´ไอทีวี´ กระอัก แพ้คดีศาล ปค.
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ศาลปกครอง ถนนสาทร ศาลปกครองกลาง นายประพจน์ คล้ายสุบรรณ ตุลาการเจ้าของสำนวนและคณะ ออกนั่งอ่านคำพิพากษาคดีระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ผู้ร้อง และบริษัทไอทีวี จำกัด ผู้คัดค้าน ซึ่งคดีดังกล่าว สปน. ได้ร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการที่มีคำสั่งให้ สปน.ชดใช้ค่าเสียหาย เนื่องจากกรมประชาสัมพันธ์ปล่อยให้สถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศทางระบบยูเอชเอฟสามารถมีโฆษณาได้ เป็นเงิน 20 ล้านบาท และปรับผังรายการจากเดิมให้มีรายการความรู้ ข่าวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 รวมทั้งให้มีการปรับลดค่าสัมปทานที่จ่ายให้รัฐ เหลือราคา 230 ล้านต่อปี และให้ สปน.จ่ายค่าชดเชยจากค่าสัมปทานจำนวน 570 ล้านบาท แก่บริษัทไอทีวี โดยมีนายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายพุทธสัตย์ นามเดช ผอ.สำนักกฎหมายและระเบียบการ และนายมงคล แสงหิรัญ ผอ.ส่วนกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ เป็นตัวแทนผู้ร้อง เข้ารับฟังคำพิพากษา ในขณะที่ฝ่ายบริษัทไอทีวี มีนายชัยวัธ มะระพฤกษ์วรรณ ทนายความ เข้ารับฟัง
นายประพจน์อ่านคำพิพากษาว่า จากการพิจารณาข้อเท็จจริงตามสัญญาการร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ยูเอชเอฟ ลงวันที่ 3 ก.ค. 2538 และ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ศาลเห็นว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทคดีดำที่ 29/2545 และข้อพิพาทคดีแดงที่ 4/2547 ลงวันที่ 30 ม.ค. 2547 เป็นคำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากบริษัทไอทีวีทราบเงื่อนไขโครงการตาม พ.ร.บ. ให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ประกอบกับนายจุลจิตต์ บุณยเกตุ ซึ่งเป็นผู้บริหารของไอทีวี เคยเป็นกรรมการในการดำเนินการโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ และเป็นผู้ขอให้เปิดการเจรจาแก้ไขสัญญา โดยเพิ่มเติมข้อ 5 วรรค 4 ที่ระบุว่า หลังจากทำสัญญานี้ หาก สปน.หรือหน่วยงานของรัฐให้ สัมปทานอนุญาต หรือทำสัญญาใดๆกับบุคคลอื่นเข้าดำเนินกิจการให้บริการส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ โดยมีโฆษณา หรืออนุญาตให้โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกมีโฆษณาได้ และเป็นเหตุให้ไอทีวีได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรง สามารถมีการเจรจาเพื่อหาค่าชดเชยได้ ลงในสัญญา ซึ่งถือเป็นการแก้ไขในสาระสำคัญที่ต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แต่มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น ข้อ 5 วรรค 4 ในสัญญานี้จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา คณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่ อาจอาศัยข้อสัญญาดังกล่าวมีคำชี้ขาดกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายต่างๆให้แก่บริษัทไอทีวีได้
ตุลาการเจ้าของสำนวนกล่าวอีกว่า สำหรับคำชี้ขาด ที่ระบุให้ สปน.คืนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้แก่ไอทีวีจำนวน 570 ล้านบาทนั้น เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการไม่สามารถนำข้อ 5 วรรค 4 มาใช้ได้แล้ว อนุญาโตตุลาการ จึงไม่มีอำนาจชี้ขาดให้ปรับลดเงินผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาร่วมงาน รวมทั้งไม่สามารถชี้ขาดให้ไอทีวีปรับเปลี่ยนผังรายการในช่วงเวลาไพร์ไทม์ โดยลดสัดส่วนรายการความรู้ ข่าว จากเดิม ร้อยละ 70 ไปเป็นร้อยละ 50 นั้น ซึ่งเป็นการวินิจฉัยเกินคำขอของบริษัทไอทีวี และส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของการจัดบริการสาธารณะ ขัดต่อข้อสัญญาและวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ไอทีวีไม่ใช่สถานีโทรทัศน์เพื่อการบันเทิง ศาลจึงพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 29/2545 และคดีแดงที่ 4/2547 ทั้งหมด โดยเปิดโอกาสให้มีการยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับจากที่ศาลมีคำสั่ง
ภายหลังการรับฟังคำพิพากษา นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า จากการรับฟังคำพิพากษารู้สึกดีใจมาก เพราะถือว่าเป็นการป้องกันผลประโยชน์ของประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สิ้นสุด เพราะทางบริษัทไอทีวียังสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน โดยขณะนี้การดำเนินการของไอทีวีก็ยังดำเนินการได้ตามปกติ จนกว่าจะมีคำสั่งจากศาลปกครองสูงสุดในกรณีที่มีการอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ทาง สปน.จะขอคัดสำเนาคำพิพากษา เพื่อนำไปวิเคราะห์ประเด็น โดยมีนายรองพล เจริญพันธุ์ ปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธานร่วมกับอัยการที่รับมอบอำนาจว่า จะวิเคราะห์สถานการณ์ คดีอย่างไร ส่วนเรื่องค่าสัมปทานที่ไอทีวีต้องจ่ายให้รัฐนั้น ขณะนี้ยังคงจ่ายตามอัตราเดิมคือ 230 ล้านบาท แต่หากศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก็จะต้องมีการเก็บค่าสัมปทานย้อนหลัง รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าเสียโอกาส หรือค่าปรับตามสัญญาที่ระบุไว้
ด้านนายชัยวัธ มะระพฤกษ์วรรณ ทนายความบริษัทไอทีวี จำกัด กล่าวว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว ก็จะกลับไปเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด ใน 3 ประเด็น คือการชดใช้ค่าเสียหาย 20 ล้านบาท การกำหนดการออกอากาศในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ รวมทั้งการลดค่าสัมปทานรายปี แต่หลักแล้วอยู่ที่การตีความของศาล ที่ระบุว่าคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยเฉพาะในสัญญาข้อ 5 วรรค 4 ที่ผู้บริหารเดิมของไอทีวีได้ทำการแก้สัญญาใหม่กับ สปน. กระบวนแก้ไขสัญญานั้น สปน.ไม่ได้ส่งให้ ครม.อนุมัติ จึงทำให้สัญญาที่ไม่ถูกต้องขัดต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งไอทีวีขอยืนยันว่า ไม่รู้เรื่องต่อการดำเนินของ สปน.ดังกล่าว และจะนำไปเป็นประเด็นยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป ส่วนประเด็นเรื่องสัดส่วนการนำเสนอรายการข่าวในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ ที่มีการแก้ไขจาก 70 ต่อ 30 เป็น 50 ต่อ 50 นั้นเป็นทั้งมติของ ครม.และ มติของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งไอทีวีจำต้องปฏิบัติตาม แต่เมื่อศาลปกครองพิพากษา ให้ยกเลิกมติดังกล่าว ไอทีวีคงต้องนำบทบัญญัติของรัฐ ธรรมนูญมายื่นอุทธรณ์ต่อไป
ขณะที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไอทีวี ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ไอทีวีเคารพคำตัดสินของศาลปกครองกลาง แต่ถือว่าคำชี้ขาดที่ออกมาถือว่ายังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยออกมา โดยเบื้องต้นจะศึกษารายละเอียดคำพิพากษา และจะใช้สิทธิตามกฎหมายในการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน เนื่องจากข้อเรียกร้องของไอทีวีถือว่าเป็นไปตามกระบวนการกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 ว่าด้วยการแข่งขันเสรี อย่างไรก็ตาม คงต้องทำความเข้าใจกับผู้ถือหุ้น หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง แต่ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะให้ข้อมูลใดๆเพิ่มเติม และยังมีเวลาเหลือที่ไอทีวีจะเตรียมตัวและปรับปรุง ก่อนที่จะยื่นอุทธรณ์ ส่วนเรื่องผังรายการ ขณะนี้ผังรายการของไอทีวีเป็นรายการด้านข่าวร้อยละ 65 และบันเทิงร้อยละ 35 จึงไม่จำเป็นต้องปรับผังรายการมากนัก โดยจะพยายามทำให้ไอทีวีเป็นสถานีโทรทัศน์ทั้งข่าวสาร สาระ และบันเทิงที่ดีที่สุด
ขณะนี้ยืนยันว่าจะใช้สิทธิในการขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งหากศาลปกครองมีคำวินิจฉัยอย่างไร ไอทีวีก็พร้อมจะปฏิบัติตามนั้น และหากศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ไอทีวีก็จะต้องปรับผังรายการใหม่ ให้มีรายการข่าวและสาระร้อยละ 70 ซึ่งจะทำให้รายการบันเทิงลดลง และจะกระทบต่อฐานะการเงินด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ มีการหารือร่วมกับกลุ่มเทมาเส็กและพันธมิตรรายอื่นๆ นายนิวัฒน์ธำรงกล่าว