เวียดนามเซ็นซื้ออีก 12 ลำโบอิ้ง 7E7-8
ผู้จัดการรายวัน-- ทางการเวียดนามกับบริษัทโบอิ้งจำกัด (Boeing Co) ผู้ผลิตเครื่องบินค่ายสหรัฐฯ ได้เซ็นสัญญาซื้อขายเครื่องบินโดยสารรุ่นใหม่ล่าสุดโบอิ้ง 7E7-8 "ดรีมลายเนอร์" (Dreamliner) จำนวน 12 ลำ โดยแบ่งออกเป็น 2 ลอต ขณะเดียวกันก็เตรียมเซ็นซื้อจากค่ายแอร์บัสอีกรวม 30 ลำ ธ.ค.นี้
สายการบินเวียดนามซื้อเองจำนวน 4 ลำ และ บริษัท Vietnam Aricarft Leasing Co หรือ VALC ซื้ออีก 8 ลำ บริษัทเครื่องบินให้เช่านี้เพิ่งจะจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยมีสายการบินแห่งชาติเวียดนามถือหุ้นใหญ่ โดยมีจัดประสงค์ซื้อเครื่องบินให้บริษัทแม่เช่า พร้อมธุรกิจ-บริการอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
VALC กล่าวว่า เครื่องบินทั้ง 8 ลำที่เพิ่งจะเซ็นสัญญาซื้อไปนี้จะส่งมอบได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 เป็นต้นไป รวมเป็นมูลค่า 1,4500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นประมาณ 2,100 ล้านดอลลาร์เมื่อรวมทั้งหมด 12 ลำที่สั่งซื้อในคราวเดียวกัน
ส่วนสายการบินเวียดนามกล่าวว่า เครื่องโบอิ้ง 7E7 หรือ "787" อีกจำนวน 4 ลำ ที่สั่งซื้อก่อนหน้านี้จะส่งมอบได้ในปลายปี 2552 เวียดนามแอร์ไลนส์มีแผนจะสั่งซื้อเครื่องบินโดยสารแบบนี้รวมทั้งสิ้น 20 ลำในปี 2558 และเพิ่มเป็น 28 ลำในปี 2563 ซึ่งจะเป็นปีสุดท้ายในแผนพัฒนายกระดับสายการบินแห่งชาติ
"เครื่องบินโบอิ้ง 787 จะทำให้การบินเวียดนามมีสามารถตอบสนองความเรียกร้องต้องการของตลาดได้ในด้านเครื่องบินรวมทั้งความจำเป็นในการขยายตัว ซึ่งรวมถึงการบินเชื่อมปลายทางในอเมริกาเหนือ ยุโรปและในเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย" การบินเวียดนามกล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งเมื่อวันศุกร์
ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายไม่เชื่อว่าสายการบินที่ยังอ่อนเยาว์อย่างเวียดนามแอร์ไลน์ส จะมีความสามารถซื้อเครื่องบินโดยสารฝูงใหญ่ขนาดนี้ได้ แต่การก่อตั้งบริษัท VALC ขึ้นมานั้นทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น
มีข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานแล้ว แต่เพิ่งจะมีการเปิดตัวบริษัท VALC อย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยมีเวียดนามแอร์ไลนส์ บริษัทวินาชินธุรกิจ (Vinashin Business Group) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเป็นแกนในบริษัทร่วมทุน
หุ้นส่วนอีก 3 รายคือ กลุ่มปิโตรเวียดนาม (PetroVietnam) หรือ Vietnam National Oil and Gas Group ธนาคารเพื่อการพัฒนาและการลงทุนแห่งเวียดนาม (Bank of Investment and Development of Vietnam) หรือ BIDV และ บริษัทฟงฝู (Phong Phu Corp) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเวียดนามล้วนๆ
ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dng) ไปเยือนสหรัฐฯ เพื่อร่วมการประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติซึ่งมีการเจรจาเรื่องซื้อเครื่องบินกับบริษัทโบอิ้ง และ ต่อไปเยือนยุโรปอย่างเป็นทางการซึงนำไปสู่การทำความตกลงซื้อจากค่ายแอร์บัส
ทางการเวียดนามได้ตกลงในหลักการที่จะซื้อแอร์บัส A-350-900XWB ซึ่งเป็นรุ่นลำตัวกว้างพิเศษจำนวน 10 ลำ กับ A321 อีกจำนวน 20 ลำ สองฝ่ายได้ตกลงจะเซ็นสัญญาซื้อขายสุดท้ายกันภายในวันที่ 21 ธ.ค.ศกนี้ สื่อของทางการเวียดนามกล่าว
ตามรายงานบนเว็บไซต์ของเวียดนามแอร์ไลนส์ ธุรกิจของสายการบินแห่งนี้ขยายตัวเฉลี่ย 11.7% ต่อปีในช่วงปีใกล้ๆ นี้ บริการกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งเที่ยวบินในประเทศและต่างประเทศ
อุตสาหกรรมและบริการท่องเที่ยวของประเทศก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วคู่ขนานกันไป
องค์การบริหารการท่องเที่ยวเวียดนามแถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จะเกินเป้าหมาย 4 ล้านคน ส่วนชาวเวียดนามที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศก็มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเกินเป้าหมายเช่นเดียวกัน
เวียดนามที่มีประชากร 84-85 ล้านคน มีเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในอัตราเฉลี่ยกว่า 8% ต่อปีในช่วงปีใกล้ๆ นี้ และ สายการการบินต้นทุนต่ำในเอเชียกำลังแห่งแหนบินเข้าสู่กรุงฮานอย
นักวิเคราะห์กล่าวว่าอุตสาหกรรมและธุรกิจการบินในเวียดนามอาจจะขยายตัวได้ถึงปีละ 14% ภายในปี 2556 อันเป็นปีที่เวียดนามหวังว่าสายการบินแห่งชาติจะผงาดขึ้นติดใน 3 อันดับแรกในภูมิภาคทั้งด้านบริการ มาตรฐานการบินและเครื่องบินที่ใช้
ในปีนั้นในเวียดนามอาจจะมีสายการบินพาณิชย์ถึง 10 สาย รวมทั้งพวกสายการบินประเภทต้นทุนต่ำต่างๆ สำหรับสายการบินเวียดนามมีแผนจะเข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ในเร็วๆ นี้
"ภาคการบินของประเทศจะต้องพัฒนาต่อไปเพื่อสนองบริการพื้นฐานให้แก่การเติบโตทางเศรษฐกิจ" นายหว่างจุงหาย (Hoang Trung Hai) รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าว
ในปัจจุบันเวียดนามแอร์ไลนส์เปิดบินเชื่อม 26 ปลายทางใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกและยุโรป และมีแผนจะเปิดบินไปยังนครลอสแอนเจลีสในปลายปี 2551 ซึ่งจะเป็นการบินไปยังสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี
นายฝ่ามหง็อกมิง (Pham Ngoc Minh) ประธานบริษัท VALC กล่าวว่า เศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราสูงทำให้บริษัทมีแผนจะจัดหาเครื่องบินโดยสารจำนวนมากกว่านี้เพื่อสนองอุตสาหกรรมการบินในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ สายการบินแห่งชาติ
ปัจจุบันเวียดนามแอร์ไลนส์มีเครื่องบินใช้งานเพียง 46 ลำ ตามแผนพัฒนาที่ประกาศเมื่อปีที่แล้ว สายการบินแห่งชาติจะมีเครื่องบิน 86 ลำในปี 2558 และเป็น 110 ลำหรือกว่านั้น ในปี 2563
ไม่เพียงแต่ให้บริการการบิน เท่านั้น บริษัท VALC ยังมีโครงการขยายการให้บริการด้านเครื่องบินเช่าเหมาลำ การบริหารท่าอากาศยาน บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน รวมทั้งบริการประกันภัยสำหรับอากาศยานด้วย
เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) อย่างสมบูรณ์ในเดือน ม.ค.ปีนี้ และ การบินเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์จะต้องเปิดให้ต่างชาติสามารถเข้าไปแข่งขันได้
เมื่อต้นปีนี้สายการบินแปซิฟิกแอร์ไลนส์ (Pacific Airlines) ที่บริษัทของรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ ได้จำหน่ายหุ้น 30% ให้แก่สายการบินแควนตัส (Qantas) จากออสเตรเลีย เพื่อพัฒนาให้สายการบินแห่งนี้บริการแบบต้นทุนต่ำ
เวียดนามได้อนุญาตให้แควนตัสนำบริษัทสายการบินลูกคือ เจ็ทสตาร์ (JetStar) เข้าไปร่วมให้บริการกับแปซิฟิกแอร์ไลนส์ได้ ซึ่งคาดว่าจะมีการแถลงในรายละเอียดอีกไม่นานนี้
อย่างไรก็ตามในปีนี้รัฐบาลเวียดนามได้ปฏิเสธข้อเสนอของสายการบินแอร์เอเชีย (AirAsia) จากมาเลเซียที่จะเข้าไปจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำในเวียดนามและใช้นครโฮจิมินห์เป็นฐานการให้บริการ.