ใครที่ใช้ชีวิตอย่างที่ไม่ประมาท สนุกกันแต่พอประมาณก็คงไม่มีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้น แต่มีผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งตกเป็นเหยื่ออุบัติเหตุ บาดเจ็บล้มตายไปตามๆ กัน สังเวยชีวิตในช่วงเทศกาลกันมานักต่อนัก สำหรับสถิติ 7 วันอันตรายในปีนี้กระทรวงมหาดไทยสรุปยอดอุบัติเหตุทั่วประเทศอย่างเป็นทางการมีทั้งสิ้น 4,475 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 401 ราย น้อยกว่าปีที่แล้ว 48 ราย โดยกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่ครองแชมป์การตายมากที่สุดถึง 24 ราย ตามด้วยขอนแก่น 18 ราย และนครปฐม 17 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บพุ่งสูง 4,903 ราย เชียงรายมากสุด 169 ราย รองลงมา สุรินทร์ 159 ราย
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาเมาแล้วขับทั้งสิ้น
โดยเมื่อวันที่ 4 ม.ค. นายบัญญัติ จันทน์เสนะ รมช.มหาดไทย ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ออกมาแถลงยอดสถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 "ในช่วง 7 วันอันตราย" ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 50 - 3 ม.ค. 51 ว่า ในวันที่ 3 ม.ค. 51 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ เกิดอุบัติเหตุ 354 ครั้ง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครปฐม 17 ครั้ง รองลงมา พิษณุโลก 14 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 32 ราย จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่กรุงเทพฯ และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 4 ราย รองลงมา กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด และน่าน จังหวัดละ 2 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 54 จังหวัด มีผู้บาดเจ็บ 389 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครปฐม 19 ราย รองลงมา พิษณุโลก 17 ราย จังหวัดที่ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ หนองบัวลำภู ยโสธร อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ และชัยนาท
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 23.45 รองลงมา ได้แก่ ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด ร้อยละ 20.9
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.11 รองลงมา รถปิกอัพ ร้อยละ 6.39 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนทางตรงของถนนนอกเขตทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 66.95 และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 34.75
ถึงแม้ตัวเลขสถิติอุบัติเหตุปีนี้จะลดลงจากปีที่แล้วแต่ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องความสูญเสีย ปีใหม่ก็ยังคงเป็นปีใหม่เลือดอยู่ดี
ซึ่งตราบใดที่ทุกคนยังประมาทขาดสติ "เมาแล้วขับ-ขับแล้วโทร." อยู่อย่างนี้ ก็คงจะหลีกหนีอุบัติเหตุไปไม่พ้นทุกช่วงเทศกาลจึงมีการสังเวยอย่างน่าเศร้า
ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ทางกระทรวงได้สั่งการให้สำนักโรคไม่ติดต่อและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ
สุ่มสำรวจการฝ่าฝืนจำหน่ายสุราในเวลาและสถานที่ที่กฎหมายกำหนดห้ามขาย ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 2550 - 2 ม.ค. 2551 ดำเนินการใน 32 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท ชลบุรี ระยอง นครปฐม เพชรบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร มุกดาหาร นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ลำพูน สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง เพื่อประมวลผลให้คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน นำไปใช้เป็นข้อมูลวางแผนแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจากการดื่มเหล้าแล้วขับ
โดยสำรวจตามสถานที่ห้ามจำหน่ายสุราได้แก่ ปั๊มน้ำมัน บริเวณสถานศึกษา และบริเวณศาสนสถาน รวมทั้งบริเวณต่อเนื่องติดกับสถานที่ดังกล่าวรวมทั้งหมด 843 แห่ง
พบมีการกระทำผิด 131 แห่ง หรือร้อยละ 15 ใกล้เคียงกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2550 โดยปั๊มน้ำมันกระทำผิดมากสุด ร้อยละ 19 เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่พบร้อยละ 18 รองลงมาเป็น ศาสนสถาน ร้อยละ 6 และสถานศึกษา ร้อยละ 5 ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้พบมีการกระทำผิดลดลงจากเดิมกว่าครึ่ง ร้านค้าที่อยู่บนถนนสายรองมีการกระทำผิดร้อยละ 17 สูงกว่าร้านค้าที่อยู่บนถนนสายหลักที่พบร้อยละ 15 โดย จ.นครศรีธรรมราช มีการกระทำผิดค่อนข้างสูงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา แต่สถิติลดลงจากร้อยละ 72 ในปีใหม่ 2550 เหลือร้อยละ 44 ในปีใหม่ปีนี้ เหตุผลของการกระทำผิด คือ ไม่รู้ว่ามีกฎหมาย ร้อยละ 37 ต้องการมีรายได้ ร้อยละ 14 คิดว่าน่าจะยกเว้นเพราะเป็นช่วงเทศกาล กลัวจะเสียลูกค้าประจำ และไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง พบใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 10
สำหรับการขายสุรานอกเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมี 2 ช่วงเวลา คือ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. สำรวจทั้งหมด 807 แห่ง พบกระทำผิดมากถึง 429 แห่ง
คิดเป็นร้อยละ 53 สูงกว่าปีใหม่ 2550 ที่พบร้อยละ 16 ถึงกว่า 3 เท่า โดยร้านค้าบนถนนสายรองมีการกระทำผิดสูงกว่าถนนสายหลัก จังหวัดที่มีการกระทำผิดสูงสุดได้แก่ ลำพูน ร้อยละ 89 รองลงมา ขอนแก่น ร้อยละ 80 เชียงใหม่ ร้อยละ 77 และสุราษฎร์ธานี ร้อยละ 75 เหตุผลของการกระทำผิดคือต้องการมีรายได้ร้อยละ 27 ไม่รู้ว่ามีกฎหมาย ร้อยละ 26 คิดว่าน่าจะมีการยกเว้นเพราะเป็นช่วงเทศกาล ร้อยละ 22 และไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ร้อยละ 13
น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาวิเคราะห์ ว่า
ในภาพรวมพบว่าปีนี้มีการกระทำผิดทั้งการขายสุราในสถานที่และเวลาที่ห้ามขาย มากกว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการขายในเวลาห้ามขาย พบร้านค้าที่สำรวจมีการกระทำผิดสูงกว่าครึ่ง และสูงกว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาถึง 2 เท่าตัว โดยเหตุผลหลักคือไม่รู้ว่ามีกฎหมาย ส่วนที่รู้ว่ามีกฎหมายก็ยังกระทำผิดเพราะต้องการรายได้ และเห็นว่าน่าจะยกเว้นให้ในช่วงเทศกาล ดังนั้น จึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้กฎหมายมากขึ้น ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และควรเพิ่มโทษร้านค้าที่ฝ่าฝืนกฎหมาย รวมทั้งเข้มงวดการออกใบอนุญาตขายสุราให้มากขึ้น
อีกทั้งควรร่วมมือกันแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิดกฎหมายที่หมายเลข 1713 ของกรมสรรพสามิต ต้องพยายามช่วยกันลดอุบัติเหตุให้จงได้