ลวง-ร้าว-ร้ายนิยายนอกจอ หมอเผ่า-เปมิกา

หากยังจำกันได้ เมื่อต้นปี 2550 ที่ผ่านมา



หนังสือพิมพ์เดลินิวส์นำเสนอข่าวใหญ่ข่าวหนึ่ง เป็นข่าวใหญ่ชนิด เอ็กซ์คลู ซีฟ ที่กลายเป็นเรื่อง ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์หรือข่าวที่สังคมให้ความสนใจกันอย่างกว้างขวางนานหลายเดือน เพราะเนื้อหาข่าวในขณะนั้นถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ เหลือเชื่อ และไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้กับชีวิตจริงของมนุษย์ !!



เกิดคดีดังพิลึกกรุง จับแพทย์ ประกิตเผ่า ส่ง รพ.บ้า เป็นคำพาดหัวใหญ่ของข่าว หน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับประจำวันที่ 27 ก.พ. 2550 ซึ่งถือเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรก และฉบับเดียวที่นำเสนอข่าวนี้ จนเพื่อนพ้องฉบับอื่นในบรรณพิภพ รวมทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ ฯลฯ ต่างร่วมกันนำเสนอข่าว หมอเผ่า อย่างพร้อม เพรียงในเวลาต่อมา


นิยายรักนอกจอเรื่อง หมอเผ่า-เปมิกา เริ่มต้นขึ้น เมื่อ



น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต อายุ 24 ปี ชื่อเดิม ศิวพร เหลืองเรณูกุล หรือ อุ๋ย นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย เพื่อนสาวคนสนิทของ นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ อายุ 37 ปี อาจารย์และเจ้าของสถาบันกวดวิชาแอพพลายด์ ฟิสิกส์ เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.ฐิติเดช อินทรแป้น พนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ว่า นพ.ประกิตเผ่าถูกครอบครัวนำตัวเข้ารักษาอาการป่วยทางจิตที่ รพ. ศรีธัญญา ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้มีการป่วยทางจิตตามกล่าวอ้าง เกรงว่าอาจเป็นการถูกหลอกเอาตัวไปกักขังไว้ เพื่อไม่ให้ นพ.ประกิตเผ่า ดำเนินกิจการโรงเรียนกวดวิชาของครอบครัวที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ มีรายได้ปีละนับร้อยล้านบาทต่อไปได้ !?



จากนั้นวันที่ 26 ก.พ. พ.ต.ท.ฐิติเดช และ น.ส.เปมิกา ได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้มีคำสั่งปล่อยตัว นพ.ประกิตเผ่า อ้างว่า รพ.ศรีธัญญา ควบคุมตัวไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะจากการสอบปากคำพยานหลายปาก รวมทั้งพิรุธที่ได้จากเจ้าหน้าที่ รพ.ศรีธัญญา สรุปได้ว่า นพ.ประกิตเผ่า ไม่ได้มีอาการป่วยทางจิตแต่อย่างใด



รุ่งขึ้น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ผอ.รพ. ศรีธัญญา พร้อม นพ.ประกิตพันธุ์ ทมทิตชงค์ พี่ชายของ นพ.ประกิตเผ่า ร่วมแถลงยืนยันว่า นพ. ประกิตเผ่า มีอาการป่วยทางจิตชนิดหวาดระแวง หลงผิดคิดว่าตนเองมีเวทมนตร์ หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น โดยสาเหตุเบื้องต้น ตรวจพบสาร อีเฟดรีน สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในปัสสาวะของ นพ.ประกิตเผ่า สูงกว่าคนปกติถึง 200 เท่า!!


ด้านศาลอาญาได้นัดคู่ความไต่สวนครั้งแรกวันที่ 2 มี.ค. โดยใช้วิธี เดินเผชิญสืบ



เพื่อให้ทราบถึงวิธีการรักษาผู้ป่วยของ รพ.ศรีธัญญา และเพื่อได้พูดคุยกับ นพ.ประกิตเผ่า ตามลำพัง ซึ่งพบว่า นพ. ประกิตเผ่ามีอาการป่วยจริง แต่เพื่อให้สาธารณชนหายสงสัยว่านพ.ประกิตเผ่า ป่วยจริงหรือไม่ รวมทั้งรักษาภาพลักษณ์ของ รพ.ศรีธัญญา ที่เป็นองค์กรระดับประเทศ ศาลจึงมีคำสั่ง ให้ส่งตัว นพ.ประกิตเผ่า ไปรักษาต่อที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ พร้อมตั้งคณะกรรมการแพทย์จากหน่วยงานกลางขึ้นมาร่วมวินิจฉัยอาการอีกทางหนึ่ง ซึ่งได้ผลว่า หมอเผ่า ป่วยจริง



ต่อมาศาลนัดไต่สวนคำร้องปล่อยตัว นพ.ประกิตเผ่า อีกครั้งในวันที่ 9 มี.ค. โดยมีการไต่สวนคู่ความและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ พ.ต.ท.ฐิติเดช, น.ส.เปมิกา, รศ.เพลินจิต, นพ. ประกิตพันธุ์, นางอลิสา มารดา พี่ชาย และภรรยาของหมอประกิตเผ่า รวมถึงนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ นายอำเภอพุทธมณฑล นายธวัชชัย แก้วคงคา ปลัดอำเภอพุทธมณฑล จ.นคร ปฐม นายอนุวัฒน์ จันทประเทศ เจ้าหน้าที่รพ.ศรีธัญญา แพทย์เจ้าของไข้ ทั้งจาก รพ.ศรีธัญญา และสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และ พ.ต.ท.ธีรศักดิ์ ภิญโญ ผบ.ร้อย 3 กก.3 บก.ตปพ.




หมอเผ่าบอกกับเราว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ผมถูกคนนอก กระทำ !!.



กระทั่งเย็นวันที่ 12 มี.ค. ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องของ พ.ต.ท.ฐิติเดช ที่ขอให้ปล่อยตัว นพ.ประกิตเผ่า โดยศาลพิเคราะห์จากการตรวจ รักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การเดินเผชิญสืบของศาล เชื่อว่า นพ.ประกิตเผ่า มีอาการป่วยทางจิตจริง จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ต่อไปจนกว่าอาการจะทุเลา...และจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือนครึ่ง ในวันที่ 1 มิ.ย. แพทย์ก็อนุญาตให้ หมอเผ่า กลับสู่อ้อมอกครอบครัวได้ เพราะ อาการหายจนแทบเป็นปลิดทิ้ง และเป็น เดลินิวส์ ฉบับเดียวอีกครั้ง ที่ได้สัมภาษณ์ หมอเผ่าขณะสติสัมปชัญญะครบถ้วน วันนั้น หมอเผ่าบอกกับเราว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ผมถูกคนนอก กระทำ !!.

สุรุปคดีฟ้องร้อง 2 ฝ่าย



คดีที่ 1 วันที่ 13 มี.ค. 50 นางอลิสา ทมทิตชงค์ เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต เป็นจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เรื่องค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนทำนองชู้สาว เรียกค่าเสียหาย 27 ล้านบาท ศาลไกล่เกลี่ยแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ นัดสืบพยานโจทก์ระหว่างวันที่ 23-25 เม.ย. 51



คดีที่ 2 วันที่ 22 พ.ค. 50 น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต เป็นโจทก์ฟ้อง นพ.ประกิตพันธุ์ ทมทิตชงค์ และนางอลิสา ทมทิตชงค์ เป็นจำเลยต่อศาลอาญา ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท กรณีให้สัมภาษณ์ออกรายการโทรทัศน์ ทำนองว่า นพ.ประกิตเผ่า ถูกให้กินยา ถูกจิตวิทยาหมู่ ศาลนัดไต่สวน 3 มี.ค. 51



คดีที่ 3 วันที่ 28 พ.ค. 50 รศ.เพลินจิต นพ.ประกิตพันธุ์ ทมทิตชงค์ เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต เป็นจำเลยต่อศาลอาญา ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา แจ้งความเท็จเพื่อให้บุคคลอื่นต้องรับโทษทางอาญา และเบิกความเท็จ ศาลจะนัดไต่สวนมูลฟ้องต่อไป



คดีที่ 4 วันที่ 4 มิ.ย. 50 น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต เป็นโจทก์ฟ้อง นพ.ประกิตพันธุ์ นางอลิสา ทมทิตชงค์ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ฐานหมิ่นประมาท กรณีโจทก์ใช้จิตวิทยาหมู่ชักนำ นพ.ประกิตเผ่า ศาลจะนัดไต่สวนมูลฟ้องต่อไป



คดีที่ 5 วันที่ 29 มิ.ย. 50 น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต เป็นโจทก์ฟ้อง นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ เป็นจำเลยต่อศาลอาญา ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กรณีจำเลยร่วมงานเสวนาวิชาการเรื่องการพิทักษ์สิทธิผู้ป่วยจิตเวช โอกาสครบรอบ 36 ปี สถาบันกัลยาณ์ฯ ศาลยกฟ้อง



และคดีที่ 6 วันที่ 11 เม.ย. 50 ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก รศ.เพลินจิต และนางอลิสา ทมทิตชงค์ ร้องทุกข์พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ให้ดำเนินคดี น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต กับพวกอีก 3 คน ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโดยอาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง จาก นพ.ประกิตเผ่า เช่น รถยนต์ คอนโดมิเนียม ฯลฯ มูลค่า 9.5 ล้านบาท



ล่าสุดอัยการยื่นฟ้องต่อศาล พวกจำเลยปฏิเสธ ศาลนัดแถลงเปิดคดี 25 ก.พ. 51.




สังคมไทยได้อะไรจาก 'หมอประกิตเผ่า'



คดีความระหว่าง หมอเผ่า-เปมิกา ไม่เพียงเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ของผู้คนในสังคม แต่ยังเป็นอรรถคดีที่นักกฎหมายทั้งมือเก่า มือใหม่ เฝ้าติดตามใช้เป็นคดีศึกษา เพราะแทบไม่เคยเกิดเรื่องทำนองนี้มาก่อน มองผิวเผินนี่อาจเป็นแค่เรื่องของครอบครัวหนึ่งกับคนนอกอีกคน แต่หากมองรอบด้าน 360 องศา เรื่องนี้ได้จุดประกายให้หลายฝ่ายเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่กฎหมายสำคัญอย่างน้อย 2 ฉบับ ควรจะออกมาบังคับใช้เสียที ฉบับแรกคือ พ.ร.บ. สุขภาพจิต ที่อนุญาตให้จิตแพทย์วิเคราะห์อาการผู้ป่วยทางจิต หากพบว่าป่วย จริง ปล่อยไว้อาจเกิดอันตรายแก่ตนเองและผู้อื่น สามารถแนะนำให้ญาติพาเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาลได้ โดยไม่ถูกร้องต่อศาลขอให้ปล่อยตัวผู้ป่วยฐานคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เหมือนกรณีหมอประกิตเผ่า ล่าสุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการวาระแรกแล้ว กฎหมายอีกฉบับคือ พ.ร.บ.ส่งเสริมสถาบันครอบครัว ที่มีสาระสำคัญว่า สิทธิของครอบครัวควรจะได้รับการรับรองโดยกฎหมายได้แล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้ถูกล่วงละเมิดโดยบุคคลภายนอก อย่างไรก็ตาม สนช.เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ควรชะลอไว้ก่อน แต่ให้ไปแก้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและประสานงานครอบครัวแห่งชาติ มาบังคับใช้แทน




นอกจากนี้ กรณี หมอเผ่า ยังได้เปิดองค์ความรู้ใหม่ให้สังคมหลายเรื่อง



เช่น ขั้นตอนการนำบุคคลในครอบครัวเข้ารับการรักษาในสถาบันรักษาผู้ป่วยทางจิต รวมถึงขั้นตอนการสืบพยานของศาลที่เรียกว่า การเดินเผชิญสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 102 บัญญัติว่า ให้ศาลที่พิจารณาเป็นผู้สืบพยานหลักฐานโดยจะสืบในศาล หรือนอกศาล ณ ที่ใดก็ได้แล้วแต่ศาลจะสั่งตามที่เห็นสมควรตามความจำเป็นแห่งสภาพของพยานหลักฐานนั้น.


เปิดตัว 'เดอะ ทีม'



โดยระบบการทำงานของกองบรรณาธิการ เดลินิวส์ แล้ว ข่าวชิ้นไหนจะได้ลงหน้า 1 เป็นข่าวพาดหัวใหญ่ หัวเล็ก หรือข่าวก่อนขึ้นแท่น จะต้องผ่าน ด่านหิน หลายด่าน เริ่มจากต้นทาง นักข่าว มาถึง รีไรเตอร์ หรือผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า 1 จากนั้นก็จะถูกคัดเลือกอีกครั้งโดย หัวหน้าข่าวหน้า 1 สุดท้ายจบที่ บรรณาธิการข่าวประจำวัน ต้องยอมรับว่าวัน ๆ หนึ่ง บ้านเรามีข่าวเป็นร้อยข่าวจากทุกสารทิศทั่วประเทศ การคัดสรรข่าวมาลงหน้า 1 จึงต้องพิถีพิถัน ละเอียด รอบคอบ ยิ่งข่าว หมอเผ่า ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องด้วยแล้ว เราต้องประชุมโต๊ะข่าวถึง 2 ครั้ง หารือถึงผลกระทบต่อสังคม ผลได้ ผลเสีย เพื่อให้มั่นใจว่าเราได้ข่าวที่ถูกต้อง และ เจ๋งจริง !!

....และนี่คือทีมงานข่าวในวันนั้น

พานิช บัณฑราภิวัฒน์

วันนั้นผมไม่ได้เข้าเวร มีแหล่งข่าวพรายกระซิบที่สนิทสนมกันมานาน โทรฯมาบอกว่าเจอคดีแปลกประหลาดที่น่าจะมีแต่ในหนังไทย แต่มันเป็นเรื่องจริง สนใจไหม ฟังเรื่องราวแล้วคิดว่าหากเล่นข่าวนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับคนทั่วไป ผมเลยโทรฯ ไปบอกเพื่อนที่เข้าเวรช่วยสานต่อ




มานะ ทองยัง



พอทราบว่ามีคดีนี้ที่ สน.บางซื่อ ก็รีบไปตรวจสอบ พบสารวัตรฐิติเดช กำลังสอบปากคำเปมิกาอยู่พอดี เรียกว่าโป๊ะเชะเลยทีเดียว เลยรอจนสอบเสร็จเพื่อขอข้อมูล ฟังคร่าว ๆ ด้วยสัญชาตญาณนักข่าวก็รู้เลยว่าข่าวหมอเผ่านี่เป็นข่าวใหญ่ชัวร์ ผมเลยโทรฯ ไปบอกรีไรเตอร์ให้ตัดสินใจ ว่าจะเอายังไง




ลักษณะศักดิ์ โลหิตาจล



หลังได้รับคำสั่งจากรีไรเตอร์ โดยหลักการสืบข่าวอาชญากรรม ผมสงสัยว่า เปมิการู้ได้อย่างไรว่าหมอเผ่าอยู่ที่ รพ.ศรีธัญญา พอรู้ว่าตัวคุณหมอนั่นแหละโทรฯ บอกเปมิกาเอง ก็เริ่มเข้าเค้า เปมิกาแค่อยากให้ตำรวจช่วยนำตัวหมอออกจากโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่ได้ให้ช่วยอย่างอื่น ซึ่งตำรวจก็ยอดเยี่ยม สอบปากคำเสร็จก็ยื่นคำร้องต่อศาลทันที พอรู้ว่าศาลรับคำร้องให้มีการพิสูจน์ ผมก็รีบเดินทางไปยังศาลอาญา ส่งต่อนักข่าวศาลทันที




ภาณุพงศ์ ส่องสว่าง



จริง ๆ งานข่าวศาลเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราไปยุ่งกับสำนวน หรือคำร้องไม่ได้ ถ้าผู้เสียหายไม่อนุญาตเพราะถือเป็นความลับ บังเอิญผมได้เจอทั้ง พ.ต.ท.ฐิติเดช และเปมิกา จึงมีโอกาสได้พูดคุยสอบถาม เลยได้รายละเอียดของเหตุการณ์แทบจะทุกขั้นตอน ตั้งแต่คุณหมอโทรฯหาเปมิกาขณะอยู่ในโรงพยาบาล จนถึงยื่นคำร้องในขั้นตอนสุดท้าย




สุดารัตน์ งามพิรุณตระกูล



หลังจากได้รับมอบหมายภารกิจจาก หัวหน้าข่าวอาชญากรรม และรีไรเตอร์ ให้ตามติดหมอประกิตเผ่ากับเปมิกาโดยเฉพาะ ตอนแรกมองว่าเป็นเรื่องแปลกมากและจะเป็นไปได้หรือ เลยอยากรู้และต้องหาข่าวมาให้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เขาจะคุยหรือให้ข้อมูลกับเรา ซึ่งเดลินิวส์เป็นเพียงฉบับเดียวที่เจาะลึกและเกาะติดข่าวนี้ ต้องแลกมาด้วยความจริงใจ และมีสัจจะกับแหล่งข่าว หลังจากที่ได้ข้อมูลแล้วก็ต้องวิเคราะห์และปรึกษาผู้ใหญ่ด้วยว่า อะไรควรจะนำเสนอ เพราะเราไม่มีสิทธิที่จะไปตัดสินว่าใครผิด ใครถูก ให้ประชาชนที่บริโภคข่าวสารได้ใช้ วิจารณ ญาณเอง และกระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน




สุวัฒน์ บุญชาญ



ผมรับไม้ต่อให้มาช่วยตามความคืบหน้าอาการผู้ป่วย และความเห็นของจิตแพทย์ รพ.ศรีธัญญา สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ตลอดจนผู้บริหารกรมสุขภาพจิต อุปสรรคอยู่ที่แพทย์ให้ข่าวไม่ได้เต็มปาก โดยเฉพาะอาการของผู้ป่วย เพราะยังเป็นคดีความกันอยู่ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นด้วยดี จนเป็นข่าวที่ดีชิ้นหนึ่งของเดลินิวส์เลยทีเดียว ต้องขอขอบคุณ ศ.นพ.สมิง เก่าเจริญ ผอ.ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ที่ไขข้อข้องใจเรื่องสารอีเฟดรีน ว่าจริง ๆ แล้วเป็นซูโดอีเฟดรีน ที่มาจากยาแก้ไข้หวัด หมอเผ่าไม่ได้ถูกวางยาตามที่เข้าใจกันแต่แรก



อรรถชยา โทนุศิษย์ .. รายงาน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์