อย.เตือนภัยเครื่องสำอางกว่า 100 ยี่ห้อ วางขายในตลาดมีสารห้ามใช้ โชว์ผลงานตลอด 1 ปี จับกุม 221 ราย มูลค่าผลิตภัณฑ์สูงถึง 84 ล้านบาท เผยข้อมูลตัวยา "Cialis"
ไวอะกร้าชนิดใหม่อันตรายถึงชีวิต นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมนี้ ในโอกาสที่ อย.ดำเนินงานคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพมาครบรอบ 33 ปี และทาง อย.ได้รวบรวมปัญหาที่พบในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นข้อมูลเตือนภัยให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยปัญหาที่พบบ่อยในกลุ่มแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความสวยงาม เช่น เครื่องสำอาง มีการตรวจพบกว่า 100 ยี่ห้อ ที่มีสารห้ามใช้ ซึ่งนอกจากส่งผลเสียกับผิวหน้าแล้วยังมีอันตรายกับอวัยวะภายในของผู้ใช้ หรือการที่ผู้บริโภคมีค่านิยมในการทำศัลยกรรมตกแต่งเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันสถานเสริมความงามหลายแห่งได้มีการนำสารที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมมาฉีด
เพื่อเสริมขนาดอวัยวะทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีความปลอดภัย จนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค บางรายถึงกับเสียชีวิต ซึ่งทาง อย.ได้รวบรวมหลักฐานส่งดำเนินคดีแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ในด้านการเฝ้าระวังปัญหาผลิตภัณฑ์ยา อย.พบปัญหาการลักลอบนำเข้ายารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศสูงมากขึ้นทั้ง 36 ด่านทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมียาลดความอ้วน วัคซีนไข้หวัดนก และสามารถจับกุมผู้ลักลอบขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ จับกุมผู้ครอบครองหรือขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและวัตถุเสพติดโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวนทั้งสิ้น 221 ราย รวมมูลค่าผลิตภัณฑ์สูงถึง 84 ล้านบาท ก่อนที่จะได้มีการนำผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมาเผาทำลาย เพื่อรณรงค์ประชาชนในการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น
"ปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากการใช้มาตรการทางกฎหมายแล้ว อย.ยังคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จึงได้จัดทำโครงการพิเศษ อย่างความปลอดภัยด้านเครื่องสำอาง เพื่อลดการแพร่ระบาดของเครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้ โครงการร้านยาคุณภาพช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้ยา และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาของประชาชนที่มีฐานะยากจน โดยการเจรจาต่อรองราคายาจำเป็นที่มีสิทธิบัตร เพื่อช่วยให้ราคายาถูกลง" นพ.ศิริวัฒน์กล่าว
ด้านนายสาทิศ ตรีสัตยาเวทย์ ผู้อำนวยการองค์การอาหารและยา กล่าวถึงการจับกุมผลิตภัณฑ์ยาลักลอบนำเข้า พบว่า
ระยะหลังสถิติจับกุมสูงขึ้นมาก โดยผู้ลักลอบนำเข้าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ ยาดังกล่าวมักจะเป็นยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ ทั้ง ไวอะกร้า, แมลงวันสเปน และอวัยวะเพศเทียม จากการตรวจสอบเป็นยาและผลิตภัณฑ์เลียนแบบ จับกุมได้มากที่สนามบินสุวรรณภูมิ และด่านเชียงแสน จ.เชียงราย ผู้ต้องหามักเป็นชาวจีน, อินเดีย และปากีสถาน
"ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศที่กำลังถูกลักลอบเข้ามาเยอะมาก ก็คือยา Cialis เป็นตัวยาไวอะกร้าตัวใหม่ และกำลังได้รับความนิยม ที่อันตรายก็คือ จากการตรวจสอบเป็นของเลียนแบบมีตัวยาน้อยกว่าของจริง นอกนั้นเป็นสารผสมอื่นๆ ที่เป็นตัวอันตรายมีผลต่อร่างกายคน" นายสาทิศระบุ.