แฉกลิ่นตุๆ งบซื้อโปรแกรมตรวจข้อสอบโอเน็ต ขู่ฟ้องศาลปกครอง! หากยึกยักไม่ให้ตรวจ
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 3 พฤษภาคม 2549 17:12 น.
อาจารย์พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขอดูระบบคอมพิวเตอร์ตรวจข้อสอบโอเน็ต-เอเน็ตว่ามีการทดลองระบบก่อนหรือไม่ เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง หาก สทศ.ยังไม่ยอมให้ตรวจสอบ ระบุได้กลิ่นแปลกจากการใช้งบฯ สร้างโปรแกรมตรวจข้อสอบ เผยลูกชายท้อ เล็งสมัครมหาวิทยาลัยเอกชน
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ว่ายังคงมีนักเรียนและผู้ปกครองเดินทางมาร้องเรียนปัญหาผลสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มีปัญหาไม่ปรากฏคะแนนในบางรายวิชา ซึ่งเจ้าหน้าที่ สทศ.จะนำคำร้องไปตรวจสอบ โดยบางรายเมื่อไปตรวจสอบจากฐานข้อมูลก็ปรากฏคะแนน แต่ในรายที่ไม่พบคะแนนก็จะนัดให้นักเรียนและผู้ปกครองเดินทางมาตรวจสอบในภายหลัง
ผศ.ธวัชชัย งามสันติวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ปกครองที่เดินทางเข้าร้องเรียนกับ สทศ.กล่าวว่า ในการประกาศผลทั้ง 3 ครั้ง ลูกชายได้คะแนนลดลงเกือบทุกรายวิชา โดยเฉพาะการประกาศผลในรอบที่ 3 ซึ่งลูกของตนเรียนโรงเรียนนานาชาติ แต่คะแนนข้อสอบโอเน็ต วิชาภาษาอังกฤษจากเดิมที่ประกาศผลในรอบที่ 2 ได้ 70 คะแนน ครั้งนี้เหลือเพียง 20 คะแนน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ลูกชายของตนถอดใจ และไม่คิดรอผลการตรวจสอบคะแนนอีกครั้งแล้ว เพราะผิดหวังมาตลอดจนท้อมาก
ขณะนี้เตรียมจะไปสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนแทน แต่ผมเป็นอาจารย์สอนคอมพิวเตอร์และมีความรู้ในเรื่องเทคนิค และโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี รู้สึกเป็นห่วงอนาคตในการจัดสอบโอเน็ต และเอเน็ต เพราะหากยังอยู่อย่างนี้ในปีหน้าก็คงต้องเกิดปัญหาขึ้นอีกแน่นอน ผมได้แจ้งกับนายประทีป จันทร์คง รักษาการผู้อำนวยการ สทศ.ว่า ขอดูระบบการตรวจข้อสอบโอเน็ต และเอเน็ต ว่ามีการทดลองระบบก่อนที่จะนำมาใช้จริง หรือ Test Case หรือไม่ แต่นายประทีปกลับไม่ชี้แจง และปัดให้ผมไปคุยกับนายสมชาย ทยานยง รองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ประจำปี 2549 และนายวันชัย ริ้วไพบูลย์ เลขานุการคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ แทน
ผศ.ธวัชชัย กล่าวอีกว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมนายประทีปจึงไม่กล้ายืนยันว่ามีการทดลองระบบแล้ว จึงต้องการขอเช็กระบบว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาผลสอบโอเน็ต และเอเน็ต นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ก็ระบุว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ควรเปิดให้ได้มีการตรวจสอบว่าเทคนิคผิดพลาดจริงหรือไม่
อีกทั้งที่ระบุว่าระแบบและโปรแกรมที่เขียนขึ้นมาใช้ในการตรวจข้อสอบโอเน็ต และเอเน็ต ใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท แค่ได้ยินว่าใช้งบประมาณขนาดนี้ก็เริ่มได้กลิ่นแปลกๆ แล้ว หาก สทศ. และสกอ.ยังยืนยันไม่ให้ตนเข้าไปตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์ก็จะเดินหน้าฟ้องศาลปกครองเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบระบบได้
ด้านนักเรียนหญิงโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หนึ่งในนักเรียนที่เดินทางมาขอตรวจสอบคะแนนที่ศูนย์จุฬาฯ กล่าวว่า ตนได้คะแนนสอบโอเน็ต และเอเน็ตในหลายวิชาต่ำเกินจริง จึงมายื่นคำร้องขอตรวจสอบคะแนน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้ตรวจสอบไฟล์กระดาษคำตอบที่ได้แสกนไว้ เปรียบเทียบกับเฉลยข้อสอบ โดยให้ดูว่าคะแนนที่ได้กับไฟล์กระดาษคำตอบตรงกันหรือไม่ แต่ตนก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าคำตอบหรือเฉลยที่เจ้าหน้าที่นำมานั้นผิดหรือถูกอย่างไรบ้าง
ซึ่งเมื่อตรวจสอบกระดาษคำตอบครบทุกวิชาแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้เซ็นรับรองผลคะแนนว่าถูกต้อง สมบูรณ์ และพอใจกับคะแนนดังกล่าว ทั้งที่ตนก็ยังไม่มีรู้สึกพอใจแต่ก็ต้องยอมเซ็นเพราะสถานการณ์บังคับ
ด้านนายประทีป กล่าวว่า แบบฟอร์มดังกล่าวที่ สทศ.จัดทำขึ้นไม่ได้ต้องการป้องกันการฟ้องร้องของนักเรียนแต่อย่างใด เพียงแต่เห็นว่าในอดีตสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เคยให้นักเรียนเซ็นรับรองในลักษณะเดียวกันเช่นนี้จึงนำมาใช้เท่านั้น ซึ่งเมื่อนักเรียนได้ตรวจสอบผลคะแนนจนพอใจแล้วจะเซ็นรับรองไว้ แต่หากนักเรียนยังรู้สึกข้องใจกับผลคะแนนก็มาขอตรวจสอบคะแนนในภายหลังเพิ่มเติมได้
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการเสนอให้นักเรียนและผู้ปกครองฟ้องร้องต่อศาลปกครองกรณีที่ สทศ.เลื่อนประกาศผลสอบโอเน็ต และเอเน็ตนั้น นายประทีป กล่าวว่า เป็นสิทธิที่นักเรียนและผู้ปกครองในฐานะผู้เสียหายสามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ ตนยังไม่ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว จึงยังไม่สามารถแสดงความเห็นกรณีนี้ได้
ด้าน นายภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ถ้าหลังจากวันที่ 29 พ.ค.ไปแล้วยังไม่สามารถตรวจสอบคะแนนได้ จะให้มหาวิทยาลัยพิจารณาจากความสามารถทางการเรียนเป็นหลัก แต่ถ้าพบหลัง 29 พ.ค.จะให้มหาวิทยาลัยพิจาณณาเป็นรายๆ ไป