สทศ.จะหยิบเอาโจทย์ข้อไหนมาใช้บ้าง หากจะมีผู้ที่เห็นข้อสอบก็จะมีเพียงเจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษร ซึ่งเป็นบุคคลที่ไว้ใจได้ และมั่นใจว่ากระบวนการรักษาความลับรัดกุม
นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เปิดเผยถึงมาตรการป้องกันการทุจริตการสอบเอเน็ตวันที่ 8-9 มี.ค.ว่า
สกอ.ทำหนังสือถึงประธานศูนย์สอบต่างๆ 18 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้แจ้งให้กรรมการคุมการสอบและผู้เกี่ยวข้องทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามคู่มือการคุมสอบซึ่งได้กำหนดหลักการไว้แล้ว ทั้งกำชับให้ดำเนินการเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็นคือ
1.ให้ผู้ ที่เป็นกรรมการคุมสอบต้องตรวจบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ โดยตรวจสอบรูปที่ติดบัตร ต้องตรงกันกับบัตรผู้เข้าสอบ เป็นการตรวจสอบว่าเป็นตัวตนแท้จริง
2.ให้กรรมการคุมสอบกำชับผู้เข้าสอบทุกคน ห้ามนำเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ทุกชนิดติดตัวไว้ เช่น นาฬิกาข้อมือที่เป็นโทรศัพท์มือถือที่สามารถส่งเอส เอ็มเอสได้ โทรศัพท์มือถือ และวิทยุติดตามตัว ในกรณีที่มีผู้เข้าสอบนำเข้ามาจะต้องปิดเครื่องมือสื่อ สารทุกชนิดให้เรียบร้อย และวางไว้ใต้เก้าอี้ที่นั่งของตนเอง กรณีที่มีเสียงสัญญาณเข้าหรือมีการรับสัญญาณสื่อสาร ให้ถือว่าทำผิดกติกาและปรับตกในวิชานั้นทันที
3.ให้กรรมการคุมสอบตรวจสอบการฝนรหัสเลขที่นั่งของผู้เข้าสอบให้ตรงกับบัตรประจำตัวของผู้เข้าสอบ รวมทั้งให้สังเกตพฤติกรรมของผู้เข้าสอบทุกคนตลอดระยะเวลาที่สอบ เพื่อป้องกันการทุจริต พร้อมกันนี้ สกอ.ได้แนบสำเนาตัวอย่างเครื่องมือสื่อสารที่ตรวจสอบพบในการสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ตให้กับ 18 ศูนย์สอบทั่วประเทศได้ทราบและกระจายข่าวต่อ เพื่อป้องกันปัญหาแล้ว