คดีตัวอย่างวงการแพทย์ไทย ศาลทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช พิพากษาจำคุกแพทย์หญิงร.พ.ร่อนพิบูลย์
หลังฉีดยาชาให้สาวใหญ่เพื่อผ่าตัดไส้ติ่ง แต่ให้ยามากเกินไปช็อกตายคาเข็ม เป็นคดีอื้อฉาวเมื่อ 5 ปีก่อน ลูกสาวคนตายร่วมกับอัยการจังหวัดฟ้องกราวรูดทั้งผอ.ร.พ. และแพทย์หญิงเจ้าของไข้ ก่อนศาลพิพากษาว่าแพทย์หญิงผิดจริง เพราะกระทำการโดยประมาท ตัดสินจำคุก 3 ปี ส่วนผอ.ร.พ.รอดตะรางหวุดหวิด แพทย์หญิงประกันตัวออกไปสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์ ลูกสาวคนตายเตรียมฟ้องศาลแพ่งเรียกชดเชยค่าเสียหาย เผยก่อนหน้านี้สธ.จังหวัดสรุปแพทย์หญิงไม่มีความผิด ขณะที่แพทยสภายังสอบไปไม่ถึงไหน แถมบอกให้ลูกสาวคนตายมายื่นเรื่องใหม่
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ศาลจังหวัดทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มีคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดทุ่งสง
เป็นโจทก์ร่วมกับ น.ส.ศิริมาศ แก้วคงจันทร์ อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 54 หมู่ 5 ต.หินตก อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ลูกสาวของ นางสมควร แก้วคงจันทร์ อายุ 49 ปี ผู้ตายโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องในคดีอาญา น.พ.พีระ คงทอง ผอ.ร.พ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เป็นจำเลยที่ 1 และพ.ญ.สุทธิพร ไกรมาก แพทย์ประจำ ร.พ.ร่อนพิบูลย์ เป็นจำเลยที่ 2 เนื่องจากผ่าตัดไส้ติ่งนางสมควร ด้วยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง โดยประมาทเลินเล่อ เพราะไม่เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และยาแก้ไขภาวะแทรกซ้อน ทำให้ผู้ตายหยุดหายใจ สมองขาดเลือด และออกซิเจน จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 5 มิ.ย.2545
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิพากษาคดีนี้ มีญาติของผู้เสียชีวิตและประชาชนสนใจร่วมฟังกันเป็นจำนวนมาก
โดยศาลมีคำพิพากษาสรุปว่า เนื่องจากการที่จำเลยที่ 2 คือ พ.ญ.สุทธิพร ไกรมาก เป็นแพทย์ผู้ฉีดยาระงับความเจ็บปวดเข้าไขสันหลังของนางสมควร ผู้ตาย จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวัง ทั้งวิสัยและพฤติการณ์เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านการแพทย์ที่ได้เรียนมา จักต้องฉีดยาเข้าไขสันหลังในจำนวนปริมาณที่เหมาะสม ในระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 น.พ.พีระ คงทอง ผ่าตัดไส้ติ่งให้สำเร็จ
คดีตัวอย่าง-จำคุก หมอหญิง ฉีดยาชา-คนไข้ตาย
คำพิพากษาระบุว่า จำเลยที่ 2 อาจใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ โดยพฤติการณ์และวิชาชีพ
แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 อาจกระทำได้ แต่จำเลยที่ 2 หาได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอไม่ จำเลยที่ 2 ฉีดยาชาเข้าทางไขสันหลังของนางสมควร โดยมิได้ควบคุมปริมาณของยา ให้เพียงพอกับการที่จะผ่าตัด จำเลยที่ 2 ฉีดยาระงับความเจ็บปวดในปริมาณที่ไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้ยาชาออกฤทธิ์ลุกลามไปทั้งตัวของนางสมควร จนเกิดอาการช็อกหัวใจหยุดเต้นทันที ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวขาดอากาศหายใจ เป็นเหตุให้นางสมควรถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้นางสมควรถึงแก่ความตาย พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามฟ้องดังได้วินิจฉัยมาแล้วก่อนหน้านี้ จึงยกฟ้องจำเลยที่ 1 และพิพากษาให้ จำเลยที่ 2 มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 3 ปี
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า
เดินทางไปฟังคำพิพากษาของศาลจังหวัดทุ่งสง พร้อมกับน.ส.ศิริมาศ ลูกของนางสมควร ผู้ตาย ซึ่งเป็นโจทก์ร่วม ภายหลังศาลพิพากษา น.ส.ศิริมาศ ร้องขอต่อศาลว่า ไม่อยากให้ใส่กุญแจมือและขังพ.ญ.สุทธิพร ที่ถูกตัดสินจำคุก ศาลก็กรุณาและให้ประกันตัวออกไปสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และทางน.ส.ศิริมาศ จะไปยื่นฟ้องต่อในคดีแพ่ง สำหรับคดีดังกล่าว ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สรุปผลการสอบสวนปรากฏว่าหมอไม่มีความผิด
ด้านน.พ.อำนาจ กุสลานันท์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า
กรณีที่มีการฟ้องร้องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการจริยธรรมของแพทยสภา มีจำนวนมาก จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า คดีนี้ตัดสินไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของน.พ.พีระ คงทอง คดีไม่มีมูล ถือว่าไม่มีความผิด แต่ไม่มั่นใจในส่วนของพ.ญ.สุทธิพร ซึ่งเป็นผู้กระทำการรักษาร่วม ได้มีการพิจารณาร่วมด้วยหรือไม่ และมีเนื้อหาที่ร้องเรียนมาอย่างไรบ้าง ขณะนี้จึงปรึกษาพิจารณาอยู่ว่าเป็นการร้องเรียนในครั้งเดียวกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากผู้เสียหายจะมาร้องเรียนต่อแพทยสภาใหม่อีกครั้ง ก็สามารถกระทำได้