เหยื่อสาว-นายมาร์ก ดิกซี |
หลังจากศาลอังกฤษตัดสินคดีอาชญากรรมใหญ่ 2 คดีที่คนร้ายฆ่าเหยื่อสาว และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษขั้นสูงสุด ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงเรื่องข้อมูลดีเอ็นเอ ว่าควรเป็นข้อมูลพื้นฐานของประชาชนที่ราชการต้องเก็บไว้หรือไม่ ขณะที่กระทรวงมหาดไทยอังกฤษแจ้งว่า ยังไม่มีแผนที่จะเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของประชาชน เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นถกเถียงกันอีกมากในทางจริยธรรมและการปฏิบัติ
ประเด็นการเก็บข้อมูลดีเอ็นเอเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา
เพราะเป็นหลักฐานสำคัญในการคลี่คลายคดีฆาตกรรม 2 คดีใหญ่ในสัปดาห์นี้ คดีแรกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตนายสตีฟ ไรต์ ก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องโสเภณี 5 รายในเขตซัฟเฟิร์ก และอีกคดี ศาลตัดสินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ให้จำคุกตลอดชีวิตนายมาร์ก ดิกซี วัย 37 ปี ฐานฆ่าน.ส.แซลลี่ แอนน์ บาวแมน นางแบบสาววัย 18 ปี โดยใช้มีดแทงถึง 7 ครั้ง จากนั้นยังข่มขืนศพ แม้ว่านายดิกซีจะปฏิเสธในชั้นศาล แต่ดีเอ็นเอในที่เกิดเหตุฟ้องว่า ฆาตกรไม่ใช่คนอื่น คดีดังกล่าวนี้ถูกวิจารณ์ว่า ต้องใช้เวลาล่าคนร้ายและดำเนินคดีนานถึง 2 ปีครึ่ง เพราะไม่มีบันทึกดีเอ็นเอเปรียบเทียบไว้ก่อน นอกจากนี้หนังสือพิมพ์เดอะซันยังตั้งประเด็นว่า ควรจะนำบทลงโทษประหารชีวิตกลับมาใช้กับผู้ก่อเหตุทารุณเหยื่อเช่นนี้หรือไม่